รายงานพิเศษเรื่องเล่า..กว่าจะมีวันนี้คณะสงฆ์รามัญกับ “มหาจุฬาฯ” (ตอน 3)

การประสาทปริญญาประจำปี 2564 ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ประทับใจของทุกฝ่าย ผู้ที่เหน็ดเหนื่อยคงไม่พ้นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติงาน ซึ่งเท่าที่สังเกต ระบบการบริหารจัดการของ มจร. แบ่งกันทำงาน ค่อนข้างลงตัว เป็นที่พอใจของแขกที่มาเยือนทั้งจากต่างประเทศ และวิทยาเขตต่าง ๆ สมแล้วที่ทั่วโลกยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ระดับ 2 ของโลกรองมาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ญี่ปุ่น

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษามาแล้วจำนวน  66 รุ่น แยกเป็นระดับปริญญาตรี 60,563 รูป/คน ปริญญาโท 9,253 รูป/คนและปริญญาเอก 2,145 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 71,961 รูป /คน

ปัจจุบันมีนิสิตทั้งสิ้น 20,368 รูป/คน โดยแบ่งเป็นบรรพชิต จำนวน 10,472 รูป/คน คฤหัสถ์จำนวน 9,896 รูป/คน นานาชาติ 1,200 กว่ารูป/คน กว่า 20 ประเทศ

มีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ หน่วยวิทยบริการและโครงการขยายห้องเรียน ครอบคลุมทุกภูมิภาคใน 45 จังหวัดทั่วประเทศ เปิดการเรียนการสอนมากถึง 227 หลักสูตร เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป มีนิสิตทั้งสิ้นประมาณ 20,000 รูป/คน มีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มากกว่า 3,000 รูป/คน

มีสถาบันสมทบ 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฮังการี สิงคโปร์ ศรีลังกา เกาหลีใต้ และใต้หวัน

 “ผู้เขียน” แม้ไม่ได้มีหน้าที่อะไรใน มจร. แห่งนี้ แต่ในฐานะผู้ประสานงานให้ประมุขสงฆ์รามัญนิกายเดินทางมารับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ปีนี้ จึงต้องคอยอำนวยความสะดวกทุกวัน  จึงขอเล่าความหลังต่ออีกสักเล็กน้อย เพื่อจารึกไว้เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์

       ก่อนเดินทางไปลงนามข้อตกลงร่วมหรือ MOU ระหว่างวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับ มหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะแห่งคณะสงฆ์รามัญนิกาย ณ รัฐมอญ เมืองเมาะละเหม่ง ประเทศเมียนมา ผู้เขียนได้ “ขอร้อง” ให้ชมรมนิสิตมอญ มจร.  ผ่าน Ven Ashin Poke Pha ประธานชมรมขอให้ ร่วมเดินทางไปด้วย โดยรับปากไว้ว่าจะ “ดูแล” ค่าเดินทางให้ผ่าน “มูลนิธิรามัญรักษ์” แต่ขอให้ไปทางบก คือ ผ่านด่านแม่สอด จ.ตาก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และขอให้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนสัก 10 วันเพื่อเตรียมจัดงาน เนื่องจากผู้เขียนรู้ดีว่า วิธีทำงานให้ถูกใจผู้ไปเยือนนั้น อันดับแรกมันต้องใช้ “คนทำงานเป็น” ไปจัดงาน

ในขณะเดียวกันก็คอยประสานกับ Phra Weerasak Jayadhammo (PhaAjahn Tah) พระเจ้าหน้าที่ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ (IBSC) ในการร่างข้อตกลงร่วมระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย รวมทั้งกำหนดการเดินทาง

        วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2562 คือ กำหนดบันทึกลงนาม MOU  ระหว่างวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับ มหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ แห่งคณะสงฆ์รามัญนิกาย  ภายใต้สนับสนุนงบประมาณเดินทางของ มูลนิธิรามัญรักษ์ ที่ผู้เขียนเป็นเลขานุการมูลนิธิอยู่

ในฐานะผู้ประสานงานให้เกิดงานนี้มาประมาณ 5 ปี กว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ ผู้เขียนใช้ความอดทนและพยายามอย่างยิ่งในการที่จะประสานงานกับคณะสงฆ์รามัญนิกายหรือคณะสงฆ์มอญ ตลอดระยะเวลา 5 ปี ในการทำงานเกิดความท้อแท้หลายครั้ง เนื่องจากผู้เขียนชินกับคณะสงฆ์ไทยที่ทำงานด้วยความฉับไว คิดบวก มองไปข้างหน้า เดินไปตามกรอบที่วางเอาไว้ ผิดกับคณะสงฆ์มอญที่ไม่ชินเกี่ยวกับศาสตร์สมัยใหม่ ทำงานในเชิงระบบไม่เป็นและมีความระแวงกับบุคคลภายนอกสูง แต่โชคดีสุดท้ายได้ชมรมพระนิสิตมอญที่เรียนอยู่ที่มหาจุฬาฯ มาช่วยประสานและทำงานร่วมกัน ได้ผู้บริหารมหาจุฬา ฯ ร่วมผลักดันเต็มที่

       หลังลงนามก่อนกลับ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ ได้ปรารภก่อนขึ้นเครื่องว่า “อยากเห็นโครงสร้าง บทบาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญที่ชัดเจน พร้อมกับร่วมกันทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสงฆ์มอญระยะ 5 ปี ฝากอาจารย์อุทัยด้วย ซึ่งมหาจุฬา ฯยินดีช่วย โดยไปเขียนแผนทำ คิดร่วมกันที่ มหาจุฬาฯ วังน้อยเลย และปีหน้า วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติหรือ IBSC จะส่งพระนิสิตทั้งมหายาน วัชรยานมาฝึกงานที่มหาวิทยาลัยสงฆ์มอญ เพื่อจะได้เป็นเครือข่ายกันในอนาคต ”

และหลังจากเซ็น MOU กลับมาประเทศไทยแล้ว พระศีลาจาระ หรือในหมู่มอญเรียกท่านว่า “ตะละกุ้นแหม่ะ” ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ของคณะสงฆ์รามัญนิกาย พระคุณเจ้าโทรมาขอบคุณอนุโมทนาบุญกับศาสนกิจคราวนี้ที่ลุล่วงไปด้วยดี พร้อมกับทิ้งท้ายว่า

       “อย่าทิ้งกัน เพราะหากไม่มีคณะสงฆ์ไทย มอญเมืองไทยร่วมผลักดัน การเดินหน้าต่อไปลำบาก เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญพร้อมแต่สถานที่ ส่วน เงิน บุคลากรและการบริหารจัดการยังไม่พร้อม”

งานเซ็น MOU ผ่านไปได้ด้วยดี ตรงนี้ ต้องขอยกย่องชมรมนิสิตมอญ มจร ที่ไปร่วมจัดงานทั้งหมดตั้งแต่ยกโต๊ะ เตรียมเอกสาร และที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้คือ Mr. kon Son และ Mr. Nai Min Aung  กัลยาณมิตรคณบดีมอญ 2 คนที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา คอยดูแลรับส่งผู้เขียนตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย โดยเฉพาะ   Mr. kon Son  ดูแลค่าที่พัก ค่าอาหารให้กับคณะ IBSC ด้วย

สืบเนื่องจากการเซ็น MOU นี่แหละ จึงเป็นที่มาของการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้  ส่วนทำไมต้องเป็นประธานคณะสงฆ์รามัญนิกาย มีที่มาที่ไปอย่างไร..ท่านใดสงสัยก็มาถามรายละเอียดส่วนตัวได้

ความจริงสภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้พระประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายตั้งแต่ปี 2563 คือปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้ว มจร ไม่อนุญาตให้พระต่างประเทศมารับ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด -19

สำหรับปีนี้หลังจากสภามหาวิทยาลัยอนุมัติและกำหนดวันประสาทปริญญาประจำปีเรียบร้อย ต้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้ “ผู้เขียน” ได้สอบถามจาก “พระเทพปวรเมธี” รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร ว่า พระต่างประเทศมารับได้หรือไม่ เมื่อท่านบอกว่า “มาได้” ผู้เขียนจึงประสานไปยัง มหาวิทยาลัยรามัญรัฐฎะ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน เพื่อแจ้งต่อ ประธานคณะสงฆ์รามัญนิกาย และอีกฐานะหนึ่ง คือ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามัญรัฐฎะ พร้อมกันนี้ได้ขอห้องพักรับรองพิเศษจาก พระเทพปวรเมธี  เดิมขอไว้ที่วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ แต่พระคุณเจ้าบอกว่า หลวงพ่ออายุมากแล้ว ไม่มีรถบริการ ขอให้พักห้องรับรองพิเศษ ซึ่งเป็นห้องส่วนตัวของท่าน ณ อาคาร 92 ภายในมหาวิทยาลัยถือว่าเป็น “แขก” ของท่านด้วย  พร้อมกันนี้ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ หรือ IBSC  ก็สอบถามความเคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำมาว่า หลวงพ่อมาได้หรือไม่ มาอย่างไร มาถึงเมื่อไร พร้อมมอบห้องพักอาคาร 92 ไว้อีก 1 ห้องสำหรับผู้ติดตาม หรือเป็นห้อง “สำรอง”

       “ผู้เขียน” ประสานกับเจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัยรามัญรัฐฎะผ่าน “ดร.สุมะ”  ศิษย์เก่า มจร ทวงถามความคืบหน้าทุกวัน พร้อมกันนี้ได้พูดคุยกับประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายด้วย เมื่อท่านบอกว่า “ต้องการจะมารับ” จึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้เดินทางเข้าประเทศไทยให้ได้ ประสานกับสถานทูตไทยในพม่าผ่านไลน์ แนะนำดีมาก  ประสานงานตั้งแต่วันที่ 5 จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายนผ่าน ดร.สุมะ สุดท้าย “ล้มเหลว”

        “ผู้เขียน” จึงมุ่งเข็มไปหากัลยาณมิตรคนสำคัญที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นคือ  Mr. kon Son  ช่วยประสานต่อไปยังสถานทูตไทยและซื้อตั๋วให้ด้วย สำหรับ Mr. kon Son  ขอให้เดินทางมาด้วย เพื่อเป็นล่ามและคอยดูแลประธานมูลนิธิรามัญรักษ์ โดย มูลนิธิรามัญรักษ์ จะดูแลให้ทุกอย่าง  Mr. kon Son   ติดต่อสถานทูตไทยเรียบร้อยไปจองตั๋วเครื่องบิน สรุปตั๋วตามบริษัทขายตั๋วไม่มี จึงเดินทางไปสำนักงานใหญ่สายการบินพม่า สรุปว่าได้ แต่ ณ สถานการณ์ตอนนั้นสายการบินมาประเทศไทยมีแค่  2 วัน คือ วันอังคาร กับ วันศุกร์ เมื่อจองตั๋วเรียบร้อย ต้องแปลใบฉีดวัคซีนและต้องมีหนังสือรับรองจากรัฐบาลพม่าอีกต้องรอ 7 วันทำการ ซ้ำเมื่อได้หนังสือรับรองจากรัฐบาลพม่าเสร็จต้องขอ Thai Pass จากรัฐบาลไทยอีก อย่างน้อย 3 วัน สุดท้ายตั๋วที่จองไว้..ไม่ทัน

      ผู้เขียนโทรไปสถานทูตในพม่าต่อรองก็แล้ว ให้คนสนิทสนมล๊อบบี้รัฐบาลพม่าก็แล้ว ไม่ทันจริง ๆ  หมดหนทางที่จะมาทางสายการบินแล้ว ตัน!!

      จึงทำการบ้าน หาข้อมูลจากกูเกิ้ล หาวิธีผ่านแดนทางชายแดน สุดท้าย เจอแสงสว่าง มีคนเคยทำ และเคยได้ยินว่า หากศูนย์ประสานงานชายแดน ซึ่งเป็นทหารร่วม 2 ประเทศ อนุญาต หากนายอำเภอในพื้นที่ อนุญาต สามารถขอได้ แต่อาจต้องมี “ตั๋วพิเศษ”

      “พี่อรัญญา เจริญหงส์ษา” พี่สาวนักจิตอาสา มูลนิธิรามัญรักษ์ ตอนเดินทางไปแจกของที่ชายแดนรัฐมอญ ขอให้ช่วยประสานงานกับทหารไทยทุกปี คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยในอำเภอสังขละบุรีเป็นอย่างดี จึงโทรไป “ขอรบกวน” อีกครั้ง เมื่อพี่อรัญญาไปถามทหารในพื้นที่ ทหารชายแดนบอกว่า ทหารมีอำนาจอนุญาตให้เข้าได้เฉพาะในเขต จังหวัดกาญจนบุรี เท่านั้น นอกนั้นต้องเป็น กระทรวงมหาดไทยฝ่าย “บ้านเมือง” ต้องระดับนายอำเภอ ระดับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” เท่านั้น

สำหรับผู้เขียนแค่นี้พอแล้ว จึงรอให้พี่อรัญญาทำงานประสานในพื้นที่พร้อมกับคอยอำนวยความสะดวกส่งรูปถ่ายและใบฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้พี่อรัญญา ผ่านลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งเปิดร้านค้าอยู่ในด่านเจดีย์สามองค์ ในขณะที่แผนสองหากพลาดอาจต้อง “วิ่งเต้น” ผ่านกองพลทหารราบที่ 9 ซึ่งเป็น “ถิ่นเก่า” ของผู้เขียน และต้องร้องขอ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย”

การทำงานจิตอาสา ทำงานเพื่อส่วนรวมแบบนี้ มันเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งคือ เวลาขอใครให้มาร่วมลำบากด้วย น้อยรายจะปฎิเสธ แต่ก็มีบ้าง ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน พระสงฆ์เรานี่แหละตัวดี มักเห็นแก่ได้ เอาแต่ได้ จะให้ลำบากร่วมด้วย “ไม่เอา” บางรูปไม่ปฎิเสธ แต่ “ไม่ทำ”

“ผู้เขียน” เป็นคนโชคดีผู้ใหญ่เมตตาเอ็นดูอยู่เสมอ ๆ   หลังจากรอพี่อรัญญา เจริญหงส์ษา ประสานงานในพื้นที่กับทหารและนายอำเภอ อยู่

พี่เก่ง” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย โทรมาคุยด้วยพอดี  และบอกว่ากำลังเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อไปเตรียมงานรับเสด็จ “พระองค์ภา”  ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนนี้ถือว่าเป็น “สายพระ”  เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เข้าถึงคณะสงฆ์ได้ดีที่สุดคนหนึ่งที่ ประเทศไทยเคยมี และ “ติดดิน” เป็นมิตรกับประชาชน

หลังจากคุยงานเสร็จจึงแจ้งเรื่องปัญหาติดขัดการเดินทางเข้าประเทศไทยของประธานคณะสงฆ์ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบ และแจ้งวันเดินทางจำนวนคนร่วมคณะกับปลัดเรียบร้อยแล้ว  ท่านตอบว่า

      “เย็นนี้พี่จะบอกผู้ว่ากาญจน์และแจ้งนายอำเภอสังขละบุรีช่วยอำนวยความสะดวกให้ พี่ขอปวารณาดูแลท่านด้วย จะจัดรถตู้ถวายไว้ให้ 1 คัน ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ประเทศไทย”

ผู้เขียนจึงขอให้ท่านรับประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายไว้เป็น “แขกพิเศษ” ของปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วย ท่านตกลง   ผู้เขียนอุ่นใจขึ้นแต่ก็หวั่น ๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาโควิด -19 และต้องกักตัวหรือไม่เมื่อเดินทางเข้ามาทางบกแบบนี้

เมื่อปลัดกระทรวงมหาดไทยรับเป็น “แขกพิเศษ” ดูแล้วค่อนข้างชัวร์มาได้แน่ จึงแจ้งให้ “นายโลน” คหบดีมอญอีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีบ้านอยู่ “เจดีย์สามองค์” ฝั่งประเทศพม่า ว่า ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องที่พัก และอาหารให้กับประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายและคณะด้วย ซึ่งนายโลนบอกว่าไม่มีปัญหา เพราะรู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว

วันที่ 6 ธันวาคม 2564  ซึ่งเป็นวันกำหนดเดินทางเข้าประเทศไทย พี่อรัญญา เจริญหงส์ษา ประสานงานในพื้นที่ทั้งทหารและนายอำเภอเรียบร้อย มีเอกสารผ่านแดนครบครัน ช่วงเที่ยงนายอำเภอสังขละบุรีจะไปรอรับที่ด่านเจดีย์สามองค์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อตรวจ ATK

  “ผู้เขียน” นอนไม่หลับทั้งคืน เนื่องจาก กังวล ตื่นเต้น และเกรงใจ คนที่ผู้เขียนร้องขอให้ช่วยงานนี้มากมาย ทั้ง ๆ ที่ผู้เขียนและคนที่มาช่วยไม่ได้อะไรจากงานนี้เลย  “น้ำใจคนเหล่านี้” มันตรึงและซาบซึ้งอยู่ในหัวใจคงตอบแทนทั้งชีวิตก็คงไม่หมด ในขณะเดียวกัน “กังวล” เรื่องการเป็นอยู่ เรื่องอาหาร และรวมทั้งกำหนดการต่าง ๆ  เพราะว่า ท่านคือประธานคณะสงฆ์รามัญนิกาย ทำแบบไหน จึงจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม สมเกียรติหรือไม่สมเกียรติ คิดไม่ออก

งานประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม 2564 ผ่านมาแล้วด้วยดี ประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายกลับประเทศต้นทางแล้ว แต่เรื่องเล่าของผู้เขียนยังไม่จบ ตลอด 8 วันที่ประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายอยู่ประเทศไทย มีเรื่องราวมากมายให้บันทึกและจดจำ ทั้งการได้เข้าไปพบ พระพรหมบัณฑิต ปราชญ์คณะสงฆ์แห่งยุค,ทั้งการที่ประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายไปฉันเพลบ้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย,ทั้งช่วงที่พักอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตลอดจนได้พบกับ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” รวมทั้ง ฝ่ายต่างประเทศ ของ มจร และ IBSC 

มันคือช่วงประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมอบให้กับ  “คณะสงฆ์รามัญนิกาย”  ว่างๆเดี๋ยวมาเล่าสู่กันฟังต่อครับ..

รายงานพิเศษ โดย    นายอุทัย มณี

Leave a Reply