“ปลัด มท.”เตรียมคิกออฟ! งานวันดินโลก 5 ธ.ค. นี้ทั่วประเทศให้เป็นแผ่นดินทอง

“ปลัด มท.” ประกาศที่แปลงโคก หนอง นา CLM แห่งเมืองอุบลราชธานี เตรียม Kick-Off กิจกรรมงานวันดินโลก โลก 5 ธ.ค. นี้ ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงโคก หนอง นา CLM ของนายวราวุฒิ วงศ์มั่น ที่บ้านพรานบุญ หมู่13 ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีลงแขกเกี่ยวข้าว ปลูกต้นมะเกลือและต้นประดู่แดง ซึ่งได้รับเมตตาจากท่านเจ้าพระคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงพื้นที่ และคณะผู้บริหารจังหวัดประกอบด้วย นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีนายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายมานะ สิมมา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายขรรค์ไชย ทันธิมา ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ นายนคร ศิริปริญญานันท์ นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและภาคีเครือข่าย ร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งในระหว่างทำกิจกรรมได้ประกาศว่าขณะนี้กระทรวงมหาดไทย กำลังเตรียมการ Kick-Off คืนดินดีให้ผืนแผ่นดินไทย สร้างสรรค์ความสมดุลธรรมชาติและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้เป็นแผ่นดินทอง เนื่องในโอกาสวันดินโลก 5 ธ.ค.ที่จะถึงนี้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายที่จะ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งตั้งใจจะเริ่มต้นในเดือนธ.ค. 2565 เนื่องจากเป็นเดือนแห่งวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยถือโอกาสวันที่ 5 ธ.ค. 2565 นี้เป็นวัน Kick-Off กิจกรรม นอกจากนี้ วันที่ 5 ธ.ค.ของทุกปี ยังเป็นวันสำคัญของนักปฐพีวิทยาทั่วโลก และเป็นที่น่าภาคภูมิใจเนื่องจากวงการปฐพีวิทยานานาชาติ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science : IUSS) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้มีฉันทานุมัติเลือกวันที่5 ธ.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเป็น “วันดินโลก (World Soil Day)” เพื่อสร้างความตระหนักให้คนรุ่นหลังได้รับทราบถึงความสำคัญของ “ดิน” ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ในด้านการพัฒนาการเกษตร ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มนุษย์ใช้ดินเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและเมือง เป็นที่ทิ้งขยะ เป็นตัวกรองและทำน้ำให้สะอาดอีกทั้งยังเป็นการเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรดินขององค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวย้ำว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย กลไก บวร บรม ครบ และพี่น้องประชาชน Kick-Off ขับเคลื่อนช่วยกันพลิกฟื้นดินที่ย่ำแย่ ที่ถูกตัดต้นไม้ทำลายป่า ทำลายหน้าดิน จนทำให้พื้นที่แห้งแล้งเป็นทะเลทราย ดินขาดธาตุอาหารที่สมบูรณ์ โดยถือโอกาสวันที่ 5 ธ.ค. 2565 ตามที่สหประชาชาติ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็น“วันดินโลก” เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดินและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ด้วยการช่วยกันน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนอง นา น้อมนำหลักกสิกรรมธรรมชาติ น้อมนำการใช้ชีวิต การบริหารจัดการขยะ การนำขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์ มาทำเป็นปุ๋ยหมัก ใบไม้วัชพืช มาห่มดินคลุมดิน หรือมาใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อน เลิกใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เพื่อให้ผืนธรณีของเรากลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง คืนความสมบูรณ์ด้วยหลักธรรมชาติตามหลักทฤษฎีใหม่ ที่ส่งเสริมการเกื้อหนุนในการดูแล ดิน น้ำ ป่าพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ คืนดินดีให้ผืนแผ่นดินไทย สร้างสรรค์ความสมดุลธรรมชาติ และระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้เป็นแผ่นดินทอง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า พวกเราทุกคน คือ พลังสำคัญในการช่วยกันขับเคลื่อนทำให้ผืนดินทั่วประเทศไทย ที่เป็นแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ได้กลับกลายไปเป็น “แผ่นดินทอง” อีกครั้ง ซึ่งคำว่า แผ่นดินทอง หรือ “สุวรรณภูมิ” นั้นก็ไม่ได้มาจากโชคช่วยแต่หากเกิดจากสิ่งที่บรรพบุรุษของเราได้รักษาจนมาเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเรา เราผู้เป็นคนรุ่นหลังก็ต้องใช้กันอย่างรักษา ไม่ทำลายดิน ไม่ทำลายป่า ต้องรู้จักคัดแยกขยะ ขยะรีไซเคิลก็นำไปขาย ขยะอันตรายก็รอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปทำลายให้ถูกวิธี อะไรที่ย่อยสลายได้ ขยะเปียกอินทรีย์ ก็ให้ย่อยสลายโดยธรรมชาติ หรือให้เป็นอาหารสัตว์ ด้วยการทำให้ทุกบ้านเรือนมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบ 100% ภายในสิ้นเดือนพ.ย. 2565 อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ลดภาวะโลกร้อน คือ การลดก๊าซไข่เน่า อีกส่วน คือ ช่วยปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น ระดับไหน ก็มีส่วนช่วยทำให้แผ่นดินร่มเย็น จุลินทรีย์ที่ได้จากการหมักเศษซากขยะเปียก ก็เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มธาตุอาหาร การใช้วัสดุธรรมชาติมาห่มดินการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ล้วนแต่มีส่วนช่วยคืนชีวิตให้แผ่นดิน ทุกขั้นตอน ทุกความตั้งใจจะประสบผลได้ดีนั้น ต้องอาศัยความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมและการลงมือทำซึ่งคนมหาดไทยเป็นกลไกสำคัญที่จะต้องขยายผลเพื่อร่วมเป็นพลังของภาครัฐ บูรณาการหน่วยงานต่างๆ มาร่วมจัดกิจกรรม เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั่วประเทศ

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ ได้เยี่ยมชมแปลงโคก หนอง นา CLM ของนายวราวุฒิ และได้กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อมาให้กำลังใจและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงสิ่งที่กำลังทำในแปลง CLM แห่งนี้ ที่ต้องขอขอบคุณคุณวราวุฒิ วงศ์มั่น และคุณศักดิ์สยาม หลักคำ ผู้เป็นบุคคลต้นแบบร่วมกับผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และผู้นำท้องถิ่น ซึ่งทั้งสองท่านถือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล เป็นครู เป็นต้นแบบ ช่วยดึงคนอื่น ให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่ง “โคก หนอง นาเป็นการพัฒนาพื้นที่และมีการดำเนินการที่ไม่ใช่แค่งานแบบเกษตรทฤษฎีใหม่เท่านั้น เพราะเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นเพียง 1 ใน 40 ทฤษฎี ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้พวกเรานำมาใช้เป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจะเห็นได้ว่า โคก หนอง นา มีเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นการบริหารจัดการที่ดินที่เหมือนกับเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยสัดส่วนการแบ่งพื้นที่ใช้สอยแปลงที่ดินตามหลักการคือ เป็นพื้นที่ปลูกพืช ร้อยละ 30 เป็นพื้นที่ทำนา ร้อยละ 30 มีหนองเก็บน้ำ ร้อยละ 30 และเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์รวมถึงใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 10 สิ่งที่เป็นความต่าง คือ การน้อมนำมาประยุกต์สู่โคก หนอง นา นั้น จะมีพื้นที่เก็บน้ำที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ตะพัก และหนองน้ำมีเส้นรอบรูปและรูปทรงค่อนข้างอิสระแบบ free-from มีระดับสโลปของที่ดินและขอบคันหนองน้ำแบบลาดเอียง ไม่ใช่เป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ตัดตรงมีความลึกและชันมากเกินไปจนปลาไม่สามารถมีที่วางไข่ได้อย่างเหมาะสม และการที่มีตะพัก หรือขอบคันหนองนน้ำที่ลดระดับเป็นชั้นๆ นั้นยังมีข้อดี คือ เมื่อน้ำแห้งบริเวณตะพักนั้นก็สามารถใช้ปลูกพืชล้มลุกได้ แต่หากช่วงน้ำเยอะก็จะเป็นที่หากินของสัตว์น้ำ เป็นที่วางไข่ของปลา มีประโยชน์ได้หลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีคลองไส้ไก่ หลุมขนมครก ที่ได้พระราชทานไว้ให้ รวมถึงยังมีการปลูกป่า 5 ระดับ หรือป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างที่เรามักไม่ได้พูดถึง ในเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่โคก หนอง นา ตามหลักหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์นั้นคำนึงถึงหลักความสมดุลของธรรมชาติ คือ ป่าจริงๆ มีต้นไม้หลากหลาย อยู่อย่างเกื้อกูลกัน เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ มีประโยชน์ใช้สอยทั้งระยะสั้น และระยะยาว ระยะสั้น ไม้ฟืนใช้ประกอบอาหารระยะยาวไม้ใช้สร้างบ้านได้ และเป็นมรดกกองทรัพย์ให้ลูกหลาน เช่น ปลูกต้นพะยูงในที่ดิน การห่มดินให้ดินเลี้ยงพืช ดังนั้น โคก หนอง นา จึงเป็นการนำทฤษฎีใหม่มาใช้ได้มากมายหลายประการ

“ขอเป็นกำลังใจให้ เหล่าผู้นำต้นแบบ รวมทั้งทีมงานพี่เลี้ยง บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) ที่ขับเคลื่อนงานภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอให้มีกำลังใจที่ดี และความมุ่งมั่นที่จะทำให้ผืนแผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินทอง นอกจากนี้ยังมีมีที่ปรึกษาที่เมตตาอย่างยิ่ง อย่างท่านเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลีและท่านเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส นำผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา ไปช่วยเหลือแบ่งปันเพื่อนร่วมสังคมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นงานสาธารณสงเคราะห์อย่างแท้จริง ตลอดจนผู้นำชุมชนต้นแบบในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมากมายหลายท่าน และพี่น้องประชาชนผู้มีจิตใจรุกรบทุกคน ที่ได้เข้าร่วมอุดมการณ์ สร้างอุบลราชธานีให้เป็น “มหานครโคก หนอง นา” และขอให้ทุกท่านได้ช่วยกันสานฝันให้ประเทศไทยของพวกเราถูกพลิกฟื้นคืนสิ่งที่ดีให้กับแผ่นดิน สร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของทรัพยากรดินทุกช่องทาง ทั้งทางออนไลน์ สื่อดิจิทัล การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยน และลงมือฝึกปฏิบัติต่างๆ เพื่อสนองตอบพระราโชบายและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใย ทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ ประเทศชาติมั่นคง เป็นปึกแผ่น และประชาชนของพระองค์มีความรัก ความสามัคคี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและด้วยพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ จากพระราชบิดา“พ่อของแผ่นดิน” ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป รวมถึงพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคงประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อร่วมกันแก้ไขในสิ่งที่เคยทำผิดพลาด ด้วยการเริ่มต้นใหม่ เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนให้เกิดความไพบูลย์อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

Leave a Reply