วงเสวนาสื่อสางปม “หลวงปู่แสง” ระบุชัดบก.ปฏิเสธรับผิดชอบไม่ได้ แนะอย่าคิดแต่เรตติ้ง ระวังกม.บุกรุก-หมิ่นสงฆ์

นายกสมาคมนักข่าววิทยุฯระบุเรตติ้งอยู่ตัวทำอย่างไรก็ไม่ทะลุเพดานแล้ววอนสื่อย่าเสียจุดยืน กองบรรณาธิการโบ้ยไม่รู้นักข่าวไปทำข่าวอะไรไม่ได้ ต้องเป็นเบ้าหลอมที่ดีให้นักข่าว ส่วนจรรยาบรรณสากลนักข่าวห้ามจัดฉาก “สุภิญญา”ย้ำสื่อไทยขาดเสรีภาพในการวิจารณ์การเมือง จึงเลี่ยงไปนำเสนอข่าวอื่นจนล้ำเส้นละเมิดสิทธิบุคคล แนะหาจุดสมดุลยึดประโยชน์ผู้บริโภค ส่วนอัยการเตือนนักข่าวระมัดระวังข้อกฎหมาย

เมื่อวันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2565 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา “ถอดบทเรียนจริยธรรมสื่อ ทำงาน จัดฉาก ไสยศาสตร์ วงการสงฆ์” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายพีรวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช.และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Cofact Thailand นายวุฒิชัย พุ่มสงวน ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว

นายพีรวัฒน์ กล่าวว่า คิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ หลวงปู่แสง ญาณวโร แม้ว่าดูว่าเป็นวิกฤตศรัทธาสื่อมวลชนมาก แต่ตนอยากให้เป็นจุดเปลี่ยนคือจุดที่เราจะได้หยุดทบทวนและมองเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ถอดบทเรียน แต่นำมาสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง ภาวะที่เกิดเวลานี้คือการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อทีวีดิจิตอลที่วัดกันด้วยเรตติ้ง แต่ตนมองว่าการแข่งขันมันเดินมาถึงจุดที่เรียกว่าคุณทำมากกว่านี้ เรตติ้งก็ไม่เพิ่มมากกว่านี้

เพราะกลุ่มคนดูในช่วงไพร์มไทม์มีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ติดตามเรื่องบันเทิงดูละคร เกมโชว์ กับกลุ่มที่สนใจเนื้อหาสาระของรายการข่าว ปัจจุบันนี้รายการข่าวตีตื้นขึ้นมาอยู่ในระดับที่เรียกว่าเกือบทำเรตติ้งไล่หรือชนะละครหลายเรื่อง ดังนั้นจะผลักดันอย่างไร ไม่ว่าเราจะสร้างคอนเทนต์ขนาดไหน เราก็ไม่ทะลุเพดานเรตติ้งที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อไม่ทะลุเพดานเรตติ้ง รายการทีวีที่เป็นรายการข่าวดังๆ ตนพบว่ามีพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 1.5-1.7 พีคอยู่ที่ 2.8 ยกเว้นมีเหตุการณ์สด เช่น กรณีถ้ำหลวง จะทะลุถึง 3 กว่าได้ เมื่อหันมาดูรายได้ก็พบว่ารายได้บนราคาโฆษณาต่อนาทีก็ไม่สามารถเพิ่มรายได้ต่อนาทีได้มากกว่านี้ จึงทำให้บางสถานีต้องมีข่าวช่วงหนึ่ง ช่วงสอง เพื่อเพิ่มนาทีการขายให้มีรายได้มากขึ้น ดังนั้นภาพรวมยังมีโอกาสที่จะสามารถทบทวนได้ว่าการแข่งขันแบบนี้มันคุ้มค่า สร้างรายได้ มากเพียงพอที่จะเสียยืนสื่อหรือไม่

“เคสที่เกิดขึ้นกับหลวงปู่แสงเห็นได้ชัดเลยว่ากระแสโซเชียลหรือกระแสสังคม มีความไม่ยอมรับชัดเจนเกิดขึ้นและเมื่อสูญเสียตรงนี้ มันทำให้เห็นภาพว่าถ้ายังคงอยู่อย่างนี้ต่อไป โอกาสที่จะทำให้เกิดการแข่งขันหรือสิ่งที่คิดว่าจะสร้างเรตติ้งและรายได้มีโอกาสที่จะกระทบกระเทือน ผมถึงอยากจะมองภาพรวมว่ากระบวนการทำงานของสื่อที่อยู่ภายใต้เชิงพาณิชย์น่าจะถึงเวลาที่ต้องทบทวน สิ่งที่เกิดขึ้นภาพที่เราเห็นเป็นแค่ปลายเหตุ การแข่งขันที่รุนแรงทำให้การบริหารจัดการกองบรรณาธิการ รายการข่าว เนื้อหา ขาดความละเอียดอ่อน ขาดความรัดกุม ขาดการตรวจสอบ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เด็กคนเดียวไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าเกิดเรามีมาตรฐานการควบคุมที่ดี สิ่งที่เกิดท่ามกลางการแข็งขันของรายการจึงบีบคั้นให้ผู้ที่ทำงานต้องทำทุกทางเพื่อให้ได้มาซึ่งคอนเทนต์ นอกจากนั้นมาตรฐานของผู้สื่อข่าวยังเป็นเรื่องของตัวตนในโซเชียลเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การมีตัวตนต้องแสดงออกด้วยพฤติกรรมบางอย่าง เพราะคนที่ทำแบบนี้ได้รางวัล ได้รับการยอมรับและมีตัวตนในโซเชียลมีเดีย”นายพีรวัฒน์ กล่าวและว่า

ในทางกลับกันจึงได้เห็นว่าบวกกับลบนั้นอยู่ใกล้เคียงกันมาก เมื่อคุณพลาดมันลบแล้วก็ลงเหวทันที ถ้าเราทบทวนให้เห็นได้ว่ากระบวนการจัดการเนื้อหา กระบวนการสร้างตัวตนบนวิชาชีพสื่อ ใช้มาตรฐานปกติในการสร้างตัวตนบนโซเชียลมีเดียไม่ได้ ถึงเวลาที่ต้องมาคิดว่าเบ้าหลอม แม่พิมพ์ของคนที่จะทำให้คนที่จะก้าวเข้ามาสู่อาชีพผู้สื่อข่าว มองเห็นแล้วอยากเป็นตามนั้นเป็นรูปแบบไหน ทั้งนี้เราตั้งคำถามว่าจบที่ผู้สื่อข่าวแล้วจบจริงหรือไม่ สังคมกำลังตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักข่าวและทีมที่ไปกับหมอปลาสามารถมีอำนาจในการตัดสินใจทำข่าวได้จริงหรือ ในฐานะที่ตนเคยผู้บริหารกองบรรณาธิการหลายแห่ง เป็นขั้นตอนปกติมากที่ก่อนจะส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่จะต้องมีการประชุมหารือกันว่าไปทำอะไร ข่าวอะไร ตัวละครเป็นใคร และมีประเด็นนี้จะเล่นแค่ไหน

“กองบรรณาธิการปฏิเสธการไม่รับรู้ไม่ได้ แต่ถ้าปฏิเสธว่าไม่รู้เลยว่านักข่าวไปทำข่าวอะไร อันนี้หนักกว่ารู้ เพราะมีการเบิกรถ อุปกรณ์ เครื่องมืออะไรต่างๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ขออนุญาตต้นสังกัดก่อน สิ่งที่กองบรรณาธิการหลีกเลี่ยงไม่ได้คือไม่รู้ว่านักข่าวไปทำอะไร แม้จะเป็นข่าว ว. 5 หรือลับขนาดไหน ที่สำคัญข่าว ว.5 เขาไม่ทำข่าวหมู่ แต่ต้องเป็นข่าวเดี่ยว และมีจรรยาบรรณสากลว่าผู้สื่อข่าวไม่สามารถเป็นตัวละครในข่าวหรือจัดฉากขึ้นเองได้ และก่อนออกอากาศก็ต้องมีการกลั่นกรองด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในเชิงการทำงานแนวสืบสวนสอบสวน ขาดการแวงแผนในการทำงานและการตรวจสอบอย่างชัดเจน ดังนั้นถ้ามีแผนในการทำงานที่ดีนักข่าวที่ต้องรับเคราะห์ต้องออกจากการทำงานก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเบ้าหลอมหรือแม่พิมพ์เขาดี เขาจะรู้เลยว่าเขาทำได้หรือไม่ได้แค่ไหน”นายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ ระบุ

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่าเนื่องจากยุคปัจจุบันสื่อมีข้อจำกัดในประเด็นทางการเมือง เช่น วัคซีน หรือการตรวจสอบภาครัฐ จนถูกฟ้องร้อง ทำให้สื่อต้องไปเสนอเรื่องที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น กรณีบ้านกกกอก หรือกรณีหลวงปู่แสง ซึ่งเป็นจุดวิกฤตของสื่อไทยที่ถูกวิจารณ์ ขณะเดียวกันการกำกับดูแลของ กสทช.ก็ถือว่ายังไม่ได้ดุล ถ้าออกมาเตือน มีบทลงโทษในการละเมิดสิทธิเด็ก หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ปล่อยจนทำให้สื่อยังทำตามกันไปจนเกิดกระแสตีกลับในครั้งนี้ จึงเป็นจุดที่เราต้องช่วยกันวางเส้นใหม่ที่ทั้งสื่อและกสทช.ต้องร่วมมือกัน

อีกทั้งกรณีหลวงปู่แสงเราจะเห็นว่าพลังของผู้บริโภคคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในการแทรกแซงสื่อให้อยู่หมัด จนเป็นครั้งแรกที่เห็นองค์กรสื่อออกมาแสดงความรับผิดชอบกันมากขนาดนี้ จึงน่าจะเป็นจุดที่ดีในการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสในการหาจุดสมดุลร่วมกัน โดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง

นายวุฒิชัย กล่าวว่า เวลาสื่อไปทำข่าวไม่ว่าจะเข้าไปในบ้านร้าง หรือรายการผีต่างๆ มีข้อกฎหมายในเรื่องการบุกรุกเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเข้าไปโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต การไปทำข่าวจึงต้องดูว่าเจ้าของอาคารสถานที่เขาอนุญาตหรือไม่ นอกจากนั้นข้อกฎหมายที่นักข่าวมักเจอคือ การดูหมิ่นซึ่งหน้า หมิ่นประมาท ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน มาตรา 112 ที่ต้องระวังอีกมาตราที่เข้ามาใหม่ คือ มาตรา 366/4 ดูหมิ่นเหยียดหยามศพ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ผู้สื่อข่าวต้องระมัดระวังในการทำงาน นอกจากนั้นตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ดูหมิ่นพระสังฆราช ดูหมิ่นคณะสงฆ์ ความผิดเกี่ยวกับการศาสนา เป็นสิ่งที่สื่อต้องระมัดระวังในการทำหน้าที่ และขอย้ำว่าสื่อมืออาชีพคือสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม ถ้าเมื่อไรคุณรับผิดชอบต่อสังคม ถึงคุณจะมีมือถือเครื่องเดียวคุณก็คือสื่อมืออาชีพ

ส่วนนักข่าวที่ถูกให้ออกสามารถอุทธรณ์ได้หรือไม่นั้น นายวุฒิชัย กล่าวว่า กรณีนายจ้างและลูกจ้างในบริษัทเอกชน เราสามารถไปฟ้องที่ศาลแรงงานกลางได้ โดยไม่ได้ต้องทนาย และมีนิติกรคอยช่วยให้คำปรึกษาได้ ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ส่วนการอุทธรณ์นั้นหมายถึงการทำงานในหน่วยงานภาครัฐมากกว่า ขณะที่การโต้แย้งคำสั่งภายในองค์กรได้หรือไม่นั้นก็แล้วแต่เป็นเรื่องภายในขององค์กรที่สังกัดว่าสามารถทำได้หรือไม่

Leave a Reply