“พระหลวงปู่ทวด” วัดช้างให้ จ.ปัตตานี ถือเป็นพระประเภทนิรันตราย ถือว่าประสบการณ์ชัดเจน มีประสบการณ์ด้านแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุเป็นเลิศ ผู้ที่นับถือต่างพบเห็นประสบการณ์มากมาย จนมีคำพูดว่า “แขวนพระหลวงปู่ทวดแล้วไม่ตายโหง”
คติความเชื่อนี้เองทำให้มีการสร้างหลวงปู่ทวดออกมาจำนวนมาก จนมีคำพูดในวงการสร้างพระเครื่องว่า “สร้างพระหลวงปู่ทวดอย่างไรก็ขายได้และไม่ขาดทุน”
ไม่น่าเชื่อว่าพระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ซึ่งสร้างโดยพระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ธมมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ หรือเมื่อ ๖๕ ปีที่แล้ว จะโด่งดังสูงล้ำด้วยค่านิยม ชนิดไล่หลังพระสมเด็จวัดระฆังเลยทีเดียว ทุกวันนี้กลับกลายเป็นค่านิยมที่มีการแสวงหากันทั่วประเทศ
ส่วนรุ่นและองค์ที่ขึ้นชื่อว่าแพงสุดๆ และแพงกว่าพระสมเด็จ คือ “พระหลวงปู่ทวด รุ่นเลขใต้ฐาน ปี ๐๕” หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “เบตง ๑” โดยเฉพาะหมาย “เลข 999”
ทั้งนี้ มีการตั้งประเมินค่านิยมไว้ว่า “หากใครอยากได้พระหลวงปู่ทวด รุ่นเลขใต้ฐาน ปี ๐๕ หมายเลข 999 ต้องใช้เงินเช่าอย่างน้อย ๑๕ ล้านบาท”
ส่วนเหตุผลที่ทำให้พระหลวงปู่ทวด รุ่นเลขใต้ฐาน ปี ๐๕ หมายเลข 999 มีคาราสูงมานั้น มีเหตุปัจจัยอยู่ ๓ ประการ คือ
๑.ผู้สร้างมีชื่อเสียง เป็นยอมรับ
๒.จำนวนการสร้างชัดเจน ๙๙๙ องค์ มีการตอกเลขกำกับ ซึ่งใช้เป็นข้อศึกษา และ
๓.เนื้อนวโลหะเทได้ดีมาก เลขตัวเดียวแพงกว่า ๒ ตัว เลข ๒ แพงกว่า ๓ ตัว นอกจากจากนี้ถ้าเป็นเลขมงคลก็จะเแพงขึ้นไปอีก
ประวัติในการจัดสร้าง พระเครื่อง หลวงปู่ทวด รุ่นเลขใต้ฐานเกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ทางวัดพุทธาธิวาสยังขาดทุนทรัพย์ในการก่อสร้างวิหารหลวงปู่ทวด คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย
คุณสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกาซึ่งสมัยนั้น ท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาล อ.เบตง จ.ยะลา คุณชะลอ คุณเริ่ม คุณเรียง จึงจัดสร้างหลวงปู่ทวดรุ่นเลขใต้ฐานขึ้น โดยคุณสวัสดิ์เป็นผู้เดินทางไปจุดธูปขออนุญาตต่อหน้าสถูปหลวงปู่ทวด ที่วัดช้างให้โดยท่านอาจารย์ทิมเป็นผู้เห็นชอบด้วย
การสร้างครั้งนี้ถือว่าเป็นการสร้างรูปหล่อโลหะหลวงปู่ทวดเป็นครั้งแรก โดยพิธีเททองหล่อในครั้งนั้นกระทำขึ้นที่บ้านนายช่างจรัสพัฒนางกูล บ้านช่างหล่อ กรุงเทพฯ โดยมีพระราชสังวราภิมณฑ์ หรือหลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ วัดประดู่ฉิมพลีเมตตาไปเป็นประธานนั่งปรกในพิธีเททองหล่อในครั้งนั้นด้วย
ท่านอาจารย์ทิมยังได้มอบผงหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นแรก เพื่อนำไปบรรจุในองค์พระหลวงปู่ทวดรุ่นนี้ด้วยอีกทั้งยังเดินทางไปเป็นผู้อุดผงด้วยตนเองในพิธีครั้งนั้นด้วย
ในการหล่อครั้งนั้นได้รูปหล่อที่ตัดจากชนวนแล้ว จำนวน ๙๙๙ องค์ มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ตัดออกจากชนวน องค์พระติดอยู่เป็นช่อ มีทั้งช่อละ ๙ องค์และช่อละ ๑๓ องค์ มีประมาณไม่เกิน ๑๐๐ ช่อ
พระเครื่องหลวงปู่ทวดรุ่นเลขใต้ฐานนี้ลักษณะเป็นองค์หลวงปู่ทวดนั่งขัดสมาธิโดยไม่มีบัวคว่ำ บัวหงาย องค์พระเครื่องสูงประมาณ ๑ นิ้ว ฐานสูงประมาณ ๑/๒ ซม.กระแสเนื้อบนพื้นผิวจะออกกระแสแดง
เมื่อได้สัมผัสการใช้ผิวจะออกดำ ใต้ฐานจะตอกหมายเลข ๑-๙๙๙ เป็นเลขอารบิคคมชัดทุกองค์ หากพลิกแล้วสังเกตที่ใต้ฐานให้ดีจะเห็นรอยปิดก้นซึ่งบรรจุผงเนื้อว่านเอาไว้ ด้วยโลหะชนิดเดียวกันอย่างแนบเนียน
หลังจากที่บรรจุผงเนื้อว่านและตอกหมายเลขเรียบร้อยแล้วทางคณะกรรมการ จึงได้นำกลับมาเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดช้างให้โดยท่านอาจารย์ทิมได้เมตตาปลุกเสกให้เป็นกรณีพิเศษ
หลังจากนั้นจึงนำไปที่วัดพุทธาธิวาสเพื่อออกให้เช่าบูชาในราคาองค์ละ ๑๐๐ บาท เท่านั้น
สำหรับภาพพระองค์ครูวันนี้เป็นพระหลวงปู่ทวด เลขใต้ฐานรุ่นแรก ปี ๒๕๐๕ หมายเลข 999 ของ “นายทองเพิ่ม อุปริมทิศ” ซึ่งเป็นชื่อและนามสกุลใหม่ของนายสมชาติ ศรีรัตนารุ่งเรือง หรือ “เสี่ยสมชาติ” เจ้าของธุรกิจรังนก มีการตั้งประเมินค่านิยมไว้ว่า
“หากใครอยากได้พระหลวงปู่ทวด รุ่นเลขใต้ฐาน ปี ๐๕ หมายเลข 999 ต้องใช้เงินเช่าอย่างน้อย ๑๕ ล้านบาท
สำหรับ ๑๐ ลำดับของความนิยม ประกอบด้วย
๑.พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นแรกวัดช้างให้ พิมพ์ใหญ่หัวขีด ค่านิยมหลักหลายแสนปลายๆ ถึงหลักล้าน
๒.พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นแรกพิมพ์ใหญ่บี ค่านิยมหลักหลายแสนถึงหลักล้าน
๓.พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นแรกพิมพ์ใหญ่ไหล่จุด ค่านิยมหลักหลายแสน
๔.พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านพิมพ์พระรอดหน้าใหญ่ ค่านิยมหลักแสนถึงหลายแสน
๕.พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านพิมพ์อื่นๆ ล้วน ค่านิยมหลักแสนทั้งสิ้นถ้าสภาพสวย
๖.พระหลวงปู่ทวดพิมพ์หลังเตารีดใหญ่เนื้อนวโลหะ พ.ศ.๒๕๐๕ ค่านิยมหลักหลายแสน
๗.รูปหล่อโบราณพระหลวงปู่ทวดรุ่นเล็กใต้ฐาน พ.ศ.๒๕๐๕ ค่านิยมหลักหลายแสน
๘.เหรียญเสมาพระหลวงปู่ทวดรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๐ ค่านิยมหลักหลายแสนถึงล้าน
๙.รูปเหมือนพระหลวงปู่ทวดบัวรอบรุ่นใต้ฐานลายเซ็น พ.ศ.๒๕๐๘ ค่านิยมหลักแสน และ
๑๐.พระหลวงปู่ทวดหลังเตารีดใหญ่ กลาง เล็ก ล้วนแล้วแต่มีค่านิยมเป็นหลักหมื่นถึงแสน
Leave a Reply