วันที่ 7 ธ.ค. 66 วานนี้ ณ หน้าอาคารตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร นำทีมผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัย ร่วมทำความสะอาดพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย BIG CLEANING เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีประสาทปริญญามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 ธันวาคม พ.ศ. 2566 นี้
พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวว่า กิจกรรม BIG CLEANING DAY พวกเราชาวประชาคมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดขึ้นปี โดยคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตจากคณะและภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วม และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากหน่วยงานในท้องถิ่นหรือใกล้เคียง เช่น เทศบาลท่าโขลง เทศบาลเมืองลำตาเสา นำรถฉีดน้ำ และเจ้าหน้าที่มาร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากเกิดพลังสามัคคีในหมู่พวกเราชาว มจร แล้ว ยังเป็นการกวาดบ้าน กวาดเรือน ทำความสะอาด รับแขกบ้านแขกเมืองและคณาจารย์ นิสิต ประชาชนที่จะมาร่วมงานประสาทปริญญาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9-10 ธันวาคมนี้ ตอนนี้บางส่วนเริ่มทยอยมาแล้ว โดยเฉพาะพระเถระ นักวิชาการและชาวพุทธที่เดินทางเข้ามารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ หลายรูป หลายคนมาแล้ว ในขณะที่นิสิต คณาจารย์ ตามวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ตามภูมิต่าง ๆ ที่ทาง มจร ส่วนกลาง จัดที่พักให้ในอาคารเรียนรวม บางจังหวัด มีมาจับจองพื้นที่แล้ว
“การรับปริญญาปีเราจัดแบบรวบรัดเหลือแค่ 2 วันคือ วันที่ 9 เป็นวันซ้อมใหญ่ และวันที่ 10 เป็นวันรับจริง ภาคเช้าเป็นการรับของกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท และอภิธรรมบัณฑิต ซึ่งปีนี้ได้รับความเมตตาจาก สมเด็จพระมหาธีราจารย์ รับพระบัญชามาประทานปริญญาบัตรแทนสมเด็จพระสังฆราช ส่วนภาคบ่าย สมเด็จพระสังฆราช จะเสด็จมาประทานปริญญาบัตร ซึ่งเป็นของกลุ่มผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ เข็มเกียรติคุณ และกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และจากสถาบันสมทบ ปีนี้รวมผู้รับปริญญาบัตรทิ้งสิ้น 3,108 รูป /คน แยกเป็นบรรพชิต 1,671 รูป และคฤหัสถ์ 1,437 คน อันนี้ยังไม่นับรวมกลุ่มปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์อีกจำนวน 117 รูป /คน..”
“มจร” หรือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2430 เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุ สามเณรและคฤหัสถ์ ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2540 ได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มี พระพรหมวชิราธิบดี ดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัย พระพรหมบัณฑิต ดำรงตำแหน่ง อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และมี “พระธรรมวัชรบัณฑิต” ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จัดการศึกษาแบ่งออกเป็น 5 คณะ ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มี 11 วิทยาเขต 30 วิทยาลัย 1 โครงการขยายห้องเรียน และ 1 หน่วยวิทยบริการ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง มีจำนวนทั้งหมด 293 หลักสูตร โดยจำแนกเป็น ปริญญาตรี 170 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร ปริญญาโท 78 หลักสูตร ปริญญาเอก 43 หลักสูตร มีอาจารย์ทั้งหมด 1,351 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาโท 493 รูป/คน ปริญญาเอก 805 รูป/คน และมีตำแหน่งทางวิชาการ จำนวน 473 รูป/คน จำแนกเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ 348 รูป/คน รองศาสตราจารย์ 117 รูป/คน และศาสตราจารย์ 8 รูป/คน ผลิตผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ 1,276 เรื่อง มีนิสิตทั้งสิ้น 19,704 รูป/คน จำแนกเป็น ปริญญาตรี 14,246 รูป/คน ปริญญาโท 3,427 รูป/คน ปริญญาเอก 2,031 รูป/คน ในจำนวนนิสิตทั้งสิ้นมีนิสิตชาวต่างประเทศ 1,383 รูป/คน จาก 28 ประเทศ
Leave a Reply