วันที่ 25 กันยายน 2564 พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กรมการพัฒนาชุมชน พระนักพัฒนาผู้ให้การสนับสนุนการพัฒนาแปลง โคก หนอง นา พช. “ชาววัง คลังยา และอาหาร” ตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ เชื่อมประสานภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ร่วมดำเนินกิจกรรมเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และพืชสมุนไพร โดยการเพาะขิง ปลูกข่า ปลูกตะไคร้ ปลูกฟ้าทะลายโจร เอาไว้แบ่งปัน ที่โคก หนอง นา วังอ้อ โมเดล และช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปัน เพื่อสร้างวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เกิดความมั่นคงทางอาหาร และขยายผลการศูนย์เรียนรู้พืชสมุนไพรต้านโควิด-19
โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ได้ให้ข้อมูลพื้นที่ พร้อมนำชมบริเวณรอบแปลง โคก หนอง นา พช. “ชาววัง คลังยา และอาหาร” ว่า “กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของชีวิต จากการเอาแฮงสามัคคี หรือเอามื้อสามัคคี ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม โดยมีพลัง “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขื่องใน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ตลอดจนผู้นำชุมชน และประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรมฯ ถึงแม้สายฝน จะโปรยปรายมาอย่างไม่ขาดสาย ตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา น้ำในหนองใหญ่ บางจุดลึก 8 เมตร บางจุดลึก 10 เมตร เป็นหนองน้ำที่ไม่เคยแห้ง แม้จะแล้งแบบวิกฤตและเคยตั้งปั๊มสูบน้ำช่วงเดือน พฤศจิกายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา 3 จุด ซึ่งน้ำลดลงประมาณ 2 เมตร บวกกับการระเหยของน้ำในแต่ละวัน จึงพูดได้เต็มปากว่า “โคก หนอง นา แก้แล้งได้จริง ไม่ใช่วาทกรรม แต่หากคือรูปธรรม ตามบริบทภูมิสังคม”
พระพิพัฒน์วชิโรภาส ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับ โคก หนอง นา นั้นนำมาซึ่งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ขออนุโมทนา ต่อท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล (อาจารย์โก้) รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ (อาจารย์หน่า) รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายอำเภอเขื่องใน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขื่องใน และ Earthsafe ที่สนับสนุนโคก หนอง นา ขั้นก้าวหน้า ปี 2564 ให้กับ ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดให้ ดิน น้ำ ป่า ระบบนิเวศ คลังยา อาหาร อุดมสมบูรณ์
“เมื่อปรับพื้นที่เสร็จพายุเข้า ฝนมา น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ กลางคืนเดินไหน ได้ยินแต่เสียงกบ เขียด อึ่งอ่าง ร้องระงม ชมฟ้า ชมฝน ซึ่งสัตว์น้อยใหญ่ เข้ามาอาศัยร่มเงาพระพุทธศาสนา ภายในศูนย์ฯ เป็นเขตอภัยทาน ปีหนึ่งอึ่งอ่างขยายพันธ์ได้หลายแสนตัว ส่วนหนึ่งพอแข็งแรง ปลายฝนก็จะหนีเข้าป่าดงใหญ่ พอฝนตกลงมาก็จะออกจากป่าลงมา ศูนย์ฯ ถิ่นเคยกำเนิดตามสัญชาติญาณ ตัวไหนมักเที่ยวตามถนน ข้างนอกเขตศูนย์ฯ คนก็จะเก็บไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะรอด”
ขณะที่ นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน ได้เปิดเผยว่า “ขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาจากเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ป่าดงใหญ่วังอ้อ และความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและภาคีเครือข่ายบ้านวังอ้อ ซึ่งเป็นผู้มีจิตอาสาและเป็นกุศล ตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ในการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงช่วยเหลือเกื้อกูลและแบ่งปันให้แก่คนในพื้นที่ โดนส่วนตัวนับว่าน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก เหมาะสมแล้วที่ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้ยกย่องให้เป็นต้นแบบในการดำเนินงานและเห็นผลทั่วประเทศ ในส่วนของแผนงานในอนาคตสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขื่องใน พร้อมที่จะร่วมมือและประสานภาคีเครือข่าย ทั้งในด้านองค์ความรู้ด้านวิชาการ การถ่ายทอดแก่ผู้มาเรียนรู้ และต่อยอดในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ร่วมกับหน่วยงานราชการ ประชาชนจิตอาสา และขยายผลกิจกรรมให้มีความต่อเนื่องในระยะยาวต่อไป”
Leave a Reply