“ชวน”มอบเกียรติบัตร ผู้นำกระบวนกรต้นแบบสันติภาพตรัง

นิสิต ป.เอกสันติศึกษา “มจร” ลงพื้นที่ นำโมเดลปั้นบุคลากรของจังหวัดตรัง เป็นผู้นำกระบวนกรต้นแบบสันติภาพ

วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๕ นางสาวปวีณา สงวนชม นิสิตปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ผู้วิจัยเรื่อง “รูปแบบการพัฒนาผู้นำกระบวนกรต้นแบบสันติภาพโดยพุทธติวิธี” เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ ๕-๖ มีนาคม ๒๕๖๕ มีการลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาผู้นำกระบวนกรต้นแบบสันติภาพ ซึ่งได้รับความเมตตาจากพระครูโสภณพุทธารักษ์ เจ้าคณะตำบลนาตาล่วง เจ้าอาวาสวัดพระงาม ให้ใช้สถานที่จัดทำโครงการ ณ ศาลาลีละวัฒน์ วัดพระงาม ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง โครงการพัฒนาผู้นำกระบวนกรต้นแบบสันติภาพ (Peace Fa) เป็นการนำโมเดลที่ได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบตั้งแต่การศึกษาบทที่ ๑-๓ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสนทนากลุ่ม (Focus Group) จนเป็นรูปแบบการพัฒนา ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสันตินวัตกรรม ตามแนวทางบันไดเก้าขั้นของหลักสูตรสันติศึกษา มจร อย่างชัดเจน จากการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยผ่านการคัดเลือกทั้งหมดจำนวน ๑๖ คน

โครงการพัฒนาผู้นำกระบวนกรต้นแบบสันติภาพครั้งนี้ได้รับความเมตตาจากพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์,ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ประธานมูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มจร บรรยายในหัวข้อ “จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำกระบวนกรต้นแบบสันติภาพ” ท่านกล่าวว่า สิ่งแรกที่ผู้นำกระบวนกรสันติภาพจะต้องเริ่มพัฒนา คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ภูมิคุ้มกันในที่นี้หมายถึง สติ ซึ่งเป็นรากฐานของการทำงานด้านสันติภาพ สติเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานที่มีคุณภาพ ถ้าถามว่าสันติภาพอยู่ที่ไหน สันติภาพไม่ได้อยู่ที่คนอื่น สันติภาพอยู่ที่ตัวเรา

“ท่านจึงเน้นให้มีการบ่มเพาะตัวสติ สร้างสันติภายในของตนเอง ก่อนจะเริ่มไปทำงานกับคนอื่น ให้เริ่มทำงานกับตนเองเสียก่อน รวมถึงท่านได้ส่งมอบพลังและกำลังใจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านอีกด้วย และนอกจากนี้ทางโครงการได้รับความเมตตาอย่างยิ่งจากท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ผู้นำกับการสื่อสารสร้างสันติภาพ” ท่านกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใกล้ชิดกับศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธ ทำให้สามาถได้ขัดเกลาจิตใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งนี้สำคัญกับทุกคนมากๆ เพราะเมื่อครั้งใด เรามีการต้องไปอยู่ร่วมกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างเกิดขึ้น การจะทำให้เกิดความเข้าใจกันซึ่งกันและกัน ก็ต้องเริ่มจากการสื่อสาร และสันติภาพจะเกิดเมื่อทุกคนเริ่มปรับตัว เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น ก็จะทำให้เกิดสังคมสันติสุขได้ไม่ยาก” นางสาวปวีณา กล่าวและว่า

และพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ได้เน้นย้ำอีกเรื่อง สำหรับผู้นำที่จะเป็นต้นแบบ ต้องมีความรับผิดชอบและซื่อสัตย์สุจริต พัฒนาทักษะต่างๆ ให้เป็นเนื้อเป็นตัวเรา และอย่าหยุดการพัฒนาตนเอง และในช่วงสุดท้ายนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ให้เกียรติมอบเกียรติบัตรแก่ผู้นำกระบวนกรต้นแบบสันติภาพทุกท่านๆ รวมถึงคณะวิทยากรที่ได้ร่วมให้ความรู้ในโครงการนี้อีกด้วย

Leave a Reply