เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ สืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงจังหวัดศรีสะเกษ ด้วยนั้น ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง แม้ระดับน้ำ จะลดลงบ้างแล้ว วัดวาอาราม พระสงฆ์รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ ที่ประสบอุทกภัย ยังมีความจำเป็นที่จะได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ดังที่ทราบแล้วนั้น
คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ โดย พระครูศรีมงคลปริยัติกิจ เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ ร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ ได้ตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ วัดมหาพุทธาราม พระอารามหลวง ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัด รีสะเกษ ขอเชิญร่วมบริจาค สิ่งของช่วยเหลือ หรือบริจาคปัจจัย ได้ที่บัญชี “ทุนศาสนสงเคราะห์คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ” ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 311-3-42505-0
คณะสงฆ์อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ คณะสงฆ์ภาค ๑๑ โดย พระครูปริยัติภัทรคุณ (เสนอ สิริภทฺโท) เจ้าคณะอำเภอนางรอง ประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานและขับเคลื่อนศาสนกิจสาธารณสงเคราะห์ระดับพื้นที่อำเภอนางรอง อสว.คณะสงฆ์ เจ้าคณะ พระสังฆาธิการ คณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชน ภาครัฐและเอกชน องค์กรสาธารณกุศล มูลนิธิ สมาคมกู้ภัยตำรวจทางหลวงบุรีรัมย์ กู้ภัยนางรองศรัทธาธรรม ในนามพุทธศาสนิกชนอำเภอนางรอง รู้สึกห่วงใยผู้ประสบภัยต่าง ๆ จึงได้รวมพลังขับเคลื่อนในนามศูนย์ประสานงานและขับเคลื่อนศาสนกิจสาธารณสงเคราะห์ระดับพื้นที่อำเภอนางรอง อสว.คณะสงฆ์อำเภอนางรอง ร่วมกับ พุทธศาสนิกชนอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งท่านผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป พร้อมด้วยคณะทำงานด้านสาธารณสงเคราะห์ในระดับพื้นที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีฉันทามติเดินทางเพื่อมอบกัปปิยภัณฑ์ เป็นจำนวนเงิน 50,00.00 บาท พร้อมข้าวสาร 1 ตัน และถวายกำลังใจ แด่.. คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ ในครั้งนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยวัฒน์ คงทรัพย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ ในฐานะผู้ประสานงานระดับพื้นที่ กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานและขับเคลื่อนศาสนกิจสาธารณสงเคราะห์ระดับพื้นที่อำเภอนางรอง อสว.คณะสงฆ์อำเภอนางรอง ดำเนินศาสนกิจสาธารณสงเคราะห์ พระเกื้อกูลพระ พระไม่ทิ้งโยม ภายใต้ นโยบายสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม ตามกรอบ ROAD MAP แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ๒๐ ปี (ระยะที่ ๒ พ.ศ.๒๕๖๕- ๒๕๖๙) “พุทธศาสน์มั่นคงสถาพร โลกนิกรนิรทุกข์ สังคมสันติสุข” เป็นทิศทางในการปฏิบัติตามพันธกิจและภารกิจ (Mission) ให้สัมฤทธิผลตามวิสัยทัศน์ (Vision) และเป้าประสงค์ขององค์การ (Corporate Goal) มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า “พุทธศาสตร์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสู่สันติสุข อย่างยั่งยืน” เป็นจุดหมายปลายทางที่คณะสงฆ์ต้องการไปให้ถึงในที่สุด โดยยึดตามหลักพุทธปณิธานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงวางหลักปฏิบัติสำหรับพุทธสาวก สู่หลักการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่ทรงตรัสมอบเป็นพุทธศาสโนบาย เป็นอุดมคติ ก่อการงานพระศาสนา แด่พระอรหันต์สาวกว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ ฯเปฯ ….ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า……ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ ฯ
พระเกื้อกูลพระ โดยน้อมนำ พระวรคติธรรม เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประมุขสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย มีใจความอันเป็นมงคลว่า “บุคคลจึงพึงบําเพ็ญกรณียกิจ เพื่อเกื้อกูลกันและกันด้วยการละ คลาย ความเป็นตัวตนลงให้มากที่สุด ให้สมดังพระพุทธานุศาสนี ที่ว่า ภูตํ เสสํ ทยิตพฺพํ แปลความว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ควรเกื้อกูลกัน ”
พระไม่ทิ้งโยม ด้วยนำคติธรรม เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม มาเป็นกำลังใจสู่หลักปฏิบัติและขับเคลื่อนศาสนกิจสาธารณสงเคราะห์ ….ว่า “เมื่อยามสถานการณ์ปกติ ญาติโยมไม่เคยทอดทิ้งพระ แล้วในยามสถานการณ์ยากลำบากแบบนี้ จะให้พระทิ้งญาติโยมได้ อย่างไร…”
คณะสงฆ์อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ คณะสงฆ์ภาค ๑๑ โดยเจ้าคณะ พระสังฆาธิการ คณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชน ภาครัฐและเอกชน องค์กร สาธารณกุศล สมาคม มูลนิธิ ในนามพุทธศาสนิกชนอำเภอนางรอง จึงรวมพลังขับเคลื่อนศาสนกิจ กิจการงานคณะสงฆ์อย่างเป็นระบบ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการ พระพุทธศาสนา ตามนโยบายมหาเถรสมาคม ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นเอกภาพ ในทิศทางการพัฒนางานคณะสงฆ์ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อความมั่นคง สถาพรของพระพุทธศาสนา คงอยู่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ เป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตและเป็นมรดกแก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป
Leave a Reply