เรื่องเล่า..บวชสามเณรภาคฤดูร้อน ถอดบทเรียนจากหนังสือ “ทศชาติ”

การบวชเณรภาคฤดูร้อนในช่วงปิดเทอมเมษายนปีนี้กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากเงียบเหงาไปหลายปี  มีการรณรงค์ให้มีการบวชเณรภาคฤดูร้อนทั้งคณะสงฆ์และภาครัฐ

ดร.ประสิทธิ์ แก้วศรี ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เล่าว่า บวชเณรภาคฤดูร้อนปีนี้  ได้ทดลอง ประยุกต์ เรื่อง ทศชาติชาดก มาทำกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับสามเณร ใน 3 โครงการ คือ

     1 วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต กรุงเทพ สามเณร 29 รูป  วันที่  5 เมษายน  2567

     2 สำนักปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมาราม สระแก้ว สามเณร 129 รูป มีนิสิต ป. โท มจร ไปร่วมด้วย วันที่ 8 เมษายน 2567

     3 วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ศรีสะเกษ สามเณร 56 รูป   วันที่ 17 เมษายน  2567

ซึ่งเป็นการต่อยอดจากหนังสือ เรื่อง ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง  เพราะทางโครงการได้สะท้อนมาว่า ได้เชิญวิทยากรภายนอกมาให้ความรู้สามเณร แต่ส่วนใหญ่ก็จะสอนเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  จึงต้องการกิจกรรม หรือเนื้อหาที่สอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา  จึงพิจารณาเห็นว่า เรื่องทศชาติเป็นเนื้อหาที่ดี ควรให้สามเณรได้เรียนรู้ แต่จะชวนอ่านหรือสอนไปเลยก็จะดูไม่น่าสนใจ จึงนำมาสู่การออกแบบกิจกรรม ปรับกระบวนการให้สอดคล้องกับวัยของสามเณรให้มากที่สุด   กระบวนการที่ใช้ คือ

 

สุตตมยปัญญา  = สามเณรอ่านข้อมูลจากเอกสารที่กำหนดให้เพื่อนฟัง

จินตามยปัญญา= สามเณรช่วยกันวิเคราะห์ลักษณะนิสัย หรือแนวทางปฏิบัติที่ดีจากตัวละครในเนื้อหา

ภาวนามยปัญญา = สามเณรช่วยกันสังเคราะห์สรุป และสร้างผลงานเพื่อนำเสนอ

ว่าง่าย ๆ คือ สามเณรอ่านเอง  วิเคราะห์เอง  สรุปเอง สร้างสรรค์เอง และนำเสนอเอง  วิทยากรเสริมพลังด้วยการชื่นชม และเสริมเน้นในบางจุดพร้อมทั้งสรุปเพิ่มเติม

สิ่งที่ได้ สามเณรได้เรียนรู้ เรื่อง ทศชาติชาดก แม้จะไม่ได้ลงลึกในราวละเอียดมากนัก แต่ก็ทำให้สามเณรรู้จักทศชาติมากขึ้น  ซึ่งสามเณรส่วนใหญ่รู้จัก พระมหาชนกกันอยู่แล้ว  แต่อาจจะไม่รู้ว่าเป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สามเณรได้ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม ได้อ่านสรุปความและคิดสร้างสรรค์ ทำแผ่นนำเสนอ แม้ว่าเนื้อหาจะยาก แต่ทุกรูปก็ทำออกมาได้ดี  สามเณรสนุกกับการทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ และฝึกการกล้าแสดงออก ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สามเณรภาคฤดูร้อนที่บวชระยะสั้น ได้มีโอกาสเรียนรู้พระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น และอาจจะได้แรงบันดาลใจจากเนื้อหาที่ตนเองได้ศึกษานำไปปรับใช้ในชีวิตต่อไปเมื่อลาสิกขาแล้ว สิ่งที่จะต้องปรับปรุง

– เนื้อหาเอกสาร ควรปรับให้เหมาะสมกับวัยของสามเณร เรียบเรียงให้ง่ายขึ้น

– ควรมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม ถ้าเป็นสามเณรอายุน้อยเกินไป จะช่วยให้สามเณรทำงานได้กระชับขึ้น

– พระอาจารย์สามารถต่อยอด นำไปสู่การอธิบายและพาสวด บารมี 30 ทัศ ได้  จะทำให้สามเณรจด จำได้ดีขึ้น และเข้าใจบทสวดได้เพิ่มขึ้น

สรุปได้ว่า

 เรื่องทศชาติ มีเนื้อหาที่ดีและน่าสนใจ สามารถที่จะนำมาปรับสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับสามเณรและเยาวชน ได้  และเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้พุทธศาสนา ผ่านกิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้อันเหมาะสมกับวัย เนื้อหายาก ๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ จึงเห็นควรเสนอให้โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนหรือโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเยาวชนได้นำเนื้อหาจากเรื่อง ทศชาติชาดก  เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาประจำหลักสูตรของโครงการต่อไป

Leave a Reply