“ดร.มหานิยม” วอนรัฐบาลนำหลักพุทธจิตวิทยา แก้ไขปัญหายาเสพติด

“ดร.มหานิยม” วอนรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ให้มองสะท้อนกลับการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยแนวทางพุทธจิตวิทยา

เมื่อวันที่10 ตุลาคม 2565 ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย หลังจากทำบุญเนื่องในวันออกพรรษา ได้ให้สัมภาษณ์เพื่อชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยหลักพุทธจิตวิทยาว่า เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วจากข่าวสะเทือนขวัญที่สร้างความเศร้าใจกับคนไทยทั้งประเทศจากเหตุการณ์ยิงกราดจนสร้างความสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากที่สุด

“มุมมองของผมเห็นว่า คนติดยาเสพติคหรือคนที่ใช้ความก้าวร้าวรุนแรงส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีจิตใจอ่อนแอและไร้พลังอย่างถึงที่สุดจึงได้ตัดสินใจนำเอาความรุนแรงออกมากลบเกลื่อนความอ่อนแอที่กำลังเกาะกินจิตใจที่กำลังเจ็บป่วยและทุกข์ทรมานของเขาจนขาดสติสัปปะชัญญะขาดความรับผิดชอบชั่วดี พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สติ เตสัง นิวารณัง” หมายถึง สติ เป็นเครื่องกั้นกระแส เป็นเครื่องหยุดยั้งความคิดไว้ ไม่ให้ไหลไปตามอารมณ์ สติจึงเป็นตัวกั้นกิเลสเครื่องเศร้างหมองทั้งหลาย”

ดังนั้น ตนจึงอยากส่งการสื่อสารนี้สะท้อนกลับไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ ทั้งรัฐบาล ทั้งตำรวจ ทหาร ที่มีอำนาจทั้งหลาย ให้หันกลับมาสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจให้มีความเข็มแข็งแก่ผู้มีปัญหาการเสพยา โดยให้หลักพุทธธรรม ในเมื่อทุกวันนี้การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 เป็นการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดหรือติดยาเสพติด โดยถือว่า “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัดรักษา” ประเทศไทยมีศูนย์การบำบัดยาเสพติดทั้งที่เป็นการตั้งขึ้นในโรงพยาบาลหรือเป็นศูนย์บำบัดโดยตรงทั่วประเทศ แต่เมื่อส่งผู้เสพยาเข้าไป กลับออกมาก็มาเสพยาอีก เป็นวงจรอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเหล่า

ดร.นิยม กล่าวต่อว่า ได้อ่านรายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ. ยาเสพติดทั่วประเทศสำรวจ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ทั้งหญิงและชายมีมากถึง 208,360 ราย และที่ไม่ได้เข้าอยู่ในระบบอีกมากเท่าไหร่ครับ ผมเคยบอกไว้แล้วยาบ้า ยาเสพติดเกลือนประเทศหาได้ง่าย หากปล่อยเรื่องแบบนี้โดยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่เปลี่ยนMindset แนวคิดใหม่ ก้าวข้ามการย้ำคิดย้ำทำแบบเดิมๆแล้วเยาวชน ลูกหลานจะอยู่อย่างไร

“ผมจึงอยากสะท้อนเรื่องนี้ออกไปดังๆออกไปให้ถึงหูรัฐบาลผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ว่า การใช้พุทธจิตวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องจิตและกระบวนการทางจิตใจ โดยการนำหลักพุทธธรรมเข้ามายึดเหนี่ยวในการสร้างวัคซีนใจหรือภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางครอบครัวที่เป็นความรักความอบอุ่น ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ภูมิคุ้มกันจากสังคมสิ่งแวดล้อม ภูมิคุ้มกันจากกัลยาณมิตร” ดร.นิยม กล่าวและว่า

รวมถึงส่งเสริมสร้างการเรียนรู้ที่เกิดจากตนเองเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ผู้เสพยาเสพติดส่วนใหญ่ที่หลงเข้าไปเสพยาหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาจเนื่องจากขาดความรักความอบอุ่น ขาดความรู้ความเข้าใจต่อสังคมเข้าใจว่าตนเองไม่มีคุณค่า และที่สำคัญคือการขาดความรู้ทางธรรมะพื้นฐาน หากวันนี้ทุกคนทุกฝ่ายหันมาร่วมมือกันรณรงค์แก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด ควรได้เรียนรู้การปรับทัศนคติมุมมองด้วยการใช้ปัญญาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาของตนเอง ในด้านครอบครัว สังคม และเพื่อน ให้ประสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เสมือนเฟือง 3 ตัวขับเคลื่อนกลไกให้ทำงานในเวลาเดียวกัน

ดร.นิยม ยังกล่าวอีกว่า ในสังคมวัตถุนิยมแบบนี้ เราต้องข้ามช็อตที่บำบัดกันมาตลอดซึ่งก็เห็นแต่จะเยียวยาผู้ป่วยหรือผู้เสพยาแต่ทางร่างกาย หากวันนี้ทุกคนทุกฝ่าย การณรงค์ส่งเสริมเอาใจใส่เรื่องของจิตใจหรือทางด้านจริยธรรม ซึ่งหลักพุทธธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ อาทิ หลักทิศ 6 เป็นหลักธรรมที่พระพุทธศาสนาได้วางกรอบเอาไว้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนต่อบุคคลต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวที่ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ ลูกหลาน ความสัมพันธ์หว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ ความสัมพันธ์ระว่างเจ้านายและลูกน้อง ความสัมพันธ์ระหว่าเพื่อนกับเพื่อน ความสัมพันธ์ระหว่างนักบวชกับชาวบ้าน หรือหลักการคบมิตร ความเป็นกัลยาณมิตรที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะเราจะอยู่ในสังคมคนเดียวไม่ได้ การเป็นมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ การอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมีน้ำใจไมตรีต่อกันโดยอาศัยคุณธรรม และที่สำคัญทางใช้ใจรักษาใจด้วย พุทธจิตวิทยา เยียวยาใจให้สมดุลกับร่างกาย เราต้องมีหลักปัญญา

“ผมขอน้อมนำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้อย่างเข้าใจว่า ปัญญาสัมปทา คือความพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ และให้เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ใช้สติพิจารณาตัวเองและผู้อื่นด้วยปัญญาตามความเป็นจริง ดังนั้นเรื่องแบบนี้สมควรให้มีการรณรงค์ส่งเสริมความแข็งแรงทางจิตใจ โดยผสานร่วมมือกันให้วัดเป็นที่ขัดเกลาใจ ควบคู่ไปกับการยอมรับกันในครอบครัวหรือที่บ้าน และโรงเรียน อันเป็นรูปแบบอีกมิติหนึ่งที่คนในสังคมได้ร่วมกันมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาจากสาเหตุของปัญหาจริงๆ เป็นภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากความรัก ความอบอุ่น และจิตสำนึกที่ดี ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อให้เยาวชน และผู้คนในสังคมให้มีภูมิต้านทานต่อสิ่งเร้าต่างๆ มีความเข้มแข็งในจิตใจ ได้ ซึ่งการที่จะรู้หลักธรรมอย่างลึกซึ้งและมีวุฒิภาวะ ต้องนำพระมาสั่งสอนให้ลูกหลานผู้คนในสังคม” ดร.นิยม กล่าว

Leave a Reply