ในหลวง – พระราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระสังฆราช

วันที่ 26 มิถุนายน 2566  เวลา 17.21 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางพุ่มดอกไม้ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ ต่อจากนั้น เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธอังคีรส พระประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงกราบ

แล้วถวายพัดรองที่ระลึกการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แด่สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ จำนวนรวม 20 รูป ที่จะเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้ว ทรงศีล พระราชาคณะถวายศีล จบ พระสงฆ์ 20 รูป เจริญพระพุทธมนต์การบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เมื่อเจริญพระพุทธมนต์ถึงบททำน้ำพระพุทธมนต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนที่ฝาพระครอบพระกริ่ง แล้วทรงประเคนพระครอบพระกริ่งแด่ประธานสงฆ์ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายน้ำสรงที่พระหัตถ์ พัดรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้น 1 พุ่มดอกบัว และผ้าไตรแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ วัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำฆ้อง กลอง ระฆัง พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเจริญชัยมงคลคาถาถวายพระพร

ต่อจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายน้ำสรงที่พระหัตถ์ พุ่มดอกบัว และผ้าไตร แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระราชาคณะ แล้วทรงยืนประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระราชาคณะที่เจริญพระพุทธมนต์ จากนั้น ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี แล้วทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 26 มิถุนายน 2470 ที่บ้านตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ทรงเป็นบุตรคนโตในจำนวนบุตรธิดา 9 คน ของนายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ เมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ได้ทรงบรรพชาสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ มหาพันธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “อมฺพโร” มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ขณะทรงสมณศักดิ์ พระเทพโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้น ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในสำนักเรียนวัดราชบพิธ จนทรงสำเร็จเปรียญธรรม 6 ประโยค และทรงศึกษาต่อ ณ สภาการศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปัจจุบัน ทรงสำเร็จปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อพุทธศักราช 2500

ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2509 ทรงเข้ารับการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เมื่อทรงสำเร็จการอบรม โดยทรงเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก และในพุทธศักราช 2510 เสด็จไปทรงศึกษาต่อระบบปริญญาโทและทรงสำเร็จการศึกษา มหาบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อพุทธศักราช 2512 ด้วยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับพระภารธุระบุกเบิกกิจการพระธรรมทูต โดยทรงเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย โดยพุทธศักราช 2516 ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ นครซิดนีย์

ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาด้านการทหาร ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและสนทนาธรรม ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ อย่างเนืองนิจ อันเป็นปฐมบทในพระราชศรัทธาเลื่อมใสในสมเด็จพระสังฆราชนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงเป็นคารวสถานของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนมหาชนทุกหมู่เหล่า ทรงสมบูรณ์บรุทธิ์ด้วยพระกิตติประวัติอันปราศจากมลทินโทษ ทรงใฝ่พระทัยในวิปัสสนาธุระเป็นอย่างเอก ทรงพระจริยาการเรียบร้อยประณีตทุกพระอิริยาบถ ทรงผูกประสานน้ำใจกลมเกลียวเกื้อกูลกิจการพระศาสนา โดยไม่ทรงเลือกคณะนิกายฝ่ายหมู่ ทรงวางพระองค์อยู่ด้วยพระเมตตาธรรม เป็นที่ประจักษ์ชัดในหมู่พุทธบริษัท และทรงเอาพระทัยใส่สืบสานปณิธานของพระมหาเถระในอดีต เพื่อธำรงพระบวรพุทธศาสนาให้เป็นหลักชัยสืบไป

 

ภาพ ข่าว : มติชนออนไลน์

Leave a Reply