วันนี้ 29 พ.ค. 66 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ระดับกระทรวง พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ทำไมต้อง MOI CAST (Ministry of Interior for Change Agent for Strategic Transformation)” ผ่านระบบ Zoom ไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก จังหวัดนครนายก โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะผู้บริหารจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ และผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 96 คน ได้แก่ รองอธิบดี หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พวกเรามีความหวังที่จะเห็นคนมหาดไทยมีแนวความคิดในการปลุก “จิตวิญญาณมหาดไทย” ที่ปรารถนาจะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จด้วยการจับมือร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย คือ ข้าราชการทุกกระทรวง ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อสารมวลชน และพี่น้องประชาชน เพื่อขยายผลทำให้อุดมการณ์ (Passion) ที่มีในตนเองได้เสริมสร้างกับทีมงาน ดังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า ชีวิตเราเกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับคนทั้ง 8 ทิศ ที่ต้องเป็นทีมงาน โดยมี “ผู้นำ” ซึ่งมีทัศนคติ (Attitude) ที่ดีต่อการช่วยเหลือสังคม ครอบครัว ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ทำให้เขาดึงความรู้ความสามารถตนเอง และทีม ลุกขึ้นมาช่วยกันผลักดันขับเคลื่อน
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และต่อมาพระราชทานแนวทางการทำงาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ซึ่งตัวอย่างสำคัญ คือ “คลองแม่ข่า” จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นการแก้ไขในสิ่งผิดที่น้อมนำแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาทำให้เห็นผลลัพธ์ คือ ประโยชน์ที่ยั่งยืน เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้มีการคัดเลือกแม่น้ำลำคลองที่เน่าเสีย ที่เป็นสิ่งที่ผิด เพื่อร่วมกันแก้ไขพัฒนาให้มีความสะอาด สวยงาม อันจะทำให้ความยั่งยืนของระบบการดูแลน้ำดีขึ้น รวมถึงการรวมพลังทุกภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการจัดงานวันดินโลก ภายใต้แนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” เพื่อแก้ไขในสิ่งผิดทำให้ดินมีคุณภาพดี เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งสร้างประโยชน์ให้กับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดี และส่งเสริมการใส่ผ้าไทยเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทดีขึ้นอย่างยั่งยืน เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า Attitude ที่ดีของคนมี Passion ที่ดี เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเพียรพยายามกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมตระหนักและให้ความสำคัญ ดังโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการและผู้นำทุกระดับได้ช่วยกันขยายผลจนเกิดเชิงปริมาณเยอะมาก แต่สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญ หรือเชิงคุณภาพ คือ ความมีน้ำใจ เสียสละกำลังกาย กำลังสติปัญญา มีความเมตตา กรุณา มีจิตใจอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มีความสุข พ้นจากความทุกข์ ซึ่งตรงกับอุดมการณ์ชาวมหาดไทย ทั้งข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้บริหาร อปท. ต้องช่วยกันทำควบคู่ไปด้วยกัน ดังสุภาษิตไทยที่ว่า “ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว” โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่ตัว “ผู้นำ” ที่จะเป็นต้นแบบ ถ้าผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดี ทุกองคาพยพก็จะดี ถ้าทำไม่ดี ก็จะทำให้บิดเบี้ยวจนเข้าใจผิดว่าสิ่งไม่ดีเป็นเรื่องดี ซึ่งความสำเร็จต้องเกิดจากคนมีทัศนคติ (Attitude) ที่เป็นบวก และอุดมการณ์ (Passion) ที่ดี ตามมาด้วยองค์ความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) ที่เกิดจากคนหลายคนที่สามารถรวมทีมทำงานจนประสบความสำเร็จได้ ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่ “หัวใจอยู่ที่คน” โดยผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารส่วนกลางในฐานะคนนิเทศ ติดตาม กระตุ้น ประเมินผล ต้องมีความรู้มากกว่านายอำเภอ ต้องมีความสนใจที่เข้มข้น (Concentrate) สูงกว่านายอำเภอ ต้องมีหัวใจนักปราชญ์ (สุ จิ ปุ ลิ) ที่มากกว่า ด้วยการคิดและทำความเข้าใจในเชิงลึกและกว้างขวางรอบด้าน เพื่อสามารถนำกลับไปสร้างทีมที่กรม/รัฐวิสาหกิจ แล้วขยายผลไปสู่การกระตุ้นปลุกเร้าคนในองค์กรและพี่น้ององคาพยพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้ช่วยกัน Change for Good รูปแบบการทำงานให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
“โครงสร้างการทำงานของกระทรวงมหาดไทยที่นับเนื่องมาตั้งแต่ 131 ปีก่อน อันมีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องที่ ท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน ได้สืบทอดให้ความสำคัญกับ “ผู้นำ” ที่เป็นโซ่ข้อกลางนำสิ่งที่เป็นนโยบายไปสู่ประชาชน และ Delivery สะท้อนสิ่งที่เป็นความต้องการ ปัญหา และศักยภาพของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดมาสู่ผู้บริหารส่วนกลางเพื่อผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยผู้นำที่ดี ต้องสะท้อนปัญหาความต้องการไปยังส่วนกลางในรูปแบบ Bottom up เพื่อให้เกิดการ Top down สั่งการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ “ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์” แต่ต้องเป็นผู้นำการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ ด้วยการไม่ทำงานเป็น Officer แต่ทำงานเป็นแม่ทัพลงพื้นที่ไปช่วยประชาชน มองปัญหาเป็นข้าศึก พุ่งเป้าหาวิธีการ/แนวทางช่วยเหลือประชาชนในทุกเรื่อง เพื่อให้งานประสบความสำเร็จซึ่งปลายน้ำคือ “ความสุขของประชาชน”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า เราต้องแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยการขับเคลื่อนสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน หรือเรียกว่า “การปฏิบัติบูชา” ด้วยการมุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีเพื่อประชาชนได้รับสิ่งที่ดี รวมถึงน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เช่น ที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ชาวมหาดไทยได้ร่วมกันลงไป Change for Good หลายกิจกรรม อาทิ การพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ การส่งเสริมใช้พื้นที่วัด โรงเรียน หมู่บ้าน เป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพืชสมุนไพร การส่งเสริมพัฒนาพื้นที่หน้าที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา หน้าพระอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้เป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์เรื่องสิ่งแวดล้อม การแสดงอัตลักษณ์ และเป็นพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โดยมีคนในพื้นที่เป็นผู้แนะนำการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สอดคล้องสอดรับกับอัตลักษณ์คนกัลยาณิวัฒนา เป็นต้น อันเป็นตัวอย่างเครื่องยืนยันว่า ชีวิตของคนมหาดไทยและทุกภาคีเครือข่ายต้องยกระดับการเป็นผู้นำในทุกระดับ ด้วยการส่งผ่านความปรารถนาดีจากส่วนกลางไปยัง อำเภอ เพื่อให้อำเภอไปทำทีมตำบลและทีมหมู่บ้านให้เข้มแข็ง เพราะเราไม่ได้มีแค่งานประจำตามอำนาจหน้าที่ (Routine Job) ที่ต้องทำเป็นประจำ และต้องทำให้ดีขึ้น และที่สำคัญต้องมีงานพิเศษ (Extra Job) ที่ต้องทำด้วยหัวใจ “จิตอาสา” ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ความทุกข์น้อยลงจนหมดไป และสื่อสาร (Report) รายงานผู้บังคับบัญชา สื่อสารคนในหน่วยงาน รวมถึงสร้างการรับรู้ไปยังสาธารณชน โดยคนในองค์กรต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน “เพราะการสื่อสารจะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน” และต้องสื่อสารตลอดเวลา โดยผู้รับสารต้องเตือนสติอยู่เสมอว่า ต้องมี “โยนิโสมนสิการ” คือ การใช้สติคิดใคร่ครวญให้ดีละเอียดถี่ถ้วน กล่าวคือ การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนก่อนจะเชื่อเรื่องนั้น ๆ และต้องทำหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีคือการทำให้ผู้บังคับบัญชานำเสนอสิ่งที่ดีจนทำให้ผู้บังคับบัญชาทำสิ่งที่ดีที่ตนเองอยากให้เกิดขึ้นได้ และต้อง Action Now ให้ความสำคัญกับทุกนาทีที่ยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ราชการร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ทำให้ UN SDGs ทั้ง 17 ข้อ บรรลุตามสิ่งที่เราได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ไว้
“ทุกคนต้องช่วยสะกดจิตสะกดใจตนเองให้ปลุกไฟแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ไฟจิตอาสาของภาคราชการให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน ด้วยการร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ ตามหลักการมีส่วนร่วมด้วยใจที่เปิดกว้าง (Participation + Open mind) ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ร่วมรับผลประโยชน์ด้วยกัน” โดยตระหนักเสมอว่า ความรู้ความสามารถของคนคนเดียวจะสู้คนจากหลายหน่วยมารวมกันเป็นแขนงไม้ไผ่ไม่ได้ เพื่อช่วยกันเข็นครกขึ้นภูเขา ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible) ให้เป็นสิ่งที่ทำได้ I’m Possible ด้วยการยอมรับจุดด้อยจุดแข็งให้เป็นสิ่งที่เรายอมรับได้ด้วยเหตุผล เพื่อทำให้กลไกการขับเคลื่อนทีมนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนทุกระดับ ทั้งทีมจังหวัด (P(Province)CAST) ทีมอำเภอ (D(District)CAST) ทีมตำบล (T(Tambon)CAST) และทีมหมู่บ้าน (V(Village)CAST)” เป็นผู้นำทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” คือ บ้านเรือนและหมู่บ้านมีความมั่นคงปลอดภัย สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย มีถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีธนาคารขยะ เกิดความรัก สามัคคี เกิดการรวมกลุ่มจิตอาสาแบบไม่เป็นทางการในลักษณะป๊อก คุ้ม หย่อมบ้าน น้อมนำแนวทางแห่งความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ และถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ด้วยการพาลูกหลาน เด็กและเยาวชนไปร่วมทำเพื่อให้เกิดการซึมซับและสานต่อเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
Leave a Reply