สมเด็จพระมหาธีราจารย์เปิดโครงการ อบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ 26

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่อาคารวิปัสสนาธุระ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 26 ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

โดยมีพระราชปริยัติกวี, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ พร้อมผู้บริหารระดับสูง พระเถรานุเถระ พระธรรมทูตสายต่างประเทศ ข้าราชการ ทานบดี คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ สาธุชน เข้าร่วมพิธี

ในการนี้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ให้โอวาทความว่า ในนามมหาเถรสมาคม และประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ขออนุโมทนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยวิทยาลัยพระธรรมทูต ซึ่งมีพระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ และพระมงคลธีรคุณ ผู้อานวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต พร้อมคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ มีกุศลสามัคคีดำเนินการจัดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ สานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล และองค์กรพระธรรมทูตไทย ในต่างประเทศด้วยดีตลอดมา

และในปีพุทธศักราช 2563 นี้ ได้ดำเนินการโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 26 ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 26 พฤษภาคม พุทธศักราช 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ฯ ตามที่ท่านทั้งหลายได้รับทราบตามรายงานดังกล่าวแล้ว

การจัดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศนั้น เป็นหลักสูตรผสมผสานระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ บูรณาการภาควิชาการกับภาคปฏิบัติ ฝึกหัดเรียนรู้งานสาธารณูปการ กิจกรรมฝึกปฏิบัติและศึกษา ดูงานดินแดนพุทธภูมิ กิจกรรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน กิจกรรมฝึกทักษะและประสบการณ์พิเศษ พร้อมจัดการประเมินผลฝึกอบรม นับว่าเป็นโครงการฝึกอบรมที่มีคุณค่าต่อการพัฒนางานพระธรรมทูตสายต่างประเทศอย่างยิ่ง

ผู้รับการอบรมทุกรูป พระพุทธพจน์บทที่ว่า “ขนฺติ ธีรสฺส ลงฺกาโร ความอดทนเป็นความงามของนักปราชญ์” เป็นคำสอนที่เราท่านทั้งหลายควรพิจารณาตลอดการอบรม เพราะความอดทนเป็นคุณธรรมพื้นฐานของพระธรรมทูต ดังพระพุทธศาสนีที่ว่า “ขนฺติ ตโป ตปสฺสิโน ความอดทนเป็นตบะของผู้พากเพียร”

ในวาระนี้ ขอนำหลักธรรมอันเป็นอุปกรณ์การเข้ารับการอบรม มามอบเป็นแนวทาง แนวธรรม แก่ทุกรูปไว้เป็นหลักประยุกต์ปฏิบัติ 3 ประการ คือ

1.โสวจัสสตา – ความเป็นคนว่าง่าย ได้แก่ การยอมรับคำพูดของผู้อื่น ทั้งคำว่าร้าย ทั้งคำพูดสรรเสริญ มีโยนิโสมนสิการ คือการทำเข้าไว้ในใจ ซึ่งคำพูดเหล่านั้น โดยถูกอุบาย ถูกทาง อันยังให้เกิดประโยชน์ สำหรับพระธรรมทูต ความเป็นคนว่าง่าย ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งโอวาท คือคำแนะนำตักเตือนว่าอย่างนี้ท่านควรทำ อย่างนี้ท่านไม่ควรทำ และอนุศาสนีคือคำพร่ำสอนเนือง ๆ ในศีล สมาธิ และปัญญา จากคณะพระอาจารย์ คณะพระวิปัสสนาจารย์ และเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เพราะถ้าเราเป็นคนว่ายากแล้ว เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันทั้งหลาย ก็จะไม่ว่ากล่าวตักเตือน ไม่แนะนำพร่ำสอน เพราะจักเป็นเหตุให้เกิดความขุ่นเคือง ทั้งจะเหนื่อยเปล่า

หากเราพิจารณาถึงความปรารถนาดีของคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ถ้าอนุโลมตามท่านได้ ก็ควรอนุโลม เพื่อความดีงามและความเป็นสัปปายะในการฝึกอบรม อย่ามัวแต่โทษกันว่าตนถูก คนอื่นผิด ทั้งที่ตนเองเป็นฝ่ายผิด แต่ก็ไม่ยอมรับผิด โยนความผิดไปให้คนอื่น พระพุทธเจ้า จึงตรัสไว้ว่า “โทษของคนอื่นเห็นง่าย แต่โทษของตนเองมองเห็นยาก ”

ท่านทั้งหลาย “คนที่ไม่ผิด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ผิดแล้วจำ แก้ไขปรับปรุงทำใหม่ให้ดี คือคติของบัณฑิตและพระธรรมทูต” ความเป็นผู้ว่าง่ายจึงเป็นอุปกรณ์ในการฝึกอบรมประการหนึ่ง ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ฝึกอบรมตนได้ เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์

ประการที่ 2.อปจายนธรรม คือธรรมอันแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อม ถ่อมตน มีสัมมาคารวะ เคารพในพระรัตนตรัย เคารพครูบาอาจารย์ นับว่าเป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามของคณะสงฆ์ ความเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ ต่อผู้ใหญ่โดยชาติวุฒิ โดยวัยวุฒิและ โดยคุณวุฒิ ความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้ นับว่าเป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรมคือ “อปจายนธรรม” เป็นบัณฑิตสามารถกาจัดมานะ ความเย่อหยิ่ง ถือตัว ถือตน ว่าเป็นนั่น เป็นนี่ ดื้อรั้น ไม่ฟังใคร ไม่ฟังเหตุ ฟังผล หากมีอปจายนธรรมแล้ว ย่อมยังผู้ใหญ่ ผู้น้อย ผู้เสมอกัน ให้รู้จักเคารพนับถือกัน ทางานร่วมกันได้ ปฏิบัติด้วยดีต่อกันด้วยสามัคคีธรรม

 

ดังวลีธรรมที่ผม/อาตมภาพ ได้ประพันธ์เรื่อง “สายซอ” ไว้ว่า สายตึง เกินขนาดนั้น มักขาด สายหย่อน ดังประหลาด ไป่พริ้ง สายกลาง เหมาะเจาะอาจ กล่อมจิต เคลิ้มพ่อ สดับทิพย์ พิณเสนาะติ้ง ปรับได้ชัยเกษม

และประการที่ 3.นิวาตะ หมายความว่า ความเป็นผู้มีใจอ่อนน้อม นิวาตะ แปลว่า มีลมออกแล้ว คือ ไม่เบ่ง ไม่เย่อหยิ่ง หมายถึง ไม่ถือตัว ไม่กระด้าง เพราะความกระด้าง ความถือตัว ดูหมิ่นคำสอนอย่างนี้ เป็นอวมงคล เป็นเหตุแห่งความเสื่อม ความพินาศ ผู้ขจัดความถือตัวเสียได้ วางตัวเช่นกับผ้าเช็ดเท้า ประพฤติตนเหมือนกับโคแก่ที่เขาหัก หรือเหมือนงูพาที่ถอนเขี้ยวแล้ว เป็นผู้มีวาจาอ่อนหวาน มีวาจาที่น่าปลื้มใจ มีมารยาทนิ่มนวล อ่อนโยน ชื่อนิวาตะ คือมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นเหตุที่ให้ได้ความดีต่างๆ มียศเป็นต้น การประพฤติถ่อมตนนั้นทาให้ ขจัดมานะเสียได้ ขจัดความกระด้างเสียได้ ขจัดความถือตัวได้ เป็นผู้มีความนอบน้อมเป็นปกติ มีถ้อยคานามาซึ่งความบันเทิง ไม่มีโทษ ไพเราะโสต วาจาไม่แข็งกระด้าง

ความอ่อนน้อมถ่อมตน จึงนับว่าเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งของการฝึกอบรม ดังวลีธรรมที่ว่า “ต้นอ้อมักจะชูต้นและใบสูง ส่วนต้นข้าวที่ออกรวงมักโน้มรวงลงต่ำ” คนพาลมักสำคัญตนว่าฉลาดเลิศลอย ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง แต่บัณฑิตผู้รู้และประพฤติธรรมมักอ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนรวงข้าว

ท่านทั้งหลาย การเป็นพระธรรมทูตนั้น “รู้อะไรก็ไม่สู้รู้ตัว” หมายความว่า เราควรฝึกสติให้รู้ตัว 3 เรื่อง คือ 1.รู้ภาวะ 2.รู้ฐานะ และ 3.รู้หน้าที่

ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูว่า “เมื่อจมูกกิน ตาฟัง ปากดู หูพูด ” ความวุ่นวายย่อมเกิดขึ้น หากเราทั้งหลาย ไม่รู้จักหน้าที่ของตน ย่อมเดือดร้อน

เสน่ห์ของพระธรรมทูตอีกเรื่องที่เราควรตระหนักและฝึกหัดดัดตน คือ “การปฏิสันถาร ” ปฏิสันถาร หมายถึง การต้อนรับกันฉันท์มิตร การต้อนรับด้วยความเต็มใจ ในทางพระพุทธศาสนานั้น มีกิจปฏิสันถารไว้ 2 ประการคือ

1. อามิสปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยสิ่งของเครื่องบริโภค ด้วยอัธยาศัย ไมตรีที่งดงามให้สมกับเจ้าของบ้านหรือเจ้าถิ่น อำนวยกิจให้เกิดสัปปายะ

2. ธัมมปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยธรรม ด้วยกิริยาท่าทางที่แช่มชื่น ด้วยถ้อยคาทักทายที่เหมาะสมกับฐานะของผู้มาเยือน เช่น ลุกขึ้นยืนต้อนรับ เชิญให้นั่ง แสดงความเป็นกันเอง แนะนำให้รู้จักกันเพื่อความคุ้นเคย รับรองด้วยการให้ธรรมะเป็นเครื่องประดับอาภรณ์ชีวิต

การปฏิสันถารนั้นอาจเป็นดังวลีธรรมที่ว่า “ง่ายอยู่ที่ปาก ยากอยู่ที่ทำ” หมายความว่า การพูดใครก็พูดได้ เว้นเสียแต่คนใบ้เท่านั้น แต่การที่จะนำเอาเรื่องที่พูดแต่ละเรื่องมาปฏิบัติให้ถูกใจคนทุกคน และให้บรรลุผลโดยบริบูรณ์สมบูรณ์นั้น เป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง แต่เราควรฝึกหัดปรับแก้ความเกียจคร้าน ด้วยความขยัน ละความเห็นแก่ตัว ด้วยมีอัธยาศัยกว้างขวางเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลดความบึ้งตึง ด้วยความยิ้มแย้ม ละเลิกความมักง่าย ด้วยความละเอียดรอบคอบ เป็นเสน่ห์ของพระธรรมทูตที่น่าชื่นชม น่าชื่นใจ

สุดท้ายนี้ ผม/อาตมภาพ ในนามประธานสำนักงานกากับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ขออนุโมทนาแด่ท่านพระเถรานุเถระ เจ้าคณะพระสังฆาธิการ สมัชชาสงฆ์ในต่างประเทศ องค์กรพระธรรมทูตไทย ในต่างประเทศ คณะทานบดี สาธุชนทุกท่าน ที่ได้มีกุศลสมานฉันท์ให้ความอุปถัมภ์โครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 26 ประจาปีพุทธศักราช 2563

ขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัยประทานพร ให้การจัดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 26  ประจำปีพุทธศักราช 2563  สำเร็จ สัมฤทธิ์ บริบูรณ์ ตามวัตถุประสงค์โครงการฯ ที่ตั้งไว้ทุกประการ

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว ผมขอเปิดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 26 ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ขอให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตรุ่นนี้ทุกรูป สำเร็จ สัมฤทธิ์ ในบทบาทหน้าที่ความเป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ปฏิบัติศาสนกิจสนองงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม ถวายเป็นพุทธบูชาและขอทุกรูปจงมีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงในธรรมะของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้ายิ่งๆ ขึ้นเทอญ

พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการป้องกันไวรัสโควิด-19 ในช่วงดำเนินการอบรมว่า คณะผู้รับผิดชอบโครงการให้ความร่วมมือกับทางเจ้าน้าที่บ้านเมืองอย่างเต็มที่ จัดแพทย์ พยาบาลคอยสังเกตอาการและคัดกรอง หากพบอาการผิดปกติจะแยกออกจากกลุ่มทันที และจะปฏิบัติตามคำแนะนำจากภาครับอย่างเคร่งครัด

Leave a Reply