ปลัด มท. ปาฐกถาพิเศษ “บทบาทของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัด” เน้นย้ำ สังคมไทยต้องมีผู้นำและต้องบูรณาการร่วมมือกันในทุกมิติของชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยกัน Change for Good ให้โลกใบเดียวนี้คงอยู่อย่างยั่งยืน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10:00 น. ที่ห้องแคทลียา ชั้น 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัด” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดโดยมี นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นายกฤษณะ พินิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษทั้ง 16 ภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 200 คน ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญเพื่อเป็นแกนนำร่วมหัวจมท้ายกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผลักดันให้เกิดการ Change for Good สร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคน เพราะคนมหาดไทยมีแรงปรารถนา (Passion) ในการที่จะช่วยลดโลกร้อน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งมันจะยั่งยืนได้เราต้องมุ่งมั่นขับเคลื่อนในทุกบริบทของการทำงาน เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Win – Win ทั้งชีวิตความเป็นอยู่และสภาวะแวดล้อม เพราะพี่น้องประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งการแปรปรวนของสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่ท้าทายพวกเราทุกคนในการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ทั้งนี้ “คนมหาดไทย” พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรที่ดีและเอาจริงเอาจังในการลดสภาวะโลกร้อน สร้างชีวิตของผู้คนให้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เพื่อให้โลกใบเดียวนี้ของเรามีอายุยืนยาว เป็นโลกที่สวยงาม และมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับลูกหลานไม่รู้อีกกี่ร้อยรุ่นของเราในอนาคตได้มีโลกใบที่สวยงามนี้อยู่อาศัย
“เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย มุ่ง Change for Good ทำให้โลกใบเดียวของทุกคนมีอายุยืนยาวตราบนานเท่านาน ด้วยแนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”” และแม้ว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่านจะเกษียณอายุราชการหรือโยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดอื่นแล้ว แต่ “คำมั่นสัญญานั้นเป็นพันธะของตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด” ไม่ว่าท่านใดจะมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดใด ท่านเหล่านั้นก็คือ “ผู้นำ” ในการขับเคลื่อนทุกงานในพื้นที่จังหวัดด้วยการบูรณาการทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน “ทุกท่านจึงอย่ารังเกียจกับการทำงานแบบบูรณาการ” ทั้งนี้ สังคมต้องมีผู้นำ ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอเป็นผู้นำในพื้นที่ เพราะระบบราชการกำหนดให้ทั้ง 76 จังหวัดมีเจ้าเมือง คือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” อำเภอทั้ง 878 อำเภอมี “นายอำเภอ” แม้ว่าจะเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย แต่หน้าที่ที่สำคัญที่สุด คือ การเป็นผู้นำของข้าราชการในการขับเคลื่อนงานนโยบายของรัฐบาลในระดับพื้นที่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีในพื้นที่จังหวัด ท่าน ทสจ. คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัด ดังนั้น หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของการทำหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชา คือ “การทำให้ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งที่ดีที่เราอยากให้เกิดขึ้น” ด้วยการที่พวกเราต้องหมั่นขวนขวาย ค้นคว้า ศึกษา เรื่องที่เรากำลังทำให้เข้าใจถ่องแท้ แล้วป้อนสิ่งที่ดี แนวคิดที่ดีให้ผู้นำ เพื่อผู้นำจะได้ Delivery (ส่งผ่าน) สั่งการผู้นำในระดับรองลงไป อันจะทำให้แนวคิดของเรานั้นได้ส่งไปถึงพี่น้องประชาชน และเกิดผลลัพธ์ทั้งเชิงคุณภาพควบคู่กับเชิงปริมาณเต็มทั้งพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยได้จับมือร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ “อบก.” ในด้านการบริหารจัดการขยะในครัวเรือนทั้งประเทศกว่า 25 ล้านตัน ซึ่ง 60-70% ของจำนวนดังกล่าวเป็นขยะเปียก โดยภายในเดือนธันวาคม 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,849 แห่ง จะรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมี “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ถังขยะใบเดียวมีฝาปิด ตัดก้นถัง ขุดหลุมเป็นรูปลิ่ม เพื่อให้ก้นหลุมลึกกว่าก้นถัง ประมาณครึ่งศอกถึง 1 ศอก ประจำครัวเรือน ซึ่งจากค่าเฉลี่ย ใน 1 วันคนจะผลิตขยะเปียก 0.6 กรัมจากเศษอาหาร เศษพืช เศษผัก เมื่อใส่รวมลงถังขยะเปียกลดโลกร้อนก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมัก หรือสารบำรุงดินตามกฎหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อรวมแล้วจะได้ปริมาณร่วมล้านตันคาร์บอนเครดิตต่อปี ทั้งนี้ อบก. ได้ทำการประเมินรับรองคาร์บอนเครดิตจากถังขยะเปียกลดโลกร้อนเรียบร้อยแล้ว ภายใต้ความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สำหรับในส่วนของบ้านที่ไม่มีพื้นที่ดิน ให้ใช้วิธีนำขยะเปียกรวมให้เทศบาลนำไปใส่ถังรวม ซึ่งขณะนี้การขับเคลื่อนคืบหน้าไปมากจนใกล้จะจำหน่ายคาร์บอนเครดิตได้ โดยไม่ได้ซีเรียสว่าจะได้เงินเท่าใด แต่ต้องเกิดมรรคผลเป็นรูปธรรมที่ส่งผลดีกับโลกจริง ๆ
“กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ในขณะนี้ งานที่ชาวมหาดไทยกำลังทำโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน คือ ให้นายอำเภอสร้าง “ทีมผู้นำการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยบูรณาการ 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อลดจุดอ่อนของข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการ โยกย้าย ในรูปแบบ “ทีมอำเภอ” “ทีมตำบล” ซึ่งเมื่อข้าราชการ ทั้งนายอำเภอ ปลัดอำเภอย้ายไปแล้ว สิ่งดี ๆ ที่ได้ร่วมกันคิด จะได้รับการสานต่อโดย “ทีมจิตอาสาเหล่านี้” นอกเหนือจากคนของระบบราชการ อันจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน รวมทั้งได้เชิญชวนให้ประชาชน เริ่มตั้งแต่เด็กที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 เพื่อร่วมมือกันดูแลครอบครัวให้รู้จักคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล และขยะพิษ รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในครอบครัว ชุมชน ตำบล และหมู่บ้าน ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ซึ่ง อปท. สามารถใช้งบประมาณอบรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด เพื่ออุดช่องว่างเสริมเติมเต็มในการขับเคลื่อนงานให้กับท่าน ทสจ. ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก สำหรับการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเรื่องนี้ No plan B because we have only one planet “เรามีเพียงแผนเดียวเท่านั้น คือ ทุกคนต้องช่วยกันทำให้สภาวะโลกร้อนลดลง และทำให้โลกสวยงาม เพราะมีโลกแค่เพียงใบเดียวเท่านั้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนงานด้านลดภาวะโลกร้อนเกิดผลที่เป็นจริงในชีวิตของพี่น้องประชาชน คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่าน “โครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง หรือ อารยเกษตร” เปรียบเสมือนการปฏิวัติสีเขียวครั้งใหญ่ที่ประชาชนจะอยู่รอดปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งภายในแปลงโคก หนอง นา จะมีการปลูกต้นไม้ 5 ระดับก็คือ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เป็นการผสมผสาน ที่เล็งเห็นถึงปัจจัย 4 ทั้งหมด เช่น มีไม้เพื่อใช้ทำที่อยู่อาศัย ไว้ใช้สอย ไว้ทำเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตร และการปลูกที่มีไว้ใช้สำหรับเป็นอาหารและยารักษาโรค รวมถึงมีส่วนที่ไว้ค้าขายผลิตผลทางเกษตร และอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ ทุกพื้นที่จะเป็นกสิกรรมธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง และไม่มีการเผาทำลายซากเศษใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เราจะเอาส่วนนั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดบริหารจัดการไม่ให้เหลือเป็นเศษขยะ รวมทั้งน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการปลูกผักสวนครัว ครบ 100% ทุกครัวเรือนภายในสิ้นปี 65 นี้ และน้อมนำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ให้เพิ่มมากที่สุด เพื่อทำให้เด็กมีความรู้ มีความรัก ความหวงแหนต้นไม้ และช่วยกันกระตุ้นปลุกเร้าให้ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้าไทย ผ้าอัตลักษณ์ทุกประเภททั่วประเทศ น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา งดใช้สีเคมีในการย้อมผ้า และหันมาผลิตวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตผ้า เช่น ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน และเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ที่สามารถนำไปใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าให้มากขึ้น เพื่อลดการเกิดของเสีย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังส่งผลดีต่อสุขภาพของคนย้อมผ้าและผู้สวมใส่ รวมถึงให้ทุกจังหวัดได้รณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้ชื่อ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ผู้ทอผ้าในทุกถิ่นที่ของประเทศไทย ที่เป็นเสาหลักในการดูแลสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทย เพราะผ้าทอไทยเกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่อยู่กับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ถิ่นต่าง ๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การย้อมผ้า และยังช่วยทำให้ลดอุณหภูมิห้องลงอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียสอีกด้วย
“สิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นได้อยู่ที่พวกเราทุกคนว่า เราต้องเชื่อ (Believe) ในสิ่งที่เราคิดควบคู่กับการทำในฐานะเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งผมมั่นใจว่า “พวกเราทุกคนมีความเชื่อมั่นว่าตำแหน่งหน้าที่ที่ทำอยู่ได้ทำบุญกับโลก กับเพื่อนมนุษย์ กับคนไทย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยต้องเติม Passion หรือแรงบันดาลใจเข้าไปว่า “ก่อนที่ฉันจะเกษียณอายุราชการหรือไปรับหน้าที่อื่น ฉันจะ Change for Good ให้เกิดขึ้น” ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีที่สุดต้องไปชวน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ให้ผนึกกำลังทุกภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนภารกิจ Change for Good ให้โลกของเราให้เต็มที่ เพื่อสุดท้ายปลายทาง คือ คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้รีบทำทันที เพื่อโลกใบเดียวของเราจะได้อยู่รอดปลอดภัยเป็นโลกที่สวยงามของลูกหลานเหลนเราตลอดไป ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
Leave a Reply