มหาดไทย ผนึกกำลัง สช. เดินหน้าเป็นหุ้นส่วน “สร้างสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม”

วันที่ 28 พ.ย. 66  เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 โดยมี นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นพ.อภิชาติ รอดสม นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการ สช. นางสุนันทา กาญจนพงศ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข นางสาวทิพิชา โปษยานนท์ นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สช. นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้แทน สสส. ผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งของกระทรวงมหาดไทยที่ได้มีโอกาสเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ” กับ สช. นำเอาความรักความปรารถนาดีของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านสาธารณสุขหรือด้านสุขภาพที่มีความสำคัญและมีผลต่อพี่น้องประชาชน เพื่อขับเคลื่อนร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ในอำเภอ ตำบล หมู่บ้านทั่วประเทศไทย เพื่อให้ความตั้งใจของ สช. และความมุ่งมั่นของชาวมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เกิดผลดีอย่างเต็มที่ในทุกมิติ แสดงให้เห็นว่าชาวมหาดไทยมีความยินดีและเต็มใจที่จะร่วมกันกับ สช.  “Change for Good” ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น ตามเจตนารมณ์ของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 และอุดมการณ์ของพวกเราในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน

“การที่เราได้มาร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติสู่การจัดทำนโยบายและแผนและลงมือปฏิบัติจนเกิดมรรคผล เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในเรื่อง “สุขภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน” สอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทำมาอย่างต่อเนื่องด้วยความยินดี เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการป้องกันและลดโอกาสเกิดภาวะการคลอดก่อนกำหนดหรือที่ได้ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน เป็นต้น อันเกิดจากพลังความร่วมมือของ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาคสื่อสารมวลชน จับมือผนึกกำลังภายใต้โครงสร้างการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน  ก่อเกิดเป็น “กลุ่มจิตอาสา” ร่วมกันทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีกลไกการบริหารราชการในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 7,255 ตำบล 878 อำเภอ ใน 76 จังหวัด และจะขยายผลหมู่บ้านยั่งยืนให้ครบ 80,000 กว่าหมู่บ้าน/ชุมชน ทั่วประเทศไทย ภายในปี 2567 นี้” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อให้พี่น้องภาคีเครือข่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สช. ได้เกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำร่วมกันจะเกิดผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน ทั้งด้านการมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและฟังก์ชั่นงานที่เป็นระบบ โดยนำกรอบ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” มาผนวกกับกรอบภารกิจหน้าที่ในการแปลงธรรมนูญฯ ไปสู่แผนพัฒนาพื้นที่ลักษณะ “One plan” ของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีสำนักงานจังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ อันตอกย้ำให้เห็นว่า “งานของทุกกระทรวงและของทุกหน่วยงานคือพันธกิจของกระทรวงมหาดไทย” ในการป้องกันประชาชนไม่ให้เกิดความทุกข์ยาก และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนเพิ่มพูนการมีความสุข ซึ่งการจัดทำแผนพัฒนาได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง มีฐานข้อมูล Big Data ที่สำคัญ ซึ่งได้ทำการสำรวจผ่านแพลตฟอร์ม ThaiQM ที่เป็นการ Re X-ray ค้นหาปัญหาครัวเรือนแบบพุ่งเป้า ซึ่งเราจะขยายผลการสำรวจปัญหาครัวเรือน จากเดิม 14 ล้านครัวเรือนเป็น 20 ล้านครัวเรือน ให้ครบทุกครัวเรือนใน 76 จังหวัด โดยหนึ่งในเมนูแก้ปัญหาที่สำคัญ คือ “ปัญหาสุขภาพพลานามัย” ดังนั้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยเราดำเนินการล่วงหน้ามาก่อนแล้ว การร่วมมือกับ สช. ในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดสิ่งที่ดีที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มพูนคุณประโยชน์มากยิ่งขึ้น

“การขับเคลื่อนสิ่งที่ดีเหล่านี้ เรามีจุดแตกหักที่สำคัญอยู่ที่ “หมู่บ้าน” เพราะคุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีอย่างยั่งยืนได้ เราต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้นำบูรณาการ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำว่า “กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย ด้วยการบูรณาการงาน บูรณาการสรรพกำลังของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เฉกเช่นเดียวกับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มข้นจริงจัง นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของพี่น้องประชาชน ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เป็นภาคีเครือข่าย “เราจะทำงานร่วมกันด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างต่อเนื่อง” ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ สช. กล่าวว่า สช. เป็นเกียรติยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมลงนาม MOU ขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรมตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในวันนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี/รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานฯ มีหน้าที่และอำนาจจัดทำ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ อันจะเป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ กำหนดเป้าหมายในระยะ 5 ปี คือ “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” อีกทั้งยังได้นิยามคำว่า “สุขภาพ” หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล ดังนั้นคำว่า “สุขภาพ” จึงเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมและระบบต่าง ๆ ในทุกมิติ หากประชาชนมีสุขภาพกายและใจที่ดี ดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดี ย่อมส่งผลต่อผลิตภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี รวมไปถึงนำไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนของประเทศตามไปด้วย  สอดคล้องกับเป้าหมายและเจตนารมณ์ของกระทรวงมหาดไทย คือ “ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน บนฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดย สช. ยินดีและมีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ เครื่องมือและกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในการพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นธรรมของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงเครื่องมือหรือกระบวนการมีส่วนร่วมอื่น ๆ ตามหลักการ “สร้างนำซ่อม” และ “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่เชื่อมโยงกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ซึ่งเราเห็นความมุ่งมั้นตั้งใจในการนำสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชนของกระทรวงมหาดไทย เพราะ “สุขภาพประชาชนสำคัญกว่ากฎหมาย” ดังที่ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวว่า “ทั้งหมดเป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยทำอยู่แล้ว” โดยมีกลไกของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นผู้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนในพื้นที่ อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยยังมีข้อมูลสำคัญของพื้นที่ที่จะสนับสนุนให้พวกเราได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ พวกเราจะได้บูรณาการร่วมกันในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม สานพลังเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนเป็นสำคัญและนำไปสู่สังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ผ่านกลไก บทบาท ภารกิจของหน่วยงานและเครือข่ายของสองหน่วยงาน ทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ เป็นเครื่องมือที่จะทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทยและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนในทุกมิติ

“ขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยทุกท่านที่เห็นความสำคัญในเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอันจะนำไปสู่สังคมสุขภาวะ และให้โอกาสในการสานพลังความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เราจะได้บูรณาการร่วมกัน นำไปสู่การมีส่วนร่วมของสังคมในระดับพื้นที่ อันจะนำไปสู่สังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป” นพ.สุเทพฯ กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply