ครม.เห็นชอบหลักสูตรพัฒนาจริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐมุ่งเป้า 5 ระดับปรับทัศนคติ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคล องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม และหน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบแนวทางในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการรักษาจริยธรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรม และยึดถือแนวทางปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ

ทั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างสังคมและวัฒนธรรมทางจริยธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคนดี มีความสามารถ และมีคุณธรรม พร้อมเป็นกลไกการปฏิรูปประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยที่บริหารประเทศโดยยึดหลักซื่อสัตย์สุจริต เป็นคุณธรรมสูงสุดเพื่อการมุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบข้อเสนอแนวทางดำเนินการเพื่อให้การส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเห็นควรให้นำหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทมีมาตรฐานทางจริยธรรมในระดับเดียวกัน มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรมเป็นประจำ จนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับควรมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้าน Skillsets และ Mindsets อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข เป็นต้น

“กรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าที่ของรัฐ มีหลักการเพื่อยกระดับการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมค่านิยมการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส กล้ายืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม มีกลุ่มเป้าหมาย 5 ระดับ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐแรกบรรจุ , เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีประสบการณ์ที่ผ่านการปฏิบัติงานมาแล้วเกิน 1 ปี , เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่หัวหน้างาน , เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือรองหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าที่ของรัฐ จะประกอบด้วย 5 หลักสูตร ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 5 ระดับ โดยได้พัฒนาและออกแบบการดำเนินการจัดอบรมที่มีความหลากหลายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ และมุ่งเน้นให้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบ Classroom เป็นหัวข้อวิชาที่ต้องให้ผู้เรียนทุกคนได้มาพบปะกัน สร้างความสัมพันธ์อันก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายต่อไป เรียนรู้ร่วมกันโดยมีผู้สอนในห้องเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ส่วนวิชาที่สามารถใช้รูปแบบ Online ให้เป็นหัวข้อวิชาที่ผู้สอนสามารถสอบถามผ่าน Online ตามสถานการณ์ หรืออาจมอบหมายให้ค้นคว้าเพิ่มเติมและใช้เวลาเรียนแบบ E – learning

Leave a Reply