พระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยพื้นฐานโดยส่วนใหญ่มาจากภาคชนบท มีความผูกพันธ์และชินกับภาพบรรยากาศในต่างจังหวัดที่อุดมไปด้วยพืชผลทางเกษตรมองไปทางไหนก็สบายตาด้วยความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้และพืชพัก
การซึมซับบรรยากาศการทำเกษตรของปู่ย่า ตายาย และครอบครอบครัวมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อบวชเรียนเข้ามาสู่ตัวเมืองและปฎิบัตศาสนกิจในเมืองที่เต็มไปด้วยความแออัด เต็มไปด้วยมลพิษและการแข่งขัน รวมทั้งบางรูปต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการงานที่ทำ และอีกหลากหลายปัจจัย
ปัจจุบันมีพระภิกษุจำนวนมาก “หันกลับไปพัฒนา” บ้านเกิดถิ่นกำเนิดด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นาโมเดล” หรือจะเรียกอะไรก็ตามที
แต่ทั้งหมดคือ การหันกลับไปสู่สังคมการพึ่งพาคนเองและชุมชนพึ่งพาตนเอง ไม่ยอมศิโรราบต่อ “ระบบทุนนิยม” ที่นับวันนอกจากทำลาย “ความเป็นอิสระในตัวมนุษย์” ทำงานระบบธรรมชาติแล้ว ยังทำลายระบบการพึ่งพาตนเอง ระบบเกื้อกูล ที่มนุษย์ควรจะเป็นระหว่างมนุษย์ด้วยกันอีกด้วย
รายงานพิเศษวันนี้เวปไซต์ข่าว “เดอะบุ๊ด” ขอนำเสนอกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นาโมเดล ซึ่งดำเนินกิจกรรมโดยพระภิกษุสงฆ์ และเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่สังคมรู้จักและถือเป็น “ต้นแบบ” จำนวน 6 รูป ซึ่งความจริงกิจกรรมในลักษณ์นี้ พระภิกษุสงฆ์กำลังทำมีนับร้อยรูป แต่วันนี้ขอเสนอเพียง 6 รูป ประกอบด้วย
1.วัดชัยมงคลพัฒนา จ.สระบุรี สถานที่จุดเริ่มต้นเกษตรทฤษฎีใหม่
เมื่อปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสให้นายสุเมธ ตันติเวชกุล นายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ และ นายพิมล ศักดิ์สุวรรณทัต กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาจัดซื้อที่ดินที่ติดกับวัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ซึ่งผู้ขอไปเจรจาซื้อที่ดินชาวบ้านคนแรกคือ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน
โดยต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามจากวัดมงคลเป็นวัดมงคลชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2535 เป็นต้นมา
จากพระราชกระแสข้างต้นมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้จัดซื้อและมีผู้บริจาคที่ดินบริเวณดังกล่าวรวม 32 -0 – 47 ไร่ เพื่อนำมาพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยให้ใช้สถานที่ดังกล่าวดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เป็นศูนย์สาธิตการดำเนินเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม สามารถให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพออยู่พอกิน ซึ่ง โครงการดังกล่าวนับเป็นจุดกำเนิดของ เกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรกในประเทศไทย ณ วัดชัยมงคลพัฒนา จ.สระบุรี
2.ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย โดย ว.วชิรเมธี
ก่อตั้งขึ้นโดยท่าน ว.วชิรเมธี หรือ พระเมธีวชิโรดม เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น “ศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาคมโลก” (International Meditation Center) รมณียสถานแห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่ 217 บ้านใหม่สันป่าเหียง ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย บนเนื้อที่กว่า 170 ไร่
ทิศเหนือติด ทุ่งนา ทิศใต้ติดอ่างเก็บน้ำห้วยสัก ทิศตะวันออกติดอ่างเก็บน้ำห้วยสัก ทิศตะวันตกติดถนนของชุมชนนอกจากเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ยังเป็นที่ตั้งของ สำนักงานมูลนิธิวิมุตตยาลัย สถาบันวิมุตตยาลัย มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ (สถาบันการศึกษาทางเลือกเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาพุทธเศรษฐศาสตร์) โดยที่มาของชื่อ เชิญตะวันนั้นหมายถึง “เชิญธรรมะมาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต” ธรรมะเป็นดั่งดวงตะวัน เมื่อดวงตะวันอุทัยขึ้นมาความมืดก็อันตรธานไป ฉันใด เมื่อธรรมะอุบัติขึ้นมาในใจของผู้ใด ความหลงก็ปลาสนาการไป ฉันนั้น ไร่เชิญตะวัน จึงเป็นดั่งรมณียสถานในการฝึกตน เพื่อก้าวพ้นจากความมืดมนอนธการของชีวิตและบรรลุสู่ภาวะ “โชติช่วงดั่งดวงตะวัน”
ที่นี่มีมหาวิทยาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์,มีโรงเรียนชาวนา,สถานที่อบรมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
3. ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ บ้านหนองบอน จ.สุรินทร์ โดย พระสังคม ธนปญฺโญ
พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์เกิดในครอบครัวชาวนา ได้เห็นความลำบากยากจนของเกษตรกรชาวนาอีสานมาตั้งแต่เล็ก จึงอยากหนีความลำบากด้วยการศึกษาจนจบด้านการเกษตรจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ และระดับปริญญาตรีด้านการส่งเสริมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากนั้นไปทำงานในเรือสำราญที่สหรัฐอเมริกาจนสามารถปลดหนี้สินให้พ่อแม่ได้
เมื่อกลับมาประเทศไทย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ แห่งวัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี ได้ส่งพระสังคมไปบูรณะที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม จ.เชียงใหม่ ได้เห็นความศรัทธาของชาวบ้านที่ยากจนจึงอยากช่วยเหลือให้พ้นจากความยากจนและเพื่อแก้ปัญหาให้เยาวชนได้รับการศึกษาและยังสามารถช่วยพ่อแม่ทำงานได้โดยไม่ต้องทิ้งบ้านไปเรียนในเมือง จึงเริ่มดำเนินการแบบชุมชนพึ่งพาตนเอง โดยใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
จากการที่พระอาจารย์สังคมได้ลงพื้นที่ไปพัฒนาชุมชนในที่ต่าง ๆ แต่ยังติดค้างในใจที่ยังไม่ได้ตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด จึงชักชวนชาวบ้านไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตั้งโครงการ “แทนคุณแผ่นดินเกิด” เพื่อหาทุนช่วยเหลือชาวบ้านที่อยากทำโคก หนอง นา และก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2558
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ มีพื้นที่ 26 ไร่ เป็นที่ดินของ 3 พี่น้องตระกูลขุนศิริ คือ สงคราม ขุนศิริ (พี่ชาย) พระสังคม ธนปัญโญ และบุสดี ขุนศิริ (น้องสาว) ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ สร้างพื้นที่ตัวอย่างเพื่อให้คนมาเรียนรู้ดูงานและเริ่มเปิดการอบรมในปี พ.ศ. 2563
ในปีที่ 2 ของโครงการฯ (พ.ศ. 2557) พระอาจารย์สังคมได้ชักชวนเขมนิจ จามิกรณ์ (แพนเค้ก) และพิษณุ นิ่มสกุล (บอย) ดาราที่มาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ปี 1 มาซื้อที่ดินคนละ 3 ไร่ ใกล้กันกับศูนย์ฯ เพื่อสร้าง “โคก หนอง นา ดาราโมเดล” เพราะจะทำให้ชาวบ้านสนใจมากขึ้น ด้วยเป้าหมายที่จะพลิกฟื้นแผ่นดินอีสานให้สมบูรณ์เหมือนเช่นที่ท่านเคยพบเห็นตอนเป็นเด็ก โดยลงจอบแรกในปี พ.ศ. 2558
เพราะทุกข์ของชาวบ้านคือความยากจน ศาสตร์พระราชาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาที่มั่นคงและยั่งยืน พุทธศาสนากับศาสตร์พระราชามีหลักการเดียวกันอันจะสร้างความร่มเย็นเป็นสุขในสังคม เป้าหมายสูงสุดทางโลกของพระนักพัฒนาท่านนี้ คือ การมีโรงเรียนทางเลือกตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงปริญญาเอกเรื่องศาสตร์พระราชา ส่วนทางธรรมคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
4.โคก หนอง นา สันติศึกษาโมเดล จ.ศรีสะเกษ โดย พระมหาหรรษา ธมฺหาโส
พระมหาหรรษาธมฺมหาโส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ (IBSC) ผู้อำนวยการโครงการสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ในแวดวิชาการถือว่า เป็นพระนักปราญ์รุ่นใหม่ เป็นพระนักสันติวิธี ดาวรุ่ง เชี่ยวชาญทั้งทางโลกและทางธรรม
ช่วงเกิดวิกฤติการสถานกรณ์โควิด-19 มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสอนและเรียนทางออนไลน์ผนวกกับท่านมีปัญหาเรื่องสุขภาพ
ด้วยความใกล้ชิดและติดตามผลงานของพระสังคม ธนปญฺโญ มายังต่อเนื่อง ผนวกกับต้องการกลับไปพัฒนาบ้านเกิดที่บ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ จึงหันมาทำ “โคก หนอง นา สันติศึกษาโมเดล” บนที่ดินของคุณแม่ของท่าน
ปัจจุบันโคก หนอง นา สันติศึกษาโมเดล ด้วยความที่พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ลงมือทำเอง วางแผนเอง จึงมีลูกศิษย์ ,บุคคลที่เคารพนับถือ รวมทั้งข้าราชการในพื้นที่เข้าไปร่วมด้วยช่วยกันเป็นอย่างดียิ่ง
อนาคต โคก หนอง นา สันติศึกษาโมเดล คงเจริญรอยตาม “ไร่เชิงตะวัน” ของพระเมธีวชิโรดม ผู้เป็นกัลยาณมิตรของท่านยังไม่ต้องสงสัย
5. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านชะบา จ.ศรีสะเกษ โดย พระมงคลวชิรากร วัดยานนาวา กรุงเทพ
พระมงคลวชิรากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นศิษย์ผู้สนองงานใกล้ชิดสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม มากที่สุดรูปหนึ่ง
การสำนึกรักบ้านเกิด ของพระมงคลวชิรากร จึงเริ่มต้นเหมือนกับพระภิกษุสงฆ์รูปอื่นคือต้องการให้ชุมชนหมู่บ้านของตนเอง “พึ่งพาตนเอง” ได้ แบบพอกิน พอใช้ พออยู่ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และตามแนวเกษตรทฤษฏีใหม่ สู่ “โคก หนองนาโมเดล” ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีพระราชปณิธานต้อง สืบสาน รักษา และต่อยอด สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระองค์ได้ทรงวางรากฐานเอาไว้
การให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระมงคลวชิรากร เริ่มต้นด้วยคนในครอบครัวเก่าของท่าน เช่นพี่เขย น้องเขย พี่สาว น้องสาว และกระจายอยู่ในหมู่บ้าน โดยท่านประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งทหาร ฝ่ายปกครอง ให้มาช่วยพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เช่นสระน้ำขนาดใหญ่ ,ดึงหน่วยงานภาครัฐให้มาสอนอาชีพให้กับชาวบ้านและช่วยหาตลาดให้ด้วย ท่านทำในลักษณะแบบนี้ครอบคลุมประมาณ 3 อำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ
ปัจจุบันมีครัวเรือนและหมู่บ้านเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
6. ไร่พุทธเกษตรสวนฮักนาแพง สำนักปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมาราม จ.สระแก้ว โดย.. พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี
ไร่พุทธเกษตร สวนฮักนาแพงตั้งอยู่ในพื้นที่ของสำนักปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมาราม ต.หนองสังข์ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ บริจาคโดย คุณพ่อสุดใจ คุณแม่สมพิศ สิทธิพล ซึ่งเป็นโยมบิดาและมารดาของ พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2555 โดย พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสังข์กระจาย กรุงเทพมหานคร, รองประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี
ด้วยศาสนกิจหลักของสำนักปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมารามนั้นเป็นทั้งสถานปฏิบัติธรรม และเป็นสถานที่อบรมเข้าค่ายคุณธรรมของโรงเรียนต่างๆ ซึ่งมาเข้าค่ายและพักค้างคืนที่สำนักปฏิบัติธรรม
ทางสำนักปฏิบัติธรรมจึงเห็นว่าบางโรงเรียนมีงบประมาณน้อยจึงได้คิดหาวิธี ที่จะช่วยให้โรงเรียนต่างๆ ไม่ต้องเสียงบประมาณเยอะเกินไปจึงได้เกิดแนวคิดของการทำ “ไร่พุทธเกษตร สวนฮักนาแพง” เพื่อชวนนักเรียน ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้บริหารสถานศึกษามาปลูกข้าวทำนา ทำสวนปลูกผัก ผลไม้แล้วนำเอาผลผลิตมาใช้ในการทำอาหารให้กับนักเรียนที่มาเข้าค่ายและต้องการรักษาประเพณีและวิถีการทำนาแบบดั่งเดิม เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง ในการพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้รับความสนใจจากสถานศึกษาและชาวบ้านเป็นจำนวนมาก
จนเกิดเป็นกิจกรรม “ถอนกล้าดำนาบุญ” โดยในปี 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เดินทางมาเป็นประธานในการถอดกล้าดำนาบุญ จนไร่พุทธเกษตร สวนฮักนาแพง ได้พัฒนาจากสวนเกษตรมาเป็น “สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร”
โดยภายในส่วนมีสะพานกลางทุ่งนา สวนดอกไม้ สวนมะนาว สวนลำใยสวนชมพู่ สวนฝรั่ง พืชผักสวนครัว
นอกจากผลผลิตที่ได้จากไร่พุทธเกษตร นำมาเป็นอาหารสำหรับค่ายธรรมะและคอร์สภาวนาปฏิบัติธรรมของประชาชนทั่วไปแล้วยังได้มอบเป็นกองทุนอาหารกลางวันนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ เป็น “กองทุนสังฆะประชาปันสุข” เพื่อผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนไร้ที่พึ่ง ผู้เปราะบางในสังคม ในนามโครงการ “สังฆะประชาปันสุข คณะสงฆ์อำเภออรัญประเทศ”
สำหรับท่านใดต้องการไปเยี่ยมชมไร่พุทธเกษตร สวนฮักนาแพงสำนักปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมารามต.หนองสังข์ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โทร 087-812-4190, 097-227-3818
ปัจจุบันมีวัดและพระภิกษุอีกหลายรูปที่มิได้เอ๋ยชื่อไว้ ณ ที่นี้ที่เป็นแกนนำในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่สู่ “โคกหนองนาโมเดล” หรือการทำงานเกษตรตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง…..
Leave a Reply