คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ และภาคีเครือข่ายฯ ขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ประธานคณะอนุกรรมการฯ บรรยายสรุป “๓ พันธกิจ ๕ส เครื่องมือ ๗ แนวทางการดำเนินงาน ๙ แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่”
เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่พระวิหารวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พระราชกิตติรังษี เจ้าคณะจังหวัดศรีษะเกษ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระวินัยเมธี เจ้าคณะจังหวัดศรีษะเกษ (ธรรมยุต) และนายสุริยันต์ สาระบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเปิดการประชุมสัมมนา “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข จังหวัดศรีสะเกษ” โดยมีเจ้าคณะอำเภอทั้ง ๒ ฝ่าย รวม ๒๙ อำเภอ, เจ้าอาวาส, ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผู้นำชุมชน และผู้แทนองค์กรภาคีที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ของจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมการประชุมสัมมนาฯ โดยพร้อมเพรียงกัน
ในโอกาสนี้พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และประธานอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม ได้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “๓ พันธกิจ ๕ส เครื่องมือ ๗ แนวทางการดำเนินงาน ๙ แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่” เพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข มุ่งสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ในการสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส
โดยมีรายละเอียดการบรรยายโดยสรุป ดังนี้
– ๓ พันธกิจ คือ ๑. การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ, ๒.การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ, ๓. การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา
– ๕ส เครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อสร้างสัปปายะสู่วัด คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน, สร้างวินัย
– ๗ แนวทางการดำเนินงานสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส คือ ๑. ประกาศนโยบาย, ๒. กำหนดคณะกรรมการ, ๓. อบรมให้ความรู้, ๔. สำรวจพื้นที่ จัดทำแผนผังวัด และวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา, ๕. จัดทำแผนปรับปรุง, ๖. ลงมือปฏิบัติ, ๗. สรุปผลการดำเนินงาน
-๙ แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่ ๕ส ในวัด คือ ๑. ป้ายชื่อวัด บริเวณหน้าวัด และแผนผังวัดโดยสังเขป, ๒. การจัดการจราจร ป้ายจราจร และที่จอดรถ, ๓. การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ และการควบคุมการเบิก-จ่ายสิ่งของ, ๔. ห้องน้ำ, ๕. การจัดการขยะ, ๖. สภาพแวดล้อมทั่วไป (ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย ของพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ ภายในวัด), ๗. ระบบไฟฟ้า และการป้องกันอัคคีภัย, ๘. โรงครัว, ๙. อาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด
Leave a Reply