เล่าเท่าที่เห็น : สิ่งที่ “มมร” มี แต่ “มจร” ไม่มี??

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย หรือ “มมร”  มีงานประทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจบใหม่จำนวนทั้งสิ้น 1,762  รูป/คน ซึ่งในจำนวนผู้จบใหม่ทั้งหมดนี้จะสังเกตเห็นว่าจำนวน “คฤหัสถ์” มากกว่า “พระภิกษุ-สามเณร” ในทุกระดับชั้น  ในขณะที่ “มจร” สัดส่วนพระภิกษุ-สามเณร มากกว่าคฤหัสถ์หลักร้อยเช่นกัน ส่งนัยอะไร..ให้คน  มจร -มมร ไปคิดเอาเอง!!

“มมร” มอบปริญญาบัตรใช้คำว่า “ประทาน” ส่วน “มจร” ใช้คำว่า “ประสาท”  สองคำนี้คือ..ความแตกต่างระหว่าง มมร และ มจร  คำว่า ประทาน มาจากภาษาสันสกฤต ปฺรทาน (อ่านว่า ปฺระ -ทา-นะ) แปลว่า การให้ใช้กล่าวถึง..การรับของที่พระราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าให้แก่สามัญชน (สมเด็จพระสังฆราช ที่มาจากสามัญญชนเทียบเท่า..พระองค์เจ้า)

ส่วนคำว่าพิธี “ประสาทปริญญาบัตร” ใช้คำนี้ในกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาจัดขึ้น โดยมิได้กราบบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์ หรือมิได้กราบทูลเชิญพระบรมวงศ์เสด็จพระราชดำเนิน หรือมิได้ทูลเชิญพระอนุวงศ์เสด็จไปทรงเป็นประธาน “นัย” มันก็ประมาณนี้

“ผู้เขียน” ไปร่วมงานประทานปริญญาบัตรของ “มมร” ครั้งนี้ครั้งแรกตามคำชวนของ “พระครูธีรวิทย์” พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวิชาการ วิเทศน์สัมพันธ์ ที่คุ้นเคยกันมานาน จึงตกลงไป ทั้ง ๆ ที่ “ร่างกาย” ทรุดโทรมป่วยเป็นหวัดอาการคล้ายคนติดโควิด คือ เจ็บคอ ไม่กระปรี้กระเปร่า สาเหตุหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะพึ่งจบการการต้อนรับคณะสงฆ์มอญที่มารับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ มจร และเพิ่งส่งคณะชุดใหญ่กลับไปแล้ว

สำหรับ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2436 ตามพระดำริสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมขั้นสูงของพระภิกษุสามเณร ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ โปรดให้จัดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า “สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย” ต่อมาใน พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเวศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยมหากุฎราชวิทยาลัย และตราพระราชบัญญัติเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย แบ่งการศึกษาออกเป็น 5 คณะได้แก่ คณะศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มี 7 วิทยาเขต 3 วิทยาลัย มีลูกศิษย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ

งานประทานปริญญาบัตรปี 2566 นี้ สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 16 รูป/คน ปริญญาเอก 63 รูป/คน ปริญญาโท 365 รูป/คนและปริญญาตรี 1,343 รูปคน รวมทั้งสิ้น 1,762 รูป/คน

“ผู้เขียน” เมื่อถึงขออนุญาตฝ่ายจราจรว่ามา “ทำข่าว” ตามคำชวนของพระครูธีรวิทย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อำนวยความสะดวกด้วยดีคือให้เข้าไปด้านในได้ สภาพการจราจรไม่วุ่นวายเหมือนกับ “มจร” อาจเป็นเพราะจำนวนรถและคนน้อยกว่า  เมื่อไปถึงจอดรถเดินดูรอบ ๆ  บริเวณ “มมร” มีหอพักชาย -หญิงรวมทั้งพระภิกษุ ตั้งอยู่ด้านหลังเป็นตึก 4-5 หลัง มีห้องร่วม 400-500 ห้อง มีโรงแรมของ “มมร” เอง ซึ่งเคยได้ข่าวว่ามีคนนอก “สัมปทาน” บริหารจัดการให้ เพราะโรงแรมแห่งนี้มีทั้งห้องสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง และห้องรับรองมากกว่า 300 ห้อง ถือว่าสร้างรายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยได้อย่างน่าฉลาด ส่วน “มจร” มีเพียงแค่ “ตึก 92” ที่เก่าทรุดโทรม วางของรกรุงรัง ไม่น่ารองรับแขกบ้านแขกเมืองแล้ว

เดินอ้อมไปด้านหลังโรงครัวมีเต็นท์ขนาดใหญ่ของ “เบียร์ช้าง” ในนาม “มูลนิธิสิริวัฒนภักดี” ตั้งเรียงรายหลายหลัง พยายามจะหา “ข้าวกิน” แต่ดูแล้วเกือบทุกโต๊ะอาหารเกือบหมดแล้ว และบางโรงทานคนเข้าแถวยาวเหยียดจึงเดินสำรวจมองดูไปเรื่อย ๆ  เห็นกลุ่มคนทั้งพระภิกษุ ทั้งฆรวาส แม่ชี ร่วมทั้งนานาชาติและกลุ่มชาติพันธุ์นั่งจับกลุ่มกันเป็นแถว ๆ  ซุ้มต่าง ๆ ดูน้อยว่า “มจร” รวมทั้งจำนวนคน การละเล่นรื่นเริงไม่มี บรรยากาศไม่ถึงกับครึกครื้น..แต่ก็ไม่เงียบเหงา

“ผู้เขียน” เดินจนเหนื่อยเพราะป่วย แวะไปที่เต็นท์บริการน้ำฟรี ที่นี้เจอ “พระมหาแม้น” พระครูศรีปริยัติวิธาน เจ้าอาวาสวัดป่าชัยรังสี จ.สมุทรสาคร เป็น “เพื่อนร่วมห้อง ร่วมรุ่น” ปริญญาโท  มหาวิทยาลัยเกริก ด้วยกัน ตอนนี้ทราบว่าท่านเป็นอาจารย์อยู่ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ตำแหน่งอะไรไม่ได้ถาม เพราะความเป็นเพื่อน เป็นรุ่นเวลาเจอหน้ากัน “เรื่องตำแหน่ง” ต้องถอดหัวโขนออก เจอหน้ากันก็คุยทุกข์สุกดิบไปเรื่อย ได้เวลาพอสมควรจึงเดินเข้าไปยังตึกอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ สถานที่มอบปริญญาบัตร เห็นมีเจ้าหน้าที่สแกนคนเข้างาน มีโต๊ะลงทะเบียน และมีบัณฑิตจบใหม่นั่งอยู่เต็มบริเวณด้านล่าง เมื่อเจอ “พระครูธีรวิทย์” เข้าไปรายงานตัว ท่านพาไปกราบ “พระเทพวัชรเมธี” อธิการบดี มมร ท่านก็เข้ามาจับมือขอบคุณที่มาร่วมงาน และต่อกล่าวต่ออีกว่า วันก่อนไปจังหวัดลำปาง ไม่ได้ตอนรับ “คณะสงฆ์มหาเย็น” ฝากขออภัยท่านเหล่านั้นด้วย ทำนองประมาณนี้แหละ เห็นมีแขกมาเยอะ จึงขอปลีกตัวออกไปสำรวจห้องรับรองผู้มารับ “ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์” เจอ “ดร.เสถียร วิพรมหา” ที่ปรึกษาอธิการบดีมมร เจอ คุณซีและคุณพี ทั้ง 3 ท่านมักคุ้นเป็นกัลยาณมิตรกันดี แต่เห็นยุ่ง ๆ  จึงเดินดูรอบ ๆ บริเวณ แวะไปอ่านประวัติผู้ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิจำนวน 16 ท่าน มีแต่คนมีชื่อเสียงในประเทศไทย นานาชาติไม่มี จึงคิดว่า “มมร” คงไม่มีธรรมเนียมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับนานาชาติเป็นแน่แท้!!

เห็น “เจ้าคุณฉัตรชัย” พระศรีวชิรวาที รองอธิการบดีด้านวิชาการและพัฒนาคุณภาพ พา “ดร.วิษณุ เครืองามฎ” ที่มารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้วย และ “พระศรีวินยาภรณ์”  รองอธิการบดี ด้านกิจการคณะสงฆ์และบริการสังคม  คอยต้อนรับแขกผู้ใหญ่ที่ร่วมงาน   เห็นภาพ “ผู้บริหารรุ่นใหม่” ของ มมร ช่วยกันทำงานดูแล้ว ค่อนข้างดีร่วมด้วยช่วยกัน “คนละไม้คนละมือ” 

“ผู้เขียน” มีความประสงค์ต้องการขึ้นไป ชั้น 2 -3 บนหอประชุมคนธรรมดาทั่วไปขึ้นไปไม่ได้ ถาม “พระครูธีรวิทย์” มีบัตรให้ขึ้นหรือไม่ ดูแล้วคงไม่มี พอดีเจอ “พระครูเป็ด” พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ รองอธิการบดีด้านกิจการนักศึกษาและบริการสังคม ที่กำลัง “เดินวุ่น” ท่านทักทายและบอกว่าให้ไปทานกาแฟชั้น 2 เลยถือโอกาสบอกว่า “บัตรเข้าไม่มี” ท่านก็เมตตาพาไปที่โต๊ะลงทะเบียนบอกให้เจ้าหน้าที่จัด “บัตรคาดแดง” ซึ่งหมายถึงเดินเข้าออก – หอประชุมได้ จึงขึ้นไปชั้น 2 อันดับแรกทานกาแฟ ซึ่งถามพระคุณเจ้าที่ชงว่ามาจากวัดไหน ท่านบอกว่ามาจาก “วัดอาวุธวิกสิตาราม” ไม่กล้าถามมากกว่านี้ แอบไปถามสามเณรที่นั่งบริการกาแฟอยู่ใกล้ ๆ ต่อว่า วันหนึ่งมาคนมาทานเยอะไหม สามเณรตอบว่า ตั้งแต่ประมาณ 1,000 ถ้วยไปแล้ว หลังทานเสร็จเดินไปสำรวจห้องชั้นสองมีห้องรับรอง “พระเจริญชัยมงคลคาถา” ห้อง “รับรองผู้ว่า-ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่” อีกฟากฝั่งก็เป็นห้องรับรองเจ้าหน้าที่พิธีการ ห้องรับรองนายอำเภอ ข้าราชการท้องถิ่น เรื่องห้องรับรอง “มมร” มีมากกว่า “มจร” เพียงแต่ มมร อาคารห้องอาจไม่สวยหรูเหมือน มจร

“เจ้าหน้าที่ มมร” เห็นผู้เขียนเดินอ่านป้ายต่าง ๆ อยู่คง “งง” และคงสงสัยว่าเป็นใคร มาถามด้วยความเป็นห่วงว่าหาอะไรจึงตอบไปว่าเดินสำรวจเฉย ๆ พอดีเจอ “คุณซี” คนรู้จักบอกซีไปว่า “หิวข้าว” น้อง ๆ  เจ้าหน้าหาข้าวกล่องให้กิน 1 กล่อง บรรเทาความหิวลงได้บ้าง

พอ ขึ้นไปชั้น 3 ห้องรับปริญญา ขออนุญาต สห.(สารวัตรทหารบก) บอกเข้าได้ จึงเข้าไปดูด้านใดหอประชุม มีบัณฑิตใหม่นั่งเต็ม แต่ดูจากตาเปล่าน่าจะไม่เกิน 500 คน เมื่อเทียบกับจำนวนผู้จบดูห้องเล็กไปถนัดตา

ที่นี้เจอ “เจ้าคุณประสาร” พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร ซึ่งติดตาม “พระธรรมวัชรบัณฑิต” ที่เดินทางมารับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ไม่พลาดที่เราสองคนจะต้องคุย เรื่อง “การพระศาสนา” และรวมทั้ง “เจ้าคุณชุมพร” พระวชิรรัตนาภรณ์ เลขานุการเจ้าคณะภาค 9 ซึ่งปีนี้ มมร มอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้  “พระพรหมวัชรเมธี”  เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 9 ด้วย

ปีนี้ “สมเด็จพระสังฆราช” ไม่ได้เสด็จมาประทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจบใหม่ของ มมร เนื่องจากทรงอาพาธ มีคนแซวว่า ตอนงานประสาทปริญญาบัตร มจร  ๆ  คงใช้งานพระองค์หนัก จงทำให้พระองค์ทรงอาพาธ เมื่อถึงเวลา 13.30 น. “สมเด็จชิน” สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุปนายกสภา มมร มาปฎิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในการประทานปริญญาบัตรแก่ มมร ปีนี้

“ผู้เขียน” ลงมาด้านล่างแวะไปห้อง “สื่อมวลชน” ได้หนังสือที่ทรงคุณค่ามา 3 เล่มชื่อว่า หนังสือ “พระราชหัตถเวลาในรัชกาลที่ 4 ถึง เซอร์จอห์น เบาวร์ริง” เดินออกมาสังเกตตามซุ้มต่าง ๆ ซึ่งมีกลุ่มพระไทใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง นั่งจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่ ถามคนกะเหรี่ยงคนหนึ่งบอกว่ามาจากอำเภอแม่มาด จ.ตาก น้าสาวมารับปริญญาจึงมาร่วมแสดงความยินด้วย เดินไปสักพักเจอกลุ่มไทใหญ่แต่งกายสวยงามจึงถามมาว่าจากไหนบอกว่ามาจากรัฐฉาน พอดีเจออาจารย์ท่านหนึ่งชื่อ “ดร.วทัญญู ภูครองนา”  อาจารย์มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงรู้ว่า “มมร” รับนักศึกษาหญิงจากไทใหญ่ปีหนึ่งนับร้อยคน สำหรับปีนี้อาจารย์ท่านบอกว่าจบการศึกษา 37 คน ทุกคนอยู่ฟรี เรียนฟรี ค่าเทอมฟรี เพราะมีมูลนิธิดูแล  ลักษณะแบบนี้ “มจร” ไม่มี คือ เป็นวิทยาลัยของผู้หญิงแม่ชีหรือภิกษุณีล้วน ๆ ทราบว่า “สมัยหนึ่ง” เคยมีแนวคิด แต่ก็ “ล่มไป” หาก “มจร” ต้องการให้เป็นศูนย์กลางศึกษาพุทธศาสนาโลกจริง ๆ อาจต้อง “ปัดฝุ่น” ขึ้นมาคิดใหม่ เพราะหากจะว่าไป “ตลาดผู้หญิง”  ทั้งแม่ชี ภิกษุณี และหญิงทั่วไป อนาคตน่าจะสดใสอยู่

ถัดจากนั้นไปอีกหน่อยเจอ “กลุ่มคนมอญ” มาจากอำเภอสังขละบุรีบ้าง อำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี บ้าง ทักทายพอเป็นพิธีด้วยภาษาท้องถิ่น จึงขอตัวกลับก่อน

ความจริง มมร และ มจร เป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์” เหมือนกัน แม้โดยกฎหมายจะสังกัดกระทรวง อว. แต่โดยพฤตินัยทั้ง 2 สถาบันแห่งนี้คือ โรงงานผลิตแรงงาน ป้อนแรงงานแบบมีคุณภาพทั้งองค์ความรู้และพฤติกรรมให้กับ คณะสงฆ์ ให้กับสังคมไทย ซึ่งตลอดที่ผ่าน 100 กว่าปี ผู้เขียนคิดว่าทั้ง 2 สถาบันค่อนข้างทำได้ดี

ส่วนความเหมือนและความแตกต่างที่เล่ามาทั้งหมดนี้คือ “สภาพบรรยากาศ” เฉพาะในวันรับปริญญาเท่านั่น อาจจะเล่าล้ำเส้นไปบ้างเกี่ยวกับสิ่งที่ มมร มี แต่ มจร ไม่มี หรือ มจร มีแต่ มมร ไม่มี เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง 2 สถาบัน มิได้มีเจตนาบอกว่าใครดีหรือไม่ดี

“ผู้เขียน” เชื่ออยู่เสมอว่าทั้ง มจร และ มมร คือ มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยเหมือนกัน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาเถรสมาคมไทยเหมือนกัน คนที่จบจากทั้ง 2 สถาบันก็คือ ชาวพุทธด้วยกันที่จะต้องร่วมกันปกป้องดูและพระพุทธศาสนาของเราให้อยู่รอดปลอดภัยไปตลอดกาลนาน..

Leave a Reply