วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่สำนักวิปัสสนาภาวนามหาสีสาสนเยกต่า กรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมาร์ รศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล อาจารย์ อาจารย์ผู้ออกแบบพัฒนาซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ภาษาบาลี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปรับตัวพระนิสิตมหาบัณฑิต มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่สำนักวิปัสสนาภาวนามหาสีสาสนเยกต่า กรุงย่างกุ้ง หลังจากปฏิบัติครบ 7 เดือนเดินทางกลับประเทศไทย
พร้อมกันนี้พร้อมกันนี้ได้ถวายทุนการศึกษาแก่พระมหาสมชาย กิตฺติปญฺโญ พระนิสิตมหาบัณฑิต มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ที่เข้าศึกษาหลักสูตรบาลีพระไตรปิฎก ที่สำนักเตปิฏกมหาคันธาโยง กรุงย่างกุ้ง ประเทศสหภาพเมียนมาร์ โดยทุนดังกล่าวได้รับการอุปถัมภ์การศึกษาบาลีพระไตรปิฎกจาก ๑. เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ๒๐,๐๐๐ บาท ๒. พระเทพปริยัติมุนี (มีชัย วีรปญฺโญ) ๑๐,๐๐๐ บาท ๓. พระเทพสุวรรณเมธี (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ) ๑๐,๐๐๐ บาท ๔. พระศรีสุทธิเวที (ขวัญ ถิรมโน) ๓,๐๐๐ บาท ๕. นายธนิต นางอุบลฉัตร มาศรีนวล ๑๐,๐๐๐ บาท ๖. รศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล ครอบครัว เพื่อนสนิท อุปถัมภ์รายเดือน ๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท
รศ.ดร.เวทย์ กล่าวต่อว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเวลาติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๕ แต่ไม่เคยโพสต์เผยแพร่ในเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ใด ๆ ด้วยเหตุผลเดียว “กลัวพระนิสิตเรียนไม่จบ” ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไป ๑๐ กว่าปี (พ.ศ. ๒๕๕๑) ได้รับมอบนโยบายจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ให้นำนิสิตหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา รุ่นที่ ๓ จำนวน ๒๑ ท่าน ให้ไปเพิ่มพูนประสบการณ์การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ สำนักมหาสีสาสนเยกต่า กรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมาร์ ติดต่อกัน ๗ เดือน (รุ่นที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๙ ปฏิบัติ ณ วัดงุยเตาอูกัมมัฏฐาน ท่าขี้เหล็ก รุ่นที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๐ ปฏิบัติ ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรม ธรรมโมลี นครราชสีมา ดร.พระภัททันตะ วิโรจนะ ควบคุมดูแลตลอด ๗ เดือน)
ในการประสานงานสำนักวิปัสสนามหาสี ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับความเมตตาช่วยเหลือจาพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล ป.ธ.๙ วัดมหาธาตุ และ Dr.Htun Htun Oo คหบดี แห่งกรุงย่างกุ้ง ท่านอาจารย์พระมหาไพโรจน์ เป็นศิษย์เก่าสำนักเตปิฏกมหาคันธาโยง เป็นสำนักของพระภัททันตะ สุมังคลาลังการะ ซึ่งเป็นพระมหาเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกรูปที่ ๔ ขณะมีอายุเพียง ๒๘ ปีเท่านั้น นับเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกที่มีอายุเยาว์วัยที่สุด
พระมหาไพโรจน์มีบุญทันเห็นกราบไหว้ผู้ทรงพระไตรปิฎกและศึกษาจากผู้ทรงพระไตรปิฎก จนจบชั้นธรรมาจริยะ อุภโตวิภังค์ ใช้เวลาศึกษาและทำหน้าที่เป็นครูสอน ณ สำนักนี้ รวมเวลา ๑๘ ปี (๒๕๓๐ – ๒๕๔๘) นอกจากจะช่วยเหลือประสานงานทุกอย่างให้แล้ว ยังได้ทำหน้าที่ล่ามแปลในวันมอบตัวนิสิตหลักสูตรวิปัสสนาภาวนา ณ สำนักวิปัสสนามหาสี ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ และยังนำคณะเที่ยวกรุงย่างกุ้ง ชักชวนนำชมสำนักเตปิฏกมหาคันธาโยง ท่านได้เล่ารายละเอียดระบบการศึกษาคณะสงฆ์เมียนมาร์ การบริหารจัดการบาลีศึกษาสำนักเตปิฏกมหาคันธาโยง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์รู้สึกประทับใจ และมอบงานเพิ่มคือให้คัดเลือกนิสิตบาฬีศึกษาพุทธโฆส เข้าศึกษาบาลีพระไตรปิฎก ในสำนักนี้ให้ได้
“ตลอดระยะเวลา ๕ – ๖ ปี (๒๕๕๑ – ๒๕๕๗) ที่ผมบรรยายคัมภีร์กัจจายนะ ปทรูปสิทธิ สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ ก็กระตุ้น ส่งเสริม ปลูกฝังให้นิสิตอ่านศึกษาตัวคัมภีร์บาลีพระไตรปิฎก ท่องจำ ทรงจำสูตรกัจจายนะ ๖๗๓ สูตร เพื่อเป็นพื้นฐานเข้าศึกษา มีหลายรูปที่ทรงจำได้ทั้งหมด แต่ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ จนปี ๒๕๕๒ มีสามเณรสมชาย วัดมหาสวัสดิ์ นิสิตชั้นปีที่ ๑ สาขาบาลีพุทธศาสตร์ เป็นสามเณรสุภาพเรียบร้อย สีลาจารวัตรงดงาม สามารถทรงจำกัจจายนสูตรได้ครบ ๖๗๓ สูตรรับผิดชอบงานมอบหมายรายวิชาได้บริบูรณ์ เมื่อจบปีที่ ๔ สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค อายุครบอุปสมบท เป็น พระมหาสมชาย กิตฺติปญฺโญ จึงชักชวนท่านเข้าร่วมโครงการ”รศ.ดร.เวทย์ กล่าวและว่า
วันที่ ๗ เดือน ๗ ปี ๕๗ เดินทางมอบตัวนิสิตโครงการเตปิฏกบาลีศึกษา ๒ รูป เข้าศึกษา ณ สำนักเตปิฏกมหาคันธาโยง ท่านอาจารย์พระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล เมตตาเดินทางมามอบด้วยตัวท่านเอง เนื่องจากสำนักนี้ มีธรรมเนียมที่ถือมาตลอด คือ รับเข้าศึกษาเฉพาะสามเณรมีอายุไม่เกิน ๑๗ ปีเท่านั้น ท่านต้องอธิบายเจตนารมณ์เจ้าประคุณสมเด็จ ใช้เวลาพูดสื่อสารนานนับชั่วโมงสรุปได้ว่า ท่านเจ้าสำนักให้ทดลองอยู่และเรียนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น แม้จะผ่านกัจจายนะปทรูปสิทธิมาแล้ว
พระพี่เลี้ยงเดินแนะนำห้องเรียนห้องนอนเป็นสภาพที่ครูสอนและนักเรียนแต่ละชั้นเรียนนอนจำวัดห้องโถงใหญ่รวมกัน เมื่อถึงเวลาเรียนก็จัดห้องนอนเป็นห้องเรียน เรียนกันตลอดยกเว้นเวลาหลับ
ฉันภัตตาหารเช้าเพล รวมวงกันวงละ ๗-๘ รูป ในสภาพกับข้าวเพียงน้อยนิด เป็นภาพที่ต้องอาศัยความอดทน อดอยาก ได้พูดกับนิสิต ๒ รูปว่า “ท่านจะทนได้หรือไม่? “อยู่แบบนี้ได้หรือไม่”? ผ่านไปเพียง ๓ เดือนเท่านั้น เหลือเพียงพระมหาสมชาย กิตฺติปญฺโญ ที่ตั้งใจอดทน ศึกษา ท่องบ่นตำรา ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวที่ยังไม่กล้าโพสเล่าเรื่องราวบันทึกความทรงจำ “กลัวไปไม่รอด” จนผ่านไป ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับข่าวดีจากพระมหาไพโรจน์ “ท่านเจ้าสำนักรับพระมหาสมชายเข้าศึกษาอย่างถาวร ให้สอบสนามวัดได้ และจะส่งเสริมให้เรียนและสอบสนามรัฐบาลต่อไป”
“ปีที่ ๑-๓ ถวายทุนอุปถัมภ์เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ปีที่ ๔ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ถวายท่านเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ผ่านมา ๕ ปี ได้แต่พูดบอกเล่าบอกบุญขอทุนพระมหาเถร ท่านที่รู้จักคุ้นเคยกันเท่านั้น อาจารย์นิมิตร โพธิพัฒน์ ดำริให้เปิดบัญชีตั้งกองทุน “กองทุนการศึกษาภาษาบาลี” เผื่อสำรองฉุกเฉิน โดยหลวงพ่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ตั้งทุนแรกร่วมกับอาจารย์นิมิตร โพธิพัฒน์ ๒๔,๐๐๐ บาท เปิดบัญชี ๒๓/๘/๕๗ อาจารย์เจ้าคุณพระเทพปริยัติมุนี เพิ่มทุนให้ในบัญชี ๒๐,๐๐๐ บาท” รศ.ดร.เวทย์ กล่าวและว่า
เปิดบัญชีนี้ได้เพียง ๓ เดือนเท่านั้น อาจารย์นิมิตร โพธิพัฒน์ ก็ลาจากไป คงปล่อยให้คนเพียงคนเดียวดูแลอุปถัมภ์พระมหาสมชายบัญชีนี้ และไม่เคยโพตส์ในเฟซบุ๊กบอกบุญใคร ๆ เพราะมีพระมหาเถระที่เป็นหลักให้เข้ากราบขออุปถัมภ์ เมื่อต้องเดินทางไปงาน ณ กรุงย่างกุ้ง ๓ – ๔ ครั้งต่อปี และพระมหาสมชายก็ไม่เคยออกปากขอปัจจัยซื้อโน่น นั่น นี่ แม้แต่ครั้งเดียว พระมหาสมชายรับเฉพาะอุปถัมภ์รายเดือนที่จัดถวายเท่านั้น เมื่อโทรถามว่า มีปัจจัยจะซื้ออะไรเพิ่มหรือไม่ จะได้รับคำตอบว่า “พอแล้ว”
รศ.ดร.เวทย์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามวันนี้มีความมั่นใจลูกศิษย์ว่า “สามารถเรียนจนกว่าจะจบธรรมาจริยะ” ได้อย่างแน่นอน
Leave a Reply