พาไปเที่ยววัด “อธิการบดี มมร”

รับปากกับท่านอธิการบดี มมร “พระเทพวัชรเมธี” นานหลายเดือนแล้วว่าจะขึ้นมาเยี่ยมชมวัดของท่านที่ตั้งอยู่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เพื่อเขียนเล่าบรรยากาศวัดของท่านพร้อมกับสิ่งที่ท่านกำลังทำ ซึ่งเดิมตอนรับปากท่านไว้ ได้ชวนน้อง ๆ จากช่อง 5 และช่อง NBT ด้วยว่าจะนัดกันไปเยี่ยมชมวัดอธิการบดี มมร ที่จังหวัดลำปางสักครั้งหนึ่งฝากแจ้ง “ผู้ประสานงาน” ของท่านไปไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งเรื่องก็เงียบหายไปดังสายลม เนื่องจากเจ้าคุณอธิการบอกไว้ว่า หากไปให้แจ้งด้วย เพราะหากมีเวลาท่านมีควาประสงค์จะไปร่วมด้วย

เมื่อวันพุธที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางขึ้นมาภาคเหนือ เพื่อมาทำข่าวอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงหาดไทย ขับรถถึงจังหวัดตากเห็นคำว่า “อำเภอเถิน” นึกขึ้นได้ว่าเคย “รับปาก” อธิการบดี มมร ไว้

“วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์” ตั้งอยู่  ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไม่ห่างไกลจากถนนหลักขึ้นภาคเหนือมากนัก ถนนเข้าไปยังวัดลาดยางเป็นอย่างดี วัดตั้งอยู่ในป่าสมกับเป็น “วัดป่าฝ่ายอรัญวาสี” อันเก่าแก่ของคณะสงฆ์ธรรมยุต

“ผู้เขียน” เมื่อไปถึงวัดสิ่งแรกที่เห็นคือ โรงเพาะชำกล้าไม้ขนาดใหญ่ มีศาลาและกุฎิหลังใหญ่อยู่ท่ามกลางต้นไม้ขนาดใหญ่ดูแล้วสมกับเป็นวัดป่า เหมาะสำหรับการ “ปฎิบัติธรรม” ปลีกวิเวกยิ่งนัก ซึ่งดูแล้วสามารถรองรับจำนวนคนได้ หลายร้อยคน เมื่อเดินขึ้นบันไดไปมีช่างกำลังปรับปรุงก่อสร้างพื้นที่หลายคน ตรงบันไดรูปพญานาคมีป้ายห้ามขึ้นไป ตอนหลังทราบว่า วัดกำลังสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่บนภูเขาและมองขึ้นไปบนยอดเขาเหมือนกำลังทำ  “สกายวอล์ค” บนยอดเขาด้วย แวะไปดูหลังกุฎิมีป้าย “เขตสังฆาวาส”

“อุโบสถ์ไม้สักทอง”  ตั้งเด่นสง่าอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ  ถาม “คนงาน” บอกว่า ภายในมีพระพุทธรูปขนาด 2 เมตรสร้างโดย “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ปัจจุบัน เป็นไม้สักเก่าที่อดีตเจ้าอาวาสท่านเก็บเอาไว้เพื่อสร้างโบสถ์โดยเฉพาะ ศิลปะสวยงามมาก แม้แต่เสมารอบอุโบสถก็สร้างด้วยไม้สักทอง เดินลงไปด้านล่างก็เจอกับทางเข้า “ถ้ำสุขเกษมสวรรค์” ยังไม่ถึงปากถ้ำกลิ่นไอเย็นก็มาปะทะจมูก ก่อนเข้าถ้ำอดไม่ได้ที่ต้องชมจิตรกรรมฝาผนังที่ทางวัดบรรจงเขียนไว้บนผนังถ้ำ ดูแปลกดี ลักษณะการวาดรูปฝาผนังถ้ำแบบนี้ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก ภายในถ้ำมีค้างคาวบินว่อน หลังเดินจิตรกรรมฝาผนังถ้ำ ไหว้พระภายในถ้ำเรียบร้อย  สิ่งหนึ่งที่มาในครั้งนี้คือการไปดูการปลูกต้นไม้ตามแนวคิดของพระเทพวัชรเมธี คือ “คืนธรรมชาติสู่ธรรม”

ถามแม่ชีบอกว่าต้องเดินไกล ต้องมีคนพาไป สุดท้ายคิดในใจว่า ครั้งนี้คงไม่ได้ไปแล้ว พอดีประจวบเหมาะกำลังนั่งพักอยู่หน้าศาลาการเปรียญมีพระคุณเจ้ารูปหนึ่งเดินผ่านมาพอดี

“พระคำ ฐิติโก” หรือ “ตุ๊ขาว” สะพายย่ามเดินผ่านมาพอดีจึงเข้าไปกราบและพูดคุย “เป๊ะ” เจอเจ้าของโครงการเรือนเพาะชำ และ “มดงาน” ของอธิการบดี มมร พอดี ท่านบอกว่า

ปัจจุบันวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ มีพระจำพรรษา 5 รูป ชี 4 ท่าน คนงานหลายคน วัดหากไม่มีเจ้าคุณ พระเทพวัชรบัณฑิตคงลำบาก เพราะตั้งอยู่ในป่า ห่างไกลชุมชน ท่านเจ้าคุณเคยเป็นสามเณรอยู่ที่นี่ ตอนหลังอดีตเจ้าอาวาสท่านไปฝากไว้วัดราชบพิธ กรุงเทพ ท่านเจ้าคุณท่านก็ไม่ลืม บ้านเคยอยู่ อู่เคยนอน ท่านมีความกตัญญูกตเวที จึงกลับมาพัฒนาที่นี่

 “วัดมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 300 ไร่ เดิมเป็นป่าสภาพเสื่อมโทรม ทางวัดจึงขอจากกรมป่าไม้มาดูแลป่า ตอนนี้สภาพป่ากลับคืนมาเยอะแล้ว มีการปลูกต้นไม้ทุกปี มีการสร้างฝายน้ำ ปลูกป่า ในพื้นที่เกือบ 300 ไร่นี้มีพระช่วยกันดูแล ด้วยการแบ่งกันเป็นโซนทัั้งหมด 3 รูป”

หลังจากแนะนำเรียบร้อย “ตุ๊ขาว” อาสาพาไปดูสภาพป่าที่จากเดิมเสื่อมโทรม มีแต่หินกรวด วันนี้มีสภาพป่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว มีการสร้างฝายน้ำขนาดใหญ่เพื่อสร้างให้ป่าชุ่มชื้น มีการปลูกกล้วย เห็นป้าย “นายสุทธพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยมาปลูกต้นไม้ไว้ในยุคที่เป็น อธิบดีปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย มีป้ายพระสงฆ์และข้าราชการหลายรูปที่มาร่วมพัฒนาตรงนี้

“ตุ๊ขาว” เล่าว่า รอบ ๆ  แนวเขต “เจ้าคุณ” ท่านนำดินที่ขุดทำฝายมาทำเป็นกำแพงกั้น เพื่อกันไม่ให้วัวชาวบ้านมากินใบไม้ ต้นไม้ที่ปลูกไว้

“หน้าแล้งแบบนี้อาตมาต้องตักน้ำมาลดต้นไม้ เพราะกลัวแห้งตาย  ทำแล้วมีความสุขดี อาตมาเดินดูอยู่กับต้นไม้ เรือนเพาะชำทุกวัน เรื่องแบบนี้หากไม่รักจริง ทำไม่ได้…”

หลังจากขับรถวนรอบบนเนื้อที่นับร้อยไร่ เดินดูต้นไม้ต่าง ๆ ทั้งประดู่ ไม้แดง ตะเคียนทอง ไม้สัก และหวาย ที่ทางวัดปลูกเอาไว้ กำลังเติบโตดูแล้วสบายตา หากหน้าฝนคงดูงามกว่านี้มากนัก

 

วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ ของ “พระเทพวัชรเมธี” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย อาจไม่ใช่วัดแรกที่ทำแบบนี้ แต่ถือว่าเป็นวัดต้นแบบหรือแบบอย่างได้เป็นอย่างที่ให้พระสงฆ์ดูแลป่าและอยู่ร่วมกับป่าได้ และแท้จริงแล้ว “พระกับป่า” เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง ดังท้ายหนังสือ คืนธรรมชาติสู่ธรรม ที่ประพันธ์โดย พระเทพวัชรเมธี อธิการบดี มมร  ที่ระบุไว้ว่า “แท้จริงโลกเป็นที่พักอาศัยของสรรพชีวิตน้อยใหญ่ ที่พักอาศัยมีหลายมิติมุมมอง ตั้งแต่บ้าน วัด ชุมชน ประเทศ จนถึงโลกและสิ่งแวดล้อมรมณียภาพแห่งธรรมชาติจึงพึงเกิดในทุกระดับเพื่อประโยชน์สุขของชีวิต ” มดังพุทธานุศาสนีว่า วิหาเร การเย ธมฺเม แปลความว่า “พึงสร้างที่พักอาศัยอันเป็นรมณีย์”

จากสำรวจและเดินดูรอบทั่วบริเวณอนาคตเชื่อว่า วัดแห่งนี้เมื่อมองจากการพัฒนาแบบนี้คงจักเป็น..แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ อีกแหล่งในจังหวัดลำปาง

 

ใครผ่านไปลองแวะไปดูไปกราบพระ ไปชมโบถส์ไม้สักทองที่สวยงาม ไปเที่ยวถ้ำและเร็ว ๆ นี้หากเจดีย์บนยอดเขาสร้างเสร็จเรียบร้อย เปิดให้ขึ้นไปกราบสักการะบูชา เดินเล่นชมวิวได้ วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ คงต้องวางแผนรองรับสถานที่จอดรถและจุดบริการนักท่องเที่ยวอย่างไม่ต้องสงสัยแน่แท้..

Leave a Reply