ส.ส.เป็นนักการเมืองแล้วส.ว.เป็นนักการเมืองหรือไม่ ?

  ผู้เขียน : บุญเลิศ ช้างใหญ่   

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำ “นักการเมือง”

ไว้ว่า

เป็นคำนาม หมายถึง ผู้ฝักใฝ่ในทางการเมือง ผู้ที่ทําหน้าที่ทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี   สมาชิกรัฐสภา

ความจริง นักการเมืองมิได้มีแค่เฉพาะ    สมาชิกรัฐสภาอันประกอบด้วยสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ซึ่งเป็นการเมืองระดับชาติ หากยังรวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น

ผู้คนเข้าใจตรงกันว่า เมื่อเอ่ยถึงนักการเมืองต้องหมายถึง ส.ส. เพราะมาจากการเลือก ตั้งของประชาชน การจะได้รับการเลือกตั้งเพื่อให้ได้เป็นส.ส. พรรคการเมืองจะเฟ้นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาให้ประชาชนเลือก  ผู้สมัครก็ต้องมาหาเสียง เสนอนโยบาย แนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ เมื่อได้เป็นส.ส.แล้วก็ยังต้องแวะเวียนมาหาชาวบ้าน

ส.ส.กับคณะรัฐมนตรีก็จะเกี่ยวพันกัน เพราะส.ส.ไปจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

ทั้งส.ส.และคณะรัฐมนตรีจึงได้ชื่อเป็นนักการเมืองโดยแท้

แต่สำหรับ ส.ว. นั้นดูเหมือนว่า ความเข้าใจของคนในสังคมจะแตกต่างกันไป

ที่มาของส.ว.ก็ขึ้นกับรัฐธรรมนูญจะบัญญัติอย่างไร

เคยมี ส.ว.อยู่ยุคสมัยหนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติ   ให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัดต่างๆ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติให้มาจากเลือกกันเองของผู้สมัครตามกลุ่มอาชีพและตามวิธีการสมัครตั้งแต่ในระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ คัดไว้ 200 คน

และการเฟ้นหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมโดยคณะกรรมการคัดเลือก ไม่เกิน 400 คน

จากนั้นเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เลือก รวมมี ส.ว. ทั้งสิ้น 250 คน

ไม่ว่าที่มาของ ส.ว.จะเป็นแบบใด ความเป็นสมาชิกรัฐสภาดังความหมายที่กล่าวไว้

แต่ต้น ก็ถือว่า ส.ว.คือนักการเมือง

มาดูบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข

ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

           มาตรา 114 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชาวไทย 

บทบัญญัติทั้ง 2 มาตรา แสดงให้เห็นว่า ส.ว.มีสถานะเช่นเดียวกันกับ ส.ส.

ความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  ทำให้ส.ส.และส.ว.ต้องรับผิดชอบต่อทุกข์สุขของประชาชน

การปฏิบัติหน้าที่ทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภาต้องเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและเพื่อความผาสุกของประชาชน

ที่สำคัญ ทั้งส.ส.และส.ว. ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประกอบกันเข้าเป็นรัฐสภา พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงใช้อำนาจอธิปไตยไม่เพียงแต่รัฐสภา หากรวมถึงคณะรัฐมนตรีและศาลอีกด้วย

นี่คือ สิ่งที่ส.ส.และส.ว.ต้องตระหนักในฐานะของความเป็นนักการเมืองใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ ในการออกกฏหมาย ควบคุมรัฐบาล และการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่จะไม่ประพฤติตนให้เบี่ยงเบนไปจากครรลองที่ควรจะเป็นไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการกระทำใดๆ

 

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

 

Leave a Reply