วันที่ 18 ก.ย.2562 รศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตบาลีพุทธโฆษ อดีตสามเณรนาคหลวง ป.ธ.9 ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว( Wate Bunnakornkul) ความว่า ขออนุโมทนา “ธรรมวิทยาทาน” ศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ 17 กันยายน 2562 โครงการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต ปริญญาเอกสาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ หลักสูตรแบบ 2.2 รับผู้จบเปรียญธรรม 9 ประโยค หรือ ผู้จบปริญญาตรี สาขาบาลีพุทธศาสตร์ ที่มีผลการเรียน เกียรตินิยมอันดับ 1
ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ (นักวิชาการด้านพุทธศาสนา) บรรยายพิเศษ “งานวิจัยคัมภีร์บาลีระดับนานาชาติ” ได้เล่าประสบการณ์การเรียนบาลีทั้งในแบบบาลีสนามหลวง การเรียนบาลีในคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์ รวมทั้งประสบการณ์การฝึกภาษาอังกฤษในระดับชั้นสูง ต้องทุ่มเทพากเพียรอย่างหนัก เพิ่มศักยภาพให้สามารถเรียนจนจบปริญญาเอก และสามารถนำเสนองานในระดับนานาชาติ สร้างแรงกระตุ้นให้นิสิตเกิดอุตสาหะวิริยะทุ่มเทฝึกฝนพัฒนาภาษา เพื่อนำความรู้คัมภีร์บาลีเถรวาทเผยแผ่ในระดับนานาชาติ
ท่านได้นำเสนอตัวอย่างงานวิจัยเชิงคัมภีร์บาลีที่นักวิชาการด้านบาลีและพระพุทธศาสนาสนใจศึกษา รวมทั้งวิธีเขียนอ้างอิงคัมภีร์บาลี งานบางอย่างเช่นการปริวรรตคัมภีร์บาลีอักษรโบราณให้เป็นบาลีอักษรสมสมัยที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก เป็นงานที่นักวิชาการนานาชาติสนใจ เรามีความพร้อมเชี่ยวชาญด้านภาษาบาลี หากสามารถต่อยอดความคิด วิธีทำงานวิจัยเชิงคัมภีร์ให้กับเปรียญ 9 ได้แล้ว จะมีงานคัมภีร์บาลีมากมายมหาศาลรองรับผู้จบหลักสูตรนี้ พร้อมทั้งนำเสนอตัวอย่างการเขียนงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Pali Text Society หลายเรื่อง
นอกจากนั้น ท่านได้นำเสนอวิธีทำงานของอาจารย์และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่ง ที่มุ่งงานวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ปริวรรตคัมภีร์บาลีอักษรใหม่ ให้อาจารย์หรือนักวิชาการมีอิสระการทำงาน และมีเวลาวิจัยคัมภีร์บาลีอย่างเต็มที่ ซึ่งแตกต่างจากมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่ง ที่กำหนดภาระงานคณาจารย์ให้ครบทุกด้าน แต่ไม่ดีเด่นสักด้าน มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ควรสร้างความเข้มแข็งด้านคัมภีร์บาลี ให้มีแผนงานการวิจัยคัมภีร์แบ่งช่วงระยะงาน กำหนดเนื้องานคัมภีร์ให้จบเป็นช่วง ๆ คัมภีร์บาลีมีอยู่ทั่วโลก 3 – 4 พันกว่าคัมภีร์ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการวิจัยให้จบสมบูรณ์ ควรแบ่งช่วงงานเป็น ขั้นปริวรรต ขั้นแปล และขั้นวิจัยคัมภีร์บาลีชั้นสูง ในการทำงานลักษณะนี้ พุทธโฆสควรสร้างภาคีเครือข่าย กับองค์ด้านนี้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งท่านพร้อมยินดีให้ความช่วยเหลือด้านการเชื่อมสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.อุทิส ได้สรุปผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (Uthit Siriwan)ความตอนหนึ่งว่า “เมืองไทยมีฐานข้อมูลคัมภีร์บาลีเยอะมากในอักษรขอมยังไม่ได้ปริวรรตเป็น computerized และยกระดับเป็น digitized เช่นเดียวกับสิงหลและพม่า สถาบันบาลีพุทธโฆสต้องไปติดต่อหอสมุดแห่งชาติ มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัดสูงเม่น จ.แพร่ วัดในเมียนมาร์ วัดในไทย เป็นต้น เพื่อวิจัยคัมภีร์เน้นปริวรรตยกระดับ จากจดจารจารึกในใบลานเป็นจดจารด้วยคอมพิวเตอร์
และยกระดับเป็นดิจิทัล จากนั้นใช้ AI อัลกอริทึมชั้นสูง สร้างฐานข้อมูลให้บาลีและพุทธศาสนาสายเถรวาท เป็นฐานข้อมูลระดับนานาชาติ เป็น Internet of Things: IoT จึงจะของบวิจัยจากงบประมาณภาครัฐแล้วได้งบประมาณทำวิจัยแบบพุ่งเป้า และต้องเอาสำนักเรียนบาลีทั่วประเทศ โรงเรียนปริยัติสามัญ
โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ที่เปิดสอนธรรมศึกษาเป็นแนวร่วม เป็นเครือข่าย เป็นภาคีวิจัยจึงจะได้งบประมาณสนับสนุน ในฐานะ Demand Side
คือผู้ใช้ประโยชน์ เลิกวิจัยแบบ Supply Side คือตามใจชอบ แบบนั้นต้อง Know Who+ Know How”
Leave a Reply