ปลัดมหาดไทย บรรยายพิเศษ “ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” ด้าน “ฐาปน” เผย 8 ปีสร้างรายได้สู่ชุมชนกว่า 2,100 ล้านบาท

วันนี้ (1 ต.ค. 66) เวลา 14.30 น. ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษ “ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” ในงานสัมมนาประจำปีคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยมี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัฐ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด 76 จังหวัด คณะที่ปรึกษาและประธานกรรมการเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน ที่เห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนและประเทศชาติในส่วนรวมของพวกเรา รวมไปถึงมวลมนุษยชาติของโลกใบนี้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่เป็นผู้นำในภาคเอกชนทำงานร่วมกับพี่น้องข้าราชการและประชาชน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ในการที่จะยื่นมือที่แข็งแรงเข้าไปช่วยเหลือ “ผู้ที่แข็งแรงน้อยกว่า” ให้มีโอกาสที่ดีในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งยังลงมือช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นับเป็นความโชคดีของพี่น้องชาวมหาดไทยทุกท่าน เพราะพวกเรามีเป้าหมายและภารกิจหน้าที่สำคัญในการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้พี่น้องประชาชนใน 878 อำเภอ 7,255 ตำบล กว่า 66 ล้านคน ด้วยการเป็น Partnership ในการให้การบริการที่ดี รวมถึงการ “เป็นคุณพ่อหรือพี่เลี้ยงที่ดี” เพื่อให้ภาคีเครือข่ายและองคาพยพได้บรรลุไปสู่เป้าหมายสนับสนุนเกื้อกูลดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

“บริษัทประชารัฐรักสามัคคี ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ของสหประชาชาติ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชน “ผู้แข็งแรงน้อยกว่า” ได้มีโอกาสที่ดีในชีวิต เริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มเป็นกลุ่ม OTOP กลุ่มศิลปาชีพ กลุ่มเกษตรกร ซึ่งเหล่านี้มีจุดอ่อน คือ ความรู้ความสามารถในการยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพราะเราเคยชินกับสิ่งที่บรรพบุรุษมอบให้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันอุดช่องว่าง กำจัดจุดอ่อน โดยร่วมกันเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญในการทำธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่ดีจากการประกอบอาชีพ เริ่มตั้งแต่การพัฒนากระบวนการผลิต ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ การตลาด เป็นต้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่พวกเราพยายามขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อนำไปสู่ SDGs ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับพี่น้องประชาชน เกี่ยวกับปากท้อง ที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางอาหาร ความเท่าเทียม และความเสมอภาค รวมถึงความต้องการพื้นฐานของพี่น้องประชาชน (Basic Needs) หรือปัจจัย 4 จึงขอให้ทุกคนในที่นี้ได้ช่วยกันคิดไตร่ตรองว่า บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจะเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมี “พัฒนาการจังหวัด” ทำหน้าที่ในฐานะกลไกในการขับเคลื่อนให้ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคประชาสังคม ไปสนับสนุนให้เกิดสิ่งที่ดีกับพี่น้องประชาชนตามเป้าหมาย Social Enterprise เช่นเดียวกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี

“ทางแยกแห่งความสำเร็จหรือความล้มเหลว ประการแรก คือ “หัวใจ” เราต้องทุ่มเทเอาใจใส่ ช่วยกันกระตุ้น ผลักดันขับเคลื่อนให้บริษัทประชารัฐรักสามัคคี เป็นไปด้วยดี จึงขอให้พัฒนาการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้รายงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้รับรู้รับทราบแนวทางในการสัมมนาในวันนี้ว่า ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และคณะทำงานฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปคลุกคลี ดูแลผลักดันขับเคลื่อนบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ให้มีการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งและมีสุขภาพที่ดี โดยมีทุกท่านเป็นกลไกสำคัญ เป็น Partnership ที่ต้องช่วยกันเติมเต็ม ลบจุดอ่อนของพี่น้องประชาชนคนไทย โดยเฉพาะเกษตรกร ประการที่ 2 ช่วยกันสนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในงานหัตถกรรมไทยหรืองานผ้าไทยที่มีคุณค่ายิ่ง ที่ต้องอาศัยการพัฒนา การรักษา และการต่อยอดผลิตภัณฑ์ ประการที่ 3 คือ ต้องช่วยกันทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนที่ดี คือการปรับเปลี่ยนวิธีการ ทำอย่างไรก็ตามที่ทำให้บริษัทประชารัฐรักสามัคคีลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ไม่ขาดทุนเพิ่ม และประการสุดท้ายคือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นพระราชปณิธานสูงสุดอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านทรงอยากเห็นประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุข ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เราต้องช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ผิด โดยการสำรวจตรวจตราสิ่งที่เป็นอยู่และผิดพลาดแล้วแก้ไขให้ดีขึ้น ช่วยกันหาจุดที่ผิดพลาด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปช่วยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่สำคัญคือ “ผู้นำ” หากเรามีผู้นำที่เข้มแข็ง เราก็จะสามารถช่วยทำให้ “ผู้ตาม” มีความเข้มแข็งตามไปด้วย ผู้นำจึงต้องทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำเอาหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มีความรู้คู่คุณธรรม มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่เดือดร้อน และต้องแก้ไขในสิ่งผิด ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า หลักอริยสัจ 4 “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ปรับแนวคิด เอาบริบทของชีวิต ของครอบครัวที่บ้านหรือที่ทำงานมาประยุกต์ใช้วางแผนธุรกิจใหม่ เพื่อนำไปสู่การลดรายจ่าย สร้างรายได้ อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ สร้างความมั่นคงทางอาหาร เราต้องช่วยกันสร้างระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เปลี่ยนจากขยะให้มีมูลค่า ลดการปลดปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งเสริมการรับรองและขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้อยู่ที่ “หัวใจ” ของพวกเราทุกคน เราทำคนเดียวไม่สำเร็จ ต้องมีภาคีเครือข่าย และมีจิตอาสา พร้อมทั้งนำเอาองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ ทั้งนี้ พวกเราชาวมหาดไทยจะเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ที่ดีของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน พลิกฟื้นแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อให้พวกเราได้มีบริษัทประชารัฐรักสามัคคีที่มั่นคง ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 พวกเราได้มีโอกาสในการร่วมมือร่วมใจในการจัดตั้งคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 8 ปี ที่เราได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม รวมไปถึงภาคประชาชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นกรอบแนวคิดหลักในการดำเนินการ รวมถึงน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎรตลอดไป” ตลอดจนหลักการทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งการจัดตั้งคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศได้พัฒนาผ่าน 5 กระบวนการ ได้แก่ 1) ปัจจัยการผลิต 2) การสร้างองค์ความรู้ 3) การตลาด 4) การสื่อสารสร้างการรับรู้ และ 5) การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน โดยในวันนี้เราอยู่ในงาน SX (Sustainable Expo) ซึ่งเป็นงานที่มุ่งเน้นการจัดการเพื่อความยั่งยืน ที่ทุกคนจะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อให้การดำเนินไปสู่ SDGs ด้วยความรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องมีการปรับตัวในการเรียนรู้และพัฒนาการให้มีความพร้อมและรวดเร็ว ด้วยการ “ประชาชนลงมือทำ เอกชนช่วยขับเคลื่อน รัฐบาลสนับสนุน” เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการแข่งขัน ปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงขยายเครือข่ายในการเชื่อมโยงการตลาดให้ต่อเนื่องกัน ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์และนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราดำเนินการขับเคลื่อนไปแล้วกว่า 1,500 โครงการ มีสมาชิกกว่า 100,000 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ 2,100 ล้านบาท ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งเน้นในการเสริมสร้างให้ประชาชนให้พึ่งพาตนเองและจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงหลักการทำงานแบบ Change for Good สร้างสิ่งที่ดี น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ไปกับการดำเนินการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในชุมชนอย่างยั่งยืน” นายฐาปนฯ กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply