พาไปรู้จัก “รามัญธรรมยุติกนิกาย ในดินแดนพม่า”

โดย..ขุนแผน แดนรามัญ

วันนี้ขอเสนอชีวประวัติพระเถราจารย์รามัญ ผู้มีคุณูปการต่อวงการคณะสงฆ์ในเมืองมอญเป็นอย่างมาก พระเถระผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา รามัญธรรมยุตินิกาย หรือ นิกายมหาเย็น ในดินแดนพม่า จนเจริญรุ่งเรืองสืบมากระทั่งปัจจุบัน พระมอญรูปนี้ก็คือ…

“พระไตรสรณธัช(เย็น พุทฺธวํโส)” เปรียญ ๕ ประโยค   

อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล ราชวรวิหาร(วัดลิงขบ) แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

 

  พระไตรสรณธัช มีนามเดิมว่า “เย็น”  ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๒๐๓ พ.ศ. ๒๓๘๓ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี ท่านถือกำเนิดในตระกูลชาวมอญ แห่งบ้านคลองครุ หรือบ้านแหลมครุ เมืองสาครบุรี (ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองสมุทรสาคร และในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้เปลี่ยนการเรียกชื่อ จาก เมือง เป็น จังหวัดสมุทรสาคร และปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร) บิดามารดาของท่านไม่ทราบนาม ทราบเพียงว่าท่านเป็นบุตรชายคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน

ในวัยเด็ก ท่านได้เข้ารับการศึกษาภาษามอญและไทยขั้นต้นที่ วัดคลองครุ เมืองสาครบุรี ต่อมาท่านได้ติดตามพระอาจารย์ มาอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯพระนคร และได้เล่าเรียนภาษาบาลีขั้นต้น ในสำนักวัดบวรนิเวศฯ กระทั่งเมื่ออายุครบเกณฑ์บวช จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร พระนคร โดยมี สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปปัชฌาย์ โดยได้รับฉายาทางธรรมว่า “พุทฺธวํโส”

หลังจากที่ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่บวรนิเวศฯ พระนคร มาตามลำดับ ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมบาลี และได้เข้าสอบแปลบาลีสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนสอบไล่ได้เปรียญ ๕ ประโยค ต่อมาท่านจึงได้รับพระราชทาน พัดยศ ตำแหน่ง พระมหาเปรียญ ๕ ประโยค

พระมหาเย็น พุทฺธวํโส ท่านมีความเชี่ยวชาญในภาษามอญและภาษาบาลีเป็นอย่างดี ท่านได้เป็นพระมหาเปรียญผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยติธรรมประจำสำนักวัดบวรนิเวศฯ จนปรากฏมีศิษย์ศึกษาในสำนักท่านเป็นจำนวนมาก แม้แต่ ท่านเจ้าคุณฯ พระคุณวงศ์(จู สิงโฆ) วัดปรมัยยิกาวาส จ.นนทบุรี สมัยเมื่อครั้งยังจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรมงคล(วัดลิงขบ)ก็เคยเป็นศิษย์มาศึกษาอยู่กับท่านด้วย

ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ท่านได้ลาสิกขา และได้เข้ารับราชการเป็น มหาดเล็กในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์  ซึ่งพระมหาเย็น ท่านมีความสนิทชิดเชื้อกับกรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นอย่างดี เนื่องมาจากเมื่อครั้ง พระมหาเย็น อุปสมบทอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ ได้เป็นพี่เลี้ยงของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เมื่อคราวผนวชเป็นสามเณร และก็เป็นที่คุ้นเคยกันเป็นการส่วนพระองค์มากถึงกับเมื่อคราวที่ พระมหาเย็น สอบไล่ได้เปรียญ ๕ ประโยค กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ก็ได้ประทานผ้าไตรแพรถวายเป็นรางวัลด้วย ท่านได้รับราชการอยู่เป็นเวลา ๑ ปีเศษ จึงได้ลาออกมา

กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ท่านเดินทางไปเมืองหงสาวดี รัฐมอญ ซึ่งขณะท่านอยู่ที่เมืองหงสาวดีนั้น ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส มีความพอใจที่จะบวช จึงหันเข้าหาความสงบในร่มกาสาวพัสตร์ โดยได้เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง ที่เมืองหงสาวดี รัฐมอญ ในช่วงนี้เอง ท่านได้พิจารณาเล็งเห็นว่า พระสงฆ์ในเมืองมอญนั้นเกิดความหย่อนยานในพระธรรมวินัย อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของชาวพุทธได้ ท่านจึงได้นำพุทธศาสนา ธรรมยุติกนิกายจากเมืองไทย ไปเผยแพร่ยังบรรดาวัดมอญ ในประเทศพม่าด้วย โดยท่านได้ทำการสร้างวัด และโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมขึ้นในเมืองมอญไว้เป็นจำนวนมาก จนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศพม่า ในนาม “นิกายมหาเย็น” ซึ่งปัจจุบันมี วัดในประเทศพม่า ที่อยู่ในสังกัด นิกายมหาเย็น กว่า ๗๐ วัด ด้วยกัน

ท่านได้อยู่จำพรรษาที่เมืองหงสาวดีมาได้ระยะหนึ่ง จึงได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย ซึ่งหลังกลับจากเมืองหงสาวดีนั้น ท่านก็ได้จาริกไปที่ต่าง ๆ  มิได้อยู่เป็นหลักแหล่ง ในระยะแรกท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดคลองห้า เมืองธัญญบุรี และวัดต่างๆในเขตเมืองปทุมธานีบ้าง ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดยานนาวา พระนครบ้าง และครั้งสุดท้ายท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบางละมุด เป็นเวลา ๒ พรรษา

ต่อมาได้มีผู้นำเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหาเย็น ไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ให้ทรงทราบ พระองค์ทรงตระหนักในพระทัยว่า พระมหาเย็น รูปนี้ เป็นเปรียญผู้ใหญ่ถึง ๕ ประโยค มีความชำนิชำนาญในภาษาบาลีเป็นอย่างดี กับทั้งยังมีคุณูปการะแก่พระญาติของพระองค์ด้วย อนึ่ง พระธรรมวิสารทะ(จู สิงโฆ) ซึ่งก็เคยเป็นศิษย์ของท่านเมื่อบวชคราวก่อน ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระคุณวงศ์ และโปรดให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ทางวัดบวรมงคล(วัดลิงขบ) จึงว่างเว้นจากเจ้าอาวาส การที่จะหาพระภิกษุที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไปปกครองวัดนี้จึงเป็นการยาก เมื่อทรงพิจารณาแล้วก็ทรงเห็นอยู่แต่ พระมหาเย็น รูปนี้ ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ พอที่จะบริหารกิจการงานคณะสงฆ์ได้ จึงทรงหารือกับ พระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระมหาเย็น พุทฺธวํโส เปรียญ ๕ ประโยค เป็นพระราชาคณะที่ พระไตรสรณธัช และโปรดให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ซึ่งนับเป็น เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล รูปที่ ๗ และเป็นเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายในยุครามัญนิกาย ก่อนที่จะถูกยกเลิก

นยุคที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรมงคลนี้ ท่านได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆภายในวัดหลสยอย่าง แม้ด้านการศึกษาท่านก็ขมักเขม้นในการอบรมสั่งสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรภายในวัด แม้ว่าท่านจะมีอายุมากแล้ว ทั้งนี้เพื่อฟื้นฟูฐานะด้านการศึกษาของวัดบวรมงคลให้ดีขึ้น เพราะว่าวัดบวรมงคลนี้เคยมีชื่อเสียงทางด้านการศึกษามาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ความพยายามของท่านแทบจะไม่เป็นผลเลย เพราะพระภิกษุสามเณรชาวรามัญในวัดนี้น้อยลงไปทุกที จะหาผู้ที่สนใจจะมาเรียนได้ยาก ทั้งปัจจัยสนับสนุนการศึกษาก็ขาดแคลนลง ในที่สุดท่านก็ปล่อยไปตามสภาพ ประกอบกับท่านนั้นมีอายุเข้าขั้นชราภาพมากแล้ว

กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระไตรสรณธัช (เย็น พุทฺธวํโส) ท่านได้อาพาธอย่างหนัก และได้ละสังขารลงอย่างสงบ ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุท่านได้ ๗๖ ปี ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล นาน ๘ ปีเศษ…

///////////////////////

 

ขอขอบพระคุณข้อมูล

– หนังสือ ประชาธรรมนาถานุสรณ์ // ประวัติวัดบวรมงคล , หนังสือ ประวัติ สมณศักดิ์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๕๓๔

–  ข้อมูลภาพจาก หนังสือ ประวัติ สมณศักดิ์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๕๓๔

Leave a Reply