แม่บ้านมหาดไทยภาคกลาง ระดมความเห็นตกผนึกขอยืนเคียงข้างพ่อเมือง”แก้ความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

วันที่ 7 มี.ค. 65  เวลา 13:00 น. ที่โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการสนับสนุนบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดในการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวทางศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ภาคกลาง โดยมี นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด 25 จังหวัด อุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมสัมมนา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัดที่ท่านสวมหมวกที่เป็นทางการอีกหน้าที่หนึ่ง นั่นคือ นายกเหล่าชาดจังหวัด ทำหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดเคียงข้างท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งหลังจากวันนี้ไปจะเป็นช่วงแห่งวิกฤตของพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมายความยากจน ที่พวกเราชาวมหาดไทย จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนำทัพในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศที่ไปประจำการที่จังหวัดนั้น ๆ ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ที่ต้องเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการบริหารราชการ บังคับบัญชา ควบคุมการทำงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม ในพื้นที่จังหวัด และกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ซึ่งหลังจากนี้วิกฤตของพี่น้องประชาชนที่กล่าวมาจะเป็นโอกาสอันสำคัญที่ถูกกำหนดให้คนมหาดไทยได้ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนแบบพุ่งเป้าร่วมกับทุกส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนมหาดไทยเมื่อได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ใดแล้วต้องทำสุดชีวิต โดยเพราะเรื่องการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดียิ่ง เพราะทำให้พวกเราได้ทำหน้าที่ตามปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ต้องช่วยกันหาเป้าให้เจอว่าพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนทุกเรื่องในพื้นที่จังหวัด เช่น มีชื่ออยู่ในทะเบียนคนบ้านกลาง คือ คนที่ไม่สามารถทำนิติกรรมใดใดทั้งสิ้น ใช้สิทธิเลือกตั้งก็ไม่ได้ หรือคนที่มีลูกหลานติดยาเสพติด ก็ทุกข์ร้อน รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีชื่อศูนย์ฯ ว่า แก้ไขปัญหาความยากจน แต่นัยยะของการขับเคลื่อนนี้ ต้องช่วยกันสื่อสารกับสังคมให้ได้รับรู้รับทราบโดยทั่วกันว่า เราแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในทุกเรื่องของประชาชนครัวเรือนเป้าหมายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองหรือคนในครอบครัว จึงต้องไปช่วยกันหาให้เจอ แล้วมาช่วยกัน จัดเป็นหมวดหมู่ จัดเป็นกลุ่ม ปัญหาลักษณะเดียวกันอยู่ด้วยกัน เพื่อให้ทีมพี่เลี้ยงนำไปแก้ไข ไปบริหารจัดการตามแนวทางต่อไป

 “ขอให้ใช้โอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาขององค์สภานายิกา สภากาชาดไทย คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ที่จะทรงเจริญพระชนพรรษาครบ 90 พรรษา ถวายพระพรแด่พระองค์ท่านด้วยการปฏิบัติบูชา ช่วยเหลือคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยให้มีบ้าน มีที่พักพิงให้ครบถ้วน คนที่มีแล้วแต่ไม่ถูกสุขลักษณะก็ทำให้ถูกสุขลักษณะ ทำให้แข็งแรง และหากจังหวัดไหนเจอปัญหาเหล่านี้จำนวนมากและทำได้ไม่ครบทั้ง 100% ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว โดยส่วนที่ทำไม่สำเร็จขอให้แจ้งมายังสมาคมแม่บ้านมหาดไทยเพื่อท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยประสานขอความช่วยเหลือจากภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจที่มีจิตเสียสละที่จะทำ CSR ลงไปช่วยกันกับเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และตนเชื่อมั่นว่าท่านผู้ว่าฯ ท่านนายอำเภอ และพวกเราแม่บ้านมหาดไทย จะสามารถร่วมกันบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนต่าง ๆ อันเป็นหน้าที่ของพวกเราครอบครัวมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จึงขอให้ท่านนายกเหล่ากาชาดจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกท่าน ไปช่วยกันปลุกเร้า ช่วยกันกระตุ้น และระดมสรรพกำลังให้ภาคประชาสังคมในพื้นที่ทั้งหลายทั้งในตัวจังหวัดและทุกอำเภอ ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อบังเกิดผลดีที่สุดกับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ลงนาม MOU กับฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนาที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นการร่วมสนับสนุนจากคณะสงฆ์ทั่วประเทศในการร่วมมือกับพวกเราชาวมหาดไทย เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยขอให้แม่บ้านมหาดไทยได้จับมือท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปขอรับคำปรึกษา ไปขอรับคำชี้แนะ และขอรับการสนับสนุนจากท่านเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รวมถึงพระสังฆาธิการในพื้นที่ ซึ่งวัดเป็นศูนย์ร่วมสำคัญของสิ่งที่จะสามารถบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากได้ เช่น เป็นที่อยู่อาศัยของเด็ก ๆ ที่จะมาเรียนหนังสือโดยไม่มีทุนทรัพย์ หรือเป็นศูนย์กลางนำอาหารที่ท่านได้จากบิณฑบาตไปช่วยเหลือเด็กยากจน หรือคนเฒ่าคนแก่ หรือครอบครัวที่ยากจนในตำบล หมู่บ้านได้ โดยต้องมีข้อตกลงร่วมกัน มีการวางแผน ว่าใครหรือหน่วยงานใดจะมารับและนำไปแจกจ่าย รวมถึงการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยาสมุนไพร รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ เพื่อให้ภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนสำเร็จในยุคของพวกเราทุกคน

ในขณะที่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ขับเคลื่อนงานในรูปแบบจิตอาสาในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของพี่น้องประชาชนร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดคือคู่สมรสของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเสมือนเป็น “แม่เมืองของจังหวัด” เคียงข้าง “พ่อเมือง” คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในการสนองพระมหากรุณาธิคุณต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนในทุกจังหวัดของประเทศไทย เป็นงานที่มีเกียรติ ไม่มีเงินเดือน โดยจะดำรงตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญในจังหวัด 2 หน้าที่ คือ 1) นายกเหล่ากาชาดจังหวัด ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง และมีองคาพยพตามข้อกำหนดของสภากาชาดไทย ทำหน้าที่ในการบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข และ 2) ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และกรรมการกลางของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ซึ่งสิ่งที่ได้ปฏิบัติทั้ง 2 หน้าที่ เป็นงานจิตอาสาที่อยู่ในกรอบงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เป็นแขน ขา ให้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งตอนนี้มีงานที่สำคัญมาก คือ การแก้ไขปัญหาความจน โดยมีหัวใจ 3 ดวง คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแม่ทัพใหญ่ และท่านนายอำเภอเป็นขุนศึกในพื้นที่อำเภอนั้น ๆ และตามด้วย ทีมพี่เลี้ยง ที่จะเข้าไปชี้เป้าแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) ความเป็นอยู่ 3) การศึกษา 4) ด้านรายได้ และ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ รวมถึงสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ที่ถูกกำหนดเป็นกรอบในการทำงานของภาครัฐที่ทุกจังหวัด ทุกอำเภอต้องขับเคลื่อน โดยในขณะเดียวกัน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ที่ทำหน้าที่ในการลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ ออกตรวจเยี่ยมพี่น้องประชาชน ทำให้เราเห็นเป้าหมาย เห็นปัญหา และสามารถช่วยชี้เป้าข้อมูลและกำหนดแนวทางแก้ไขมอบให้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อประสานส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำแนวทางการขับเคลื่อนแล้วว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมาย ต้องไม่ยึดติดกับโครงการ/แผนงาน โดยต้องบูรณาการการแก้ปัญหาทุกมิติเพื่อหยุดยั้งปัญหาความยากจน ให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอภายใน 30 กันยายน 2565 เช่น กรณีปัญหาผู้ไม่มีบ้าน ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง นอกเหนือจากคหบดีในพื้นที่จังหวัด แม่บ้านมหาดไทย อาจนำข้อมูลไปขอรับการสนับสนุนเบื้องต้นจากบริษัทมหาชนใหญ่ ๆ ที่มีงบประมาณ CSR จำนวนมาก สามารถร่วมแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายการแก้จนแบบพุ่งเป้าไปด้วยกันกับภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ทั้งจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบบ ThaiQM ของกรมการปกครอง ข้อมูล จปฐ. ของกรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงจากการสำรวจ การลงพื้นที่จริงของพวกเราแม่บ้านมหาดไทย โดยนำข้อมูลจากทุกส่วน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพุ่งเป้าแก้ปัญหาไปกับภาครัฐ

จากนั้น ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพื้นที่ภาคกลาง อุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมกันระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในบทบาทของเหล่ากาชาดจังหวัดและแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เช่น การลงพื้นที่ให้กำลังใจและเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนเชิงรุก การระดมสรรพกำลังขอรับบริจาคจากภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ และลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ ผู้พิการ และผู้สูงอายุครัวเรือนเป้าหมาย การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของเด็กด้วยการตัดแว่นสายตาให้กับนักเรียนผู้ยากไร้ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย การซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ การส่งเสริมอาชีพด้วยการจัดซื้อกี่ทอผ้าให้กับชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพของสตรีในชุมชน เป็นต้น

  “ในวันนี้เป็นการระดมแนวคิดประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดว่าจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างไร ซึ่งแม้แต่โครงการสำคัญของสมาคมฯ เช่น การปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารที่กำลังขับเคลื่อนก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากการระดมสมอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่วันนี้ ทำให้ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดได้ช่วยกันสะท้อนความสำเร็จและรูปแบบวิธีการแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ตามบทบาทของเหล่ากาชาดจังหวัดและแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ซึ่งได้นำข้อมูลจากฐานข้อมูลระบบต่าง ๆ เป็นเป้าหมายในการพุ่งเป้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาร่วมกับทางจังหวัด และอำเภอ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเป็นเป้าเดียวกัน ทำให้จำนวนครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่ลดลง  นอกจากนี้ มุ่งเน้นการลงพื้นที่ไปเยี่ยม ไปให้กำลังใจประชาชนครัวเรือนเป้าหมาย ในฐานะที่พวกเราเป็นครอบครัวมหาดไทย เพราะหลายครอบครัวมิได้ต้องการความช่วยเหลือที่เป็นเชิงวัตถุ แต่เป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะบังเกิดผลทำให้ภัยคุกคามของพี่น้องประชาชน นั่นคือ “ความยากจนและความยากลำบากทุกเรื่อง” หมดไป แม่บ้านมหาดไทยจะได้ร่วมด้วยช่วยกันผลักดันงานสำคัญของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในครั้งนี้ให้สำเร็จ ให้เกิดผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน” ดร.วันดีฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply