แกะรอย ‘กรานกฐิน’ ตามแนววินิจฉัยในอรรถกถาพระวินัย ช่วยยุติความเห็นต่างในสังคมไทยได้

โดย..ศาสตราจารย์พิเศษ ร้อยโท ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

เกริ่นนำ

เบื้องต้น ขอเรียนว่าตามพระวินัย กฐินดั้งเดิมมีแต่ผ้า ไม่มีบริวารกฐิน และผ้ากฐินก็เป็นของสงฆ์-พระตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไปมาแต่แรก ดังนั้น พระที่จะเข้าร่วมรับและมอบผ้าต่อให้ใครรูปใดรูปหนึ่งต้องมี ๕ เพราะในจำนวน ๕ รูปนั้น ๑ รูปจะถูกยกให้เป็นผู้รับผ้าและกรานกฐิน ส่วนอีก ๔ รูปที่เหลือนี้แหละคือสงฆ์จริง ๆ ที่จะช่วยดูแลและรับรองให้การกรานกฐินถูกต้องตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

เรื่องนี้อาจมีปัญหามาอย่างต่อเนื่องแต่ภายหลังพุทธปรินิพพานจนกระทั่งก่อน พ.ศ. ๙๐๐ เป็นเหตุให้พระอรรถกถาจารย์หรือพระนักวิชาการชาวลังกาได้ศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างกว้างจนปรากฏแนวทางการวินิจฉัยมาตามลำดับ ดังนี้

กฐิน – กรานกฐิน นิยามและความหมาย

กฐิน หมายถึง กรอบไม้สำหรับขึ้นรูปทำจีวร เรียกว่า ไม้สะดึง และมีคำที่ต้องศึกษาร่วมด้วยคือ

กรานกฐิน หมายถึง กางหรือ ขึงไม้สะดึงออกแล้วเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงทาบที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วจึงบอกแก่ภิกษุทั้งหลายให้พร้อมใจกันอนุโมทนา-ยินดีในการยกผ้าให้ภิกษุรูปหนึ่งในนามของสงฆ์ ผ้ากฐิน คือ ผ้าที่ใช้ขึงที่ไม้สะดึงสำหรับทำเป็นจีวร

ภิกษุที่ร่วมกรานกฐินที่เรียกว่า สงฆ์ มีกี่รูป ?

ร่วมกรานกฐิน ก็คือ ร่วมตั้งแต่เริ่มรับผ้าและพิจารณาตัดสินว่าจะให้ผ้าแก่ภิกษุรูปใดแล้วร่วมช่วยทำด้วย ซึ่งเริ่มตั้งแต่กางหรือขึงไม้สะดึงเพื่อนำผ้าที่จะทำจีวรไปทาบ จากนั้นยังช่วยเอาผ้ามาขึงไม้สะดึงเพื่อเย็บ แล้วก็ช่วยเย็บย้อมจนแล้วเสร็จ ภิกษุที่เข้าร่วมกรานกฐินต้องเป็นสงฆ์คือหมู่ภิกษุกำหนดอย่างต่ำสุด ๕ รูป ซึ่งเรียกว่า ‘สงฆ์ปัญจวรรค’ กำหนดสูงสุดไม่จำกัดจำนวน อาจเป็น ๑๐ รูป ๑๐๐ รูป หรือ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ก็ได้

ในยุคของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๑๓ ในจำนวน ๒๘ พระองค์ พระองค์ทรงเป็นประธานอำนวยการให้สงฆ์ทำจีวรถวายพระอัครสาวกชื่อสุชาตะ สงฆ์มีทั้งหมด ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป (ดูอรรถกถาพระวินัย ภาค ๓ หน้า ๑๙๔) และต่อมาในยุคของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันก็ทรงเป็นประธานอำนวยการให้สงฆ์ร่วมทำจีวรถวายพระอนุรุทธะ สงฆ์มีจำนวน ๕๐๐ รูปมี (ดูอรรถกถาธรรมบทภาค ๔ เรื่องพระอนุรุทธะ)

เพราะอะไรต้องให้ทำเป็นสังฆกรรม-งานของสงฆ์ ? เพราะการทำจีวรมีกิจที่ต้องทำมาก เช่น ถ้าผ้าที่ได้มายังไม่พร้อมจะทำจีวร เช่น ยังสกปรก สงฆ์หรือพระที่มาร่วมต้องมาร่วมช่วยกันช่วยซัก รวมไปถึงช่วยเย็บช่วยย้อม

ข้อสำคัญ ก่อนที่จะลงมือช่วยซักเย็บย้อม สงฆ์ได้ร่วมกันกำหนดตัวภิกษุผู้รับผ้ากฐินหรือเรียกอีกอย่างว่า ผู้กรานกฐิน ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องมีรูปเดียวและต้องมีจีวรเก่า (ชิณฺณจีวร)

(แต่ถ้ามีภิกษุที่มีจีวรเก่าหลายรูป ต้องให้แก่รูปที่อาวุโสซึ่งมีความรู้ความสามารถที่จะกรานกฐิน – กางไม้สะดึงทำจีวรได้เสร็จทันในวันนั้น แต่ถ้าท่านไม่มีความสามารถทำได้ก็ให้แก่รูปที่อาวุโสรองลงมาซึ่งสามารถทำได้ แต่อรรถกถาก็เสนอข้อแม้ว่า หากสงฆ์เห็นพ้องต้องกันว่าสมควรจะสงเคราะห์พระมหาเถระ ก็ทำได้โดยกล่าวกับท่านว่า ‘ท่านขอรับ ขอท่านจงรับผ้ากฐินเถิด พวกจักช่วยกันทำถวาย’)

ทำจีวรได้กี่ผืน ?

ตามพระวินัย มีคำว่า ติจีวร ในภาษาบาลี ตฺริจีวร ในภาษาสันสกฤต ไทยเรียก ไตรจีวร หมายถึง จีวร ๓ ผืน ประกอบด้วย ๑) อุตตราสงค์ – ผ้าห่มโดยใช้พาดที่ไหล่ซ้าย (ไทยเรียกว่า จีวร) ๒)อันตรวาสก – ผ้านุ่ง (ไทยเรียกว่า สบง) ๓) สังฆาฏิ – ผ้าพับซ้อนเป็นชั้นๆ อาจเป็น ๒ ชั้นใช้ห่มกันหนาว หรือ ๔ ชั้นใช้ปูนอน
ในครั้งพุทธกาล การกรานกฐินกำหนดให้ทำจีวรได้ผืนเดียวที่จำเป็นที่สุดที่ต้องผลัดเปลี่ยน อาจเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิก็ได้
เป้าหมายของการทำจีวรตามที่ทรงบัญญัติไว้ก็เพื่อให้ภิกษุรูปที่มีจีวรเก่าที่สุดในวัดนั้นๆได้โอกาสเปลี่ยนจีวรใหม่
ใครร่วมรับกฐินได้ ? ใครร่วมรับไม่ได้ ?

ภิกษุเข้าพรรษาแรกจำนวน ๕ รูปขึ้นไปร่วมรับกฐินได้ จำนวนต่ำกว่านั้นรับไม่ได้ แต่ว่าเบื้องต้น ต้องทราบว่า การเข้าพรรษามี ๒ วาระ คือ
๑) เข้าพรรษาแรกมีในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
๒) เข้าพรรษาหลังมีในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙

การมีพุทธานุญาตไว้ ๒ วาระนั้น สืบเนื่องมาจากว่า ในปีหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารทรงบอกกล่าวพระสาวกให้ทูลขอพระพุทธเจ้าให้ทรงเลื่อนการเข้าพรรษาจากวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ไปเป็นวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วก็ทรงเหตุจำเป็นจริงจึงทรงอนุญาตตามที่พระเจ้าพิมพิสารทูลขอ โดยตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ‘อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชานํ อนุวตฺติตุ – ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้อนุวัต-คล้อยตามพระราชา (ดูพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ วัสสูปนายิกขันธกะ)
ดังนั้น ที่ว่า ภิกษุที่ร่วมรับกฐินและได้อานิสงส์กฐินด้วยต้องมีคุณสมบัติ คือ ต้องเป็นภิกษุที่จำพรรษาแรก เท่านั้น ท่านที่จำพรรษาหลังรับกฐินไม่ได้และไม่ได้อานิสงส์เพราะถือว่าขาดคุณสมบัติ

ในวัดที่มีภิกษุจำพรรษาแรกไม่ครบ ๕ รูป พึงปฏิบัติอย่างไร ?

ประเด็นนี้เองที่เป็นปัญหาหลักให้ต้องคิดกันมาน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพานเรื่อยมาจนมาถึงสังคมไทยจนทำให้มีความเห็นต่างกัน ดังนี้
ความเห็นต่างที่ ๑ มีว่า
‘ในวัดที่มีพระจำพรรษาแรกไม่ครบ ๕ รูป ให้นิมนต์พระที่จำพรรษาหลังในวัดนั้นเท่านั้น ห้ามนิมนต์พระจากวัดอื่นหรือที่อื่นมารร่วมรับและกราลกฐิน และพระที่จำพรรษาแรกเท่านั้นจะได้อานิสงส์’
ความเห็นต่างที่ ๒ มีว่า
‘ในวัดที่มีพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป สามารถนิมนต์พระมาจากวัดอื่นหรือที่อื่นมารับกฐินได้ และพระในวัดที่จำพรรษาจะได้อานิสงส์ หลังจากกราลกฐินแล้ว’
แนวทางวินิจฉัยเพื่อยุติความเห็นต่าง

ความเห็นต่างทั้ง ๒ นี้น่าสนใจ และมีแนวทางให้วินิจฉัยได้โดยดำเนินไปตามขั้นตอนต่อไปนี้

ดูตามมติของอรรถกถามหาปัจจรี ซึ่งมีว่า

“บรรดาภิกษุที่(อธิษฐาน)เข้าพรรษาในการเข้าพรรษาแรกแล้วจำพรรษาไปจนถึงปวารณา (ออกพรรษา) การกรานกฐินได้ ส่วนภิกษุที่ขาดพรรษาในการเข้าพรรษาแรกก็ดี ภิกษุที่(อธิษฐาน) เข้าพรรษาในการเข้าพรรษาหลังก็ดี กรานกฐินไม่ได้ ส่วนภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้เช่นกัน” (ดู อรรถากถาพระวินัย ภาค ๑ หน้า ๑๙๒)
มตินี้น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยเลย พระพุทธโฆสะจึงยกขึ้นมาเป็นบทตั้งเพื่อให้ได้หลักว่าพระอรรถกถาจารย์ชาวลังกายุคก่อนท่าน (ก่อนพ.ศ.๙๐๐) เห็นว่า

๑. ภิกษุที่อธิษฐานจำพรรษาแรกครบพรรษาในวัดเดียวกันเท่านั้นจึงมีสิทธิ์รับและกรานกฐินได้
๒. ภิกษุที่อธิษฐานจำพรรษาแรกแล้วขาดพรรษากับภิกษุที่อธิษฐานเข้าพรรษาหลังไม่มีสิทธิ์รับและกรานกฐิน

เมื่อได้หลักอย่างนี้แล้ว พระพุทธโฆสะก็อธิบายเสริมว่า

‘ภิกษุที่เข้าจำพรรษาแรกในวัดเดียวกันรูปอื่น ๆ นอกเหนือไปจาก ๕ รูปนั้น ที่คุณสมบัติขาดไป คือ ขาดพรรษาบ้าง จำพรรษาหลังบ้าง แม้กรานกฐินไม่ได้ แต่ก็เป็นคณปูรกะ-ร่วมคณะได้อยู่ แต่ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษตามพระพุทธานุญาต ภิกษุที่จำพรรษาแรกและอยู่ครบพรรษาเท่านั้นจึงได้อานิสงส์’

ผู้เขียนเข้าใจว่า ที่พระพุทธโฆสะมีวินิจฉัยว่า ภิกษุที่คุณสมบัติไม่ครบเข้าร่วมได้แค่เพียงแค่เป็นคณปูรกะ ก็เพราะ ๑) มีภิกษุ ๕ รูปที่จำพรรษาแรกครบพรรษาเป็นหลักครบองค์สงฆ์ที่สามารถทำการกรานกฐินตามพระวินัยได้แล้ว ๒) การยอมให้ภิกษุที่มีคุณสมบัติไม่ครบแต่ไม่มีพฤติกรรมผิดเสียหายเข้าร่วมเป็นคณปูรกะได้ก็เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สงฆ์ที่อยู่วัดเดียวกัน

กลับไปที่ความเห็นต่างที่ ๑ ในสังคมไทยที่ว่า

‘ในวัดที่มีพระจำพรรษาแรกไม่ครบ ๕ รูป ให้นิมนต์พระที่จำพรรษาหลังในวัดนั้นเท่านั้น ห้ามนิมนต์พระจากวัดอื่นหรือที่อื่นมารร่วมรับและกราลกฐิน และพระที่จำพรรษาแรกเท่านั้นจะได้อานิสงส์’

น่าจะมาจากการยึดถือมติในอรรถกถามหาปัจจรีเป็นแนวทางการวินิจฉัยและปฏิบัติตาม
โดยมตินี้ ยังเปิดทางให้พระพุทธโฆสะอธิบายเสริมต่อว่า

‘หากว่า ในวัดนั้น ภิกษุที่เข้าพรรษาแรกมี ๔ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๑ รูปบ้าง ก็ให้กรานกฐินได้ (โดยยึดภิกษุที่จำพรรษาแรกป็นหลัก) แล้วทำภิกษุที่พรรษาขาดหรือจำพรรษาหลังในวัดนั้นเป็นคณปูรกะ – ช่วยให้ครบคณะเป็นสงฆ์’ (ดูอรรถกถาวินัย ภาค ๓ หน้า ๑๙๒-๑๙๓)
ความเห็นของพระพุทธโฆสะส่วนนี้ถือว่าเป็นความเห็นเสริมที่แตกออกไปจากมติในอรรถกถามหาปัจจรี

หากถามว่า ทำไมพระพุทธโฆสะจึงกล้าเสนอแนวคิดเสริมที่แตกออกไปอย่างนั้น ก็ได้คำตอบว่า น่าจะเสนอตามแนวทางที่พระเถระชาวลังกาในยุคนั้นปฏิบัติกัน
สรุปว่า ความเห็นต่างที่ ๑ ใช้ได้ เพราะปฏิบิติกันตามมติของอรรถกถามหาปัจจรีที่คณะสงฆ์ลังกายอมรับฏิบัติกันต่อๆมา
ส่วนความเห็นต่างที่ ๒ ในสังคมไทยที่ว่า
‘ในวัดที่มีพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป สามารถนิมนต์พระมาจากวัดอื่นหรือที่อื่นมารับกฐินได้ และพระในวัดที่จำพรรษาจะได้อานิสงส์ หลังจากกราลกฐินแล้ว’

ความเห็นต่างนี้ก็น่าคิดเช่นกัน การปฏิบัติถือว่ายืดหยุ่นลงจากความเห็นที่ ๑ ก็มีคำถามว่าได้แนวคิดมาจากที่ไหน ? ผู้เขียนเข้าใจว่าความเห็นของพระพุทธโฆสะที่กล่าวไว้ต่อไปนี้น่าสนใจ คือ ความเห็นว่า

‘ถ้าบรรดาภิกษุที่จำพรรษาแรกไม่เข้าใจวิธีกรานกฐิน สงฆ์พึงแสวงหาพระเถระผู้ชำนาญขันธกะ-หมวดหมู่ของวัตรปฏิบัติในพระวินัยที่ฉลาดรอบรู้เกี่ยวกับการกรานกฐินมา ท่านมาแล้วจะได้ช่วยประกาศกรรมวาจา-การพูดแนะนำเรื่องทำวินัยกรรมแล้วแนะนำให้กรานกฐินได้ แต่ว่าท่านจะไม่ได้อานิสงส์ แต่ได้แค่ฉันอาหารที่ถวายแล้วก็ไป’ (อรรถกถาวินัย ภาค ๓ หน้า ๑๙๓)

สรุปว่า พระพุทธโฆสะเปิดทางให้หาพระเถระจากวัดอื่นมาช่วยแนะนำด้านวินัยกรรม – ทำตามขั้นตอนพระวินัยได้ ตั้งแต่ประกาศว่า
สุณาตุ เม ภนฺเต สํโฆ….ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า…. ไปจนจนถึงว่า
อตฺถตํ ภนฺเต สํฆสฺส กฐินํ, ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร – ท่านผู้เจริญ สงฆ์กรานกฐิน-ขึงไม้สะดึงเสร็จแล้ว, การกรานกฐิน-การขึงไม้สะดึงชอบธรรม….

ประเด็นที่น่าคิด ในวินัยปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วมิใช่หรือว่า ภิกษุที่มีหน้าที่ทำกรรมวาจา-ประกาศญัตติให้สงฆ์ทราบเกี่ยวกับการทำสังฆกรรมแต่ละประเภท ต้องเป็นพระเถระที่อยู่ในสงฆ์หมู่นั้นที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับสังฆกรรมนั้นๆ แล้วการที่พระพุทธโฆสะเสนอแนวคิดเปิดทางให้นิมนต์พระเถระผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติเนื่องด้วยกฐินมาจากวัดอื่นมาทำกรรมวาจา-ประกาศญัตติเปิดการกรานกฐินได้นั้น ท่านอาศัยแนวคิดอะไรเป็นฐานคิด

คำตอบก็ว่า น่าจะอาศัย ‘มหาปเทส – ข้ออ้างอิงหลัก’ ๔ ประการที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ มีข้อหนึ่งว่า
‘สิ่งใดที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติว่า ควร-ใช้ได้ แต่เข้าได้กับสิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้วว่า ควร-ใช้ได้ สิ่งนั้นถือว่า ควร-ใช้ได้’

ในพระวินัย สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วว่า ควร –ใช้ได้ เช่น การนิมนต์พระจากต่างวัดมาสวดปาติโมกข์ในวัดของตัวเองเมื่อถึงวันอุโบสถ พระพุทธโฆสะน่าจะอาศัยแนวคิดนี้เป็นฐานคิดในการให้นิมนต์พระเถระผู้เชี่ยวชาญจากวัดอื่นมาช่วยเหลือด้านวินัยกรรม-ทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระวินัยในการกรานกฐิน

ผมเห็นว่า แนวคิดแบบเปิดทางของพระพุทธโฆสะนี้เอง น่าจะถูกนำมาใช้ในสังคมไทย คือ แสวงหาภิกษุที่จำพรรษาแรกต่างวัดมาช่วยเป็นคณปูรกะ-เสริมให้ครบองค์สงฆ์คือ ๕ รูป อย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน

สรุป

สรุปได้ว่า แนวทางการวินิจฉัยของพระอรรถกถาจารย์ดังกล่าวมาน่าจะช่วยยุติความเห็นต่างทั้ง ๒ เกี่ยวกับการปฏิบัติในการรับและกราลกฐินในสังคมไทยลงได้ เรื่องเกี่ยวกับกฐินไม่ใช้เป็นตัวชี้ขาดถึงว่าถ้าทำผิดจะต้องโทษถึงขาดจากความเป็นพระ แต่เป็นวัตรปฏิบัติที่เป็นตัวเสริมและหาทางออกในการเปลี่ยนจีวรของภิกษุ ก็สังคมไทยนี้เองที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ว่าวัดจะขาดกฐินไม่ได้แล้วกำหนดให้เป็นประเพณีที่มีรูปแบบเฉพาะเป็นกฐินของชาวพุทธไทย และตอนนี้สังคมไทยกลับถือหนักไปอีกตรงที่ว่า ถือ ‘เงิน’ เป็นหลัก..

Leave a Reply