ข่าวการทุจริตสอบบาลีและจะทำร้ายพระภิกษุผู้นำข้อสอบไปเปิด ณ จังหวัดนครนายก กลายเป็น “ปัญหาใต้พรม” ที่กำลังถูกสื่อ “ขุดคุ้ย” และตีแผ่ให้สังคมรับรู้อย่างกว้างขวาง
ที่ผ่านข่าวการทุจริตการสอบบาลี แม้จะรับรู้และมีเสียงซุบซิบใน “วงแคบ” ของสังคมสงฆ์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ทุจริตสอบที่สนามสอบจังหวัดนครนายก กลายเป็น “ประเด็นร้อนฉ่า” ทันทีในวงการคณะสงฆ์
เพราะสังคมสงฆ์ชาวพุทธไทยให้การยอมรับใน “การเป็นตัวแทนแห่งความดี,บริสุทธิ์,และมีสุจริตเป็นที่ตั้ง,เป็นสังคมของผู้ทรงศีล“ ซ้ำการสอบบาลีถือว่าเป็นการวัดความรู้ของคณะสงฆ์ที่ “เข้มงวด” ที่สุดแขนงหนึ่งในบรรดาการวัดผลสอบในประเทศไทย
การทุจริตสอบบาลีสนามสอบแม้เกิดขึ้นที่จังหวัดนครนายก แต่สะเทือนถึง “อาสนะ” พระพรหมโมลี ในฐานะแม่กองธรรมบาลีสนามหลวง ซึ่งตอนนี้คงรอ “ผลสอบสวน” จากเจ้าคณะจังหวัดนครนายก พระราชพรหมคุณ และบทบาทของพระพรหมโมลี ในอนาคต
มีหลายคนตั้งคำถามว่า เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้นแบบนี้ บทลงโทษตามกฎมหาเถรสมาคมมีอะไรบ้าง ขอนำ “ประกาศของสมเด็จพระสังฆราช” เมื่อปี พ.ศ. 2475 มาเผยแพร่ต่อ เนื่องจากคำประกาศของมหาเถรสมาคมล่าสุดยังไม่ปรากฏให้เห็น
ในคราวประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ประชุมที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ความว่า
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ปรารภการสอบไล่ธรรมวินัย และบาลีสนามหลวงว่า ก่อนนักเรียนจะสอบ เจ้าหน้าที่อ่านประกาศของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ห้ามถามกัน บอกกันเป็นต้นเสมอ ประมาณ 10 ปีแล้ว ยังมีนักเรียนทำทุจริตในเวลาสอบทุกปี ขืนดื้อล่วงคำสั่งทำทุจริต ผิดมารยาทของพระเณร ส่อว่า ความรู้ที่ได้เล่าเรียนไว้ไม่ให้ผลดี เป็นกิริยา ที่เลวทรามเสียหายทั้งตนและพระศาสนา ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอบรม พอมีนิสัยหยาบ ไม่มีหิริโอตตัปปะ ธรรมที่เป็นของละเอียด ไม่เป็นอาชญา พอที่จะปราบปรามได้ เสื่อมศรัทธาเลื่อมใสของมหาชนที่เคารพนับถือ เป็นที่ดูหมิ่นของพาหิรกชน
มหาเถรสมาคมมีความเห็นร่วมกัน จึงให้ประกาศว่า
@ ต่อไปนี้นักเรียนใดฝ่าฝืนทำทุจริตในเวลาสอบด้วยประการใด ๆ สนามหลวงจักลงโทษห้ามไม่ให้นักเรียนนั้นเข้าสอบในสนามหลวงมีกำหนด 5 ปี ถ้าพ้นกำหนด 5 ปีแล้วทำทุจริตอีก ห้ามไม่ให้สอบจนตลอดชีวิต
@ ถ้าเจ้าหน้าที่ทำการเกี่ยวกับการสอบ ผู้ใดทำทุจริต เช่น ช่วยบอกนักเรียน หรือมีเจตนาทำต้นประโยคให้รั่วเป็นต้น จักให้ลงโทษผู้นั้นดังนี้ ถ้าผู้นั้นมีสมณศักดิ์ราชทินนาม จักขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดจากสมณศักดิ์ ถ้าผู้นั้นเจ้าคณะตั้ง จักให้ถอดเสียจากสมณศักดิ์ จักให้ลงทัณฑกรรมตามสมควรแก่โทษ และไม่ให้เกี่ยวข้องกับสนามหลวงอีก
@ ถ้าแม่กองหรือกรรมการ เห็นประโยคไหนน่ารังเกียจว่า สอบเป็นทุจริต เช่น ดูของผู้อื่นไม่ใช่สอบด้วยความรู้ของตน เป็นต้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่หรือแม่กองตั้งกรรมการขึ้นตามสมควร แล้ววินิจฉัยด้วยความเห็นชอบพร้อมกัน หรือตามส่วนข้างมาก แล้วจัดทำไปโดยชอบ
ประกาศตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2475
กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
Leave a Reply