เฉลิมฉลองประวัติศาสตร์เสรีภาพทางศาสนาร่วมกัน

ดย.. เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี

                ในฐานะอเมริกันชนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ต่างแดนและสร้างครอบครัวในต่างประเทศ ผมมีโอกาสมองเห็นประเทศของผมได้ชัดเจนยิ่งขึ้นและซาบซึ้งในเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญของเรา หนึ่งในเสรีภาพที่สำคัญที่สุดเหล่านั้นคือเสรีภาพในการนับถือศาสนา และเฉกเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยมีธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านานในการเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนา ในปีนี้ ไทยเฉลิมฉลองครบรอบ 142 ปีแห่งการประกาศพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2421 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดเห็นว่าศาสนาใดจะถูกต้อง ก็ถือตามชอบใจของผู้นั้น ผิดถูกก็อยู่แก่ผู้ที่ถือศาสนานั้นเอง” แนวคิดที่ทรงพลังนี้ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทยนับแต่นั้นมา

                ด้วยตระหนักถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาตร์ที่สำคัญยิ่งนี้ ผมจะเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาในวันนี้เพื่อเป็นเวทีให้ผู้นำประมาณ 15 คนจากสถาบันศาสนา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมกันสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับความเคารพสิทธิในเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่อที่ไทยมีมายาวนาน ตลอดจนศึกษาโอกาสและความท้าทายในการยกระดับความปรองดองระหว่างความเชื่อในปัจจุบัน

            การประกาศพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาเกิดขึ้นไม่นานหลังจากผู้เผยแผ่ศาสนาชาวอเมริกันกลุ่มแรกเดินทางมาถึงไทยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เหล่าบุรุษและสตรีผู้มีศรัทธาทางศาสนาอย่างแรงกล้านี้ได้ทำงานร่วมกับพี่น้องชาวไทยเพื่อจัดตั้งสถาบันทางการแพทย์ขึ้นทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ซึ่งเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจรักษาผู้ป่วยหลังทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด คนกลุ่มนี้ยังได้สร้างโรงเรียน เช่น โรงเรียนดาราวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนสตรีแห่งแรก ๆ ทางภาคเหนือของไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งได้ฝึกอบรมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ นักกฎหมาย และนักบวชชาวไทย บุรุษและสตรีเหล่านี้มีศรัทธาที่ต่างกัน หากแต่มารวมตัวกันด้วยความเคารพในเสรีภาพทางศาสนาและเจตนารมณ์อันเป็นหนึ่งเดียวในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน

          บรรพบุรุษของคนกลุ่มนี้ยังช่วยทำให้ความมุ่งมั่นในการผดุงไว้ซึ่งเสรีภาพในการนับถือศาสนาของสหรัฐฯ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้บุกเบิกเดินเรือมาถึงแผ่นดินที่เป็นสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เพื่อเสาะหาบ้านหลังใหม่ที่พวกเขาจะสามารถนับถือศาสนาหรือความเชื่อตามที่ตนศรัทธาได้ ศรัทธาความเชื่อในตอนต้นของผู้อพยพชาวอเมริกันกลุ่มแรกที่คนในปัจจุบันเรียกกันว่า “ผู้จาริกแสวงบุญ” (Pilgrims) เป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อของเราในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา ความเชื่อนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและครอบคลุมไม่เฉพาะนิกายต่าง ๆ ของศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงศาสนาอิสลามและศาสนายิวตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ด้วย นอกจากนี้ นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐของเรา ได้มีการบัญญัติให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นหนึ่งในหลักการเบื้องต้นที่สำคัญ ดังเช่นเดียวกับเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการร้องทุกข์ต่อรัฐบาลเพื่อจัดการเรื่องราวร้องทุกข์

          จากการอพยพเข้ามาของคนหลากหลายกลุ่มทั่วโลก สหรัฐฯ ได้ให้การต้อนรับผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงชาวพุทธซึ่งเดินทางมาถึงสหรัฐฯ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1820 โดยมีการสร้างวัดพุทธแห่งแรกที่เมืองซานฟรานซิสโกเมื่อปี 2396

         อเมริกันชนยังคงต้อนรับผู้คนจากทุกวัฒนธรรมความเชื่อและพยายามปกป้องทุกศรัทธา เราไม่เพียงแต่ยอมรับศรัทธาของผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังต่อต้านบุคคลที่มุ่งร้ายกับผู้อื่นหรือกดขี่ข่มเหงศาสนาด้วยเหตุแห่งความเชื่ออีกด้วย

          ปัจจุบันเกิดการโจมตีศาสนาขึ้นทั่วโลก ทั้งการรื้อถอนโบสถ์และมัสยิด รวมถึงการกักขังและบังคับให้ผู้มีศรัทธาสละอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ธรรมเนียมปฏิบัติทางวัฒนธรรม และศรัทธาทางศาสนา ประชากรมากกว่า 8 ใน 10 คนทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่บางคนไม่สามารถปฏิบัติตามศรัทธาความเชื่อที่ตนต้องการได้ เราจะต้องไม่ยอมจำนนต่อผู้ที่จะมาควบคุมการนับถือศาสนาของเรา

          ในวันนี้ สหรัฐฯ พร้อมเดินหน้านำความร่วมมือเพื่อพิทักษ์เสรีภาพในการนับถือศาสนาทั่วโลก เราเชื่อว่า หากประเทศหนึ่งยอมรับว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็ย่อมมีความมั่นคงสถาพรและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้ผู้คนปฏิบัติตามศรัทธาของตน ประเทศอย่างสหรัฐฯ และไทยก็ได้สร้างรากฐานแห่งการยอมรับความแตกต่างและความไว้เนื้อเชื่อใจที่ยังคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ที่ซึ่งความร่วมมือระหว่างกลุ่มศรัทธาจะเจริญงอกงามและศาสนากลุ่มต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมสวัสดิการทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเป็นเสมือนเข็มทิศแห่งคุณธรรมของประเทศชาติ เราจึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันปกป้องสิทธิของประชาชนทุกแห่งหนในการนับถือศาสนาของพวกเขาได้อย่างเสรีต่อไป

             ผมภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนค่านิยมซึ่งเป็นที่ยึดถือของทั้งชาวอเมริกันและผู้มีศรัทธาจากนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงแผ่นดินไทยนี้ ที่ซึ่งท่านทั้งหลายได้เปิดประตูและหัวใจต้อนรับผู้คนจากทุกความเชื่อ

***************************************************

Leave a Reply