เผยผลวิจัยสันติศึกษาป.เอก “มจร” ตามรูปแบบวิจัยอริยสัจโมเดล

วันที่ 14 กันยายน 2565 ที่ห้องพุทธปัญญา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พระปราโมทย์ วาทโกวิโท ดร.อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ได้ร่วมเป็นกรรมการสอบโครงร่างดุษฎีนิพนธ์นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) โดยเล่มที่เป็นกรรมการร่วมและมีโอกาสได้โค้ชพัฒนางานวิจัยผ่านวิธีคิดกับวิธีวิจัยเรื่อง “กระบวนการฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวันผ่านการโค้ชที่มีสติเป็นฐาน” โดยมีนางสาววราภรณ์ ศิริโอวัฒนะ เป็นผู้วิจัย ถือว่าเดินตามกรอบของการวิจัยตามแนวทางบันได 9 ขั้นของหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถือว่าเดินตามกรอบการวิจัยได้อย่างดียิ่งพร้อมเตรียมการนำเสนอต่อคณะกรรมการสอบได้เป็นอย่างดียิ่ง ถือว่าเป็นการวิจัยแบบอริยสัจโมเดลที่ออกแบบโดยพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย

1) ทุกข์ ขั้นวิเคราะห์ปัญหา วิเคราะห์บริบทของชุมชน วิเคราะห์ความจำเป็นของชุมชน วิเคราะห์ความต้องการของชุมชน หรือ กลุ่มเป้าหมายที่เราวิจัย
2) สมุทัย ขั้นวิเคราะห์สาเหตุของความทุกข์ เข้าใจตนเองจะมองคนอื่นออก เข้าใจกิเลสตนเองจะเข้าใจกิเลสในสังคม เป็นพุทธวิจัยนำไปสู่การรู้ตื่นและเบิกบาน
3) นิโรธ ขั้นวางเป้าหมาย เป็นการวางวิสัยทัศน์ มีการปักมุด องค์กรมีวิสัยทัศน์งานวิจัยสามารถมีวิสัยทัศน์ บอกให้ได้ว่าเราจะไปไหน เป้าหมายของงานวิจัยนี้คืออะไรต้องสามารถตอบให้ได้
4) มรรค ขั้นหากลยุทธ์ ขั้นของวิธีการว่าทำอย่างไรจะบรรลุเป้าหมายคือ นิโรธ จึงต้องพัฒนาเครื่องมือ กระบวนการที่เหมาะสม

Peace Research Model จะต้องดูโครงสร้างการวางบทของงานวิจัยถอดมาจากอริยสัจโมเดล ประกอบด้วย 1) ค้นหาปัญหาที่จะเขียน มองปัญหาให้ออกผ่านการตั้งชื่อวิจัย ผ่านมรรค 8 การตั้งชื่อเรื่อง เห็นหัวข้อเห็นวิสัยทัศน์เห็นกลยุทธ์ พุทธสันติวิธีคือวิธีการ ถ้าวิธีการดีจะนำไปสู่เป้าหมายบรรลุ ถ้างานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบจะต้องมีหลักการ วิธีการ กระบวนการ โดยเขียนความเป็นมาของการวิจัยจะต้องศึกษา “เนื้อหา บริบท แนวคิด” โดยการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาประกอบด้วย “ความเป็นมา ความสำคัญ ปัญหา” แนวทางการเขียนวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย 1)บริบท ปัญหา อุปสรรค สาเหตุ และหลักการแนวคิด ทฤษฎีสมัยใหม่ หรือร่วมสมัย บูรณาการ 2)หลักธรรม สร้างชุดสันติวิธี ใช้แก้ปัญหา ปรับปรุง พัฒนา หรือ ส่งเสริม วิธีการ จัดการกับปัญหาที่กล่าวในประเด็น 3)บูรณาการพุทธสันติวิธี สร้างรูปแบบสันติวิธี การนำไปใช้พัฒนาเพื่อจัดการกับปัญหา หรือ ตอบโจทย์ โดยการวางวัตถุประสงค์ของการวิจัยในระดับการวิจัยของหลักสูตรสันติศึกษาเพื่อตอบโจทย์การวิจัยตามอริยสัจ กรอบแนวคิดจะมีความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ โดยมุ่งให้ศึกษาให้มีกรอบสอดรับกับอริยสัจโมเดล ส่วนการดำเนินการวิจัยจะมองให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของการวิจัย

โดยมองถึงกรอบของบันได 9 ขั้นการวิจัย ประกอบด้วย 1)ศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของบุคคล ชุมชน องค์กร และสังคมก่อนดำเนินการ 2)ศึกษาวิเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี และถอดแบบอย่างของความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะวิจัยและพัฒนา 3)ศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธสันติวิธีที่เอื้อต่อพื้นที่ที่จะวิจัยและพัฒนา 4)บูรณาการหลักศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่เหมาะกับสภาพปัญหาและความต้องการ 5)สร้างกระบวนการ หรือหลักสูตรผ่านกระบวนการวิจัย 6)พัฒนาบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพื้นที่เป้าหมาย 7)ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นขาดการดำเนินการพัฒนาบุคคลหรือพื้นที่เป้าหมาย 8)นำเสนอองค์ความรู้ใหม่ (Body of Knowledge) 9)กระบวนการติดตาม รักษา และพัฒนาต่อยอดให้การพัฒนาในพื้นที่เป้าหมายมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

โดยสิ่งสำคัญจะต้องหาพื้นที่ในการพัฒนาการวิจัย เป็นการพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง โดยหาทฤษฎีมาเป็นกรอบ แนวทางการพัฒนา เครื่องมือในการศึกษา นำเสนอหลักพุทธสันติวิธีที่เอื้อต่อการนำไปพัฒนา บูรณาการ สร้างรูปแบบ หรือ กระบวนการ พัฒนา ส่งผลต่อ ได้องค์ความรู้ใหม่ และได้คำตอบประเด็นปัญหา จากนั้นมีการนำเสนองานวิจัยต้นแบบในการลงไปทำจริง สร้างสันตินวัตกรรมซึ่งสังคมได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

สิ่งที่ย้ำอย่างมากคือผู้วิจัยจะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งคือ “วิธีคิด กับ วิธีวิจัย” วิธีคิดคือ ทำไมถึงทำวิจัยเรื่องนี้ สามารถบอกความเป็นมาและความสำคัญ วัตถุประสงค์ คำถามวิจัย ขอบเขตการวิจัย นิยามศัพท์ ส่วนวิธีวิจัยคือ งานวิจัยชิ้นนี้มีวิธีการดำเนินการวิจัยอย่าง ? มีกรอบการวิจัยอย่างไร ? ผลที่คาดว่าจะได้รับเกิดสันตินวัตกรรมอย่างไร ? โดยเดินตามกรอบของบันได 9 ขั้นตามแนวทางของหลักสูตรสันติศึกษา มจร โดยเข้าใจต้นน้ำการวิจัย กลางน้ำการวิจัย และปลายน้ำการวิจัย

Leave a Reply