ศาสตราจารย์นักปรัชญาชื่อดังส่งจดหมายเปิดผนึกถึง “มหาเถรสมาคม”

 วันนี้ (19 เม.ย.64) หลังกลับมาครองจีวรของ “อดีตพระพรหมสิทธิ” และพระภิกษุอีก 4 รูป จากวัดสระเกศฯ รวมทั้ง “อดีตพระพรหมดิลก” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระยา มีหลายคนออกมาคัดค้านจากทั้งจาก นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา และ  นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ “อดีตพระพุทธะอิสระ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

         ทำให้นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาหลายท่านออกมายืนยันว่าพระคุณเจ้าเหล่านี้กลับมาครองจีวรได้ เพราะยังไม่หลุดจาก “สมณเพศ”  ทั้งโดยพระวินัยและกฎหมาย อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต

           ล่าสุดวัน นี้ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา อดีตมหาเปรียญอีกท่าน ซึ่งเป็นนักปรัชญาชื่อดัง ที่น้อยครั้งจะออกมาแสดงทัศนะความคิดเห็นในเชิงการเมืองแบบนี้ ได้โพสต์ข้อความถึง “มหาเถรสมาคม” ดังนี้

   กราบเรียน มหาเถรสมาคม ที่เคารพ

     ผมในฐานะอุบาสก มีเรื่องเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่พระภิกษุซึ่งต้องคดีทางโลกกลับมาครองเพศพระภิกษุตามเดิมซึ่งกำลังเป็นข่าวอยู่เวลานี้ ผมจะให้ความเห็นเฉพาะที่เป็นหลักการ ดังนี้ครับ

     (1) มหาเถรสมาคมมีบทบาท 2 อย่างคือ “บทบาทในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ” และบทบาทนี้ถูกกำหนดโดยกฏหมายทางโลก อีกบทบาทหนึ่งคือ “บทบาทในฐานะผู้ปกครองสงฆ์” บทบาทนี้ถูกกำหนดโดยพระธรรมวินัย

     (2) เมื่อมีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฏหมายบ้านเมือง “มหาเถรสมาคมก็เพียงแต่รับทราบ” และปล่อยให้กระบวนการทางกฏหมายดำเนินไป พระภิกษุที่ถูกดำเนินคดีอาจถูกถอดสมณศักดิ์และตำแหน่งบริหาร นี่ก็เป็นเรื่องที่อำนาจทางโลกได้กระทำต่อพระภิกษุนั้น “มหาเถรสมาคมไม่เกี่ยวข้อง” ด้วย ยกเว้นการให้ความเห็นบางอย่างในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งผู้มีอำนาจตามกฏหมายจะใช้ประกอบการวินิจฉัยคดีหรือไม่ก็เป็นเรื่องกระบวนการทางโลก

     (3) กรณีที่พระภิกษุผู้ต้องคดีเชื่อว่าตนเองพ้นคดีมาแล้ว และระหว่างที่ถูกดำเนินคดี พระภิกษุนั้นเชื่อว่าตนเองไม่มีเจตนาที่ชั่วร้าย จึงไม่ลาสิกขา “การเปลี่ยนเพศในระหว่างถูกดำเนินคดีเป็นไปตามกฏหมายทางโลก”  ไม่มีผลในทางพระธรรมวินัย การที่พระภิกษุนั้นจะกลับมาครองเพศพระภิกษุอีกครั้ง ย่อมเป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาที่พุทธบริษัทเข้าใจได้ หากมหาเถรสมาคมจำเป็นต้องให้ความเห็นเรื่องนี้ในฐานะผู้ปกครองสงฆ์ ย่อมทำได้ แต่ต้องทำตามพระธรรมวินัย เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกฏหมายบ้านเมืองแล้ว

     (4) ผมคิดว่า “เจตนารมย์ของพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้” ทรงต้องการให้อาวาสแต่ละแห่งดูแลกันเอง หากอาวาสนั้นๆ พุทธบริษัทที่สนับสนุนดูแลอาวาสอยู่ยินดี พร้อมเพรียงใจ จะเห็นพระภิกษุนั้นกลับมาครองเพศภิกษุอีกครั้ง ก็เป็นเรื่องของอาวาสนั้น มหาเถรสมาคมซึ่งอยู่นอกอาวาสอาจให้ความเห็นหรือ เสนอแนะข้อปฏิบัติบางอย่างเพื่อความรอบคอบได้ แต่ที่สุดอาวาสนั้น ๆ จะวินิจฉัยและตัดสินเรื่องนี้เอง นี่คือหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงวางใว้ พระพุทธองค์ทรงเป็นประมุขแท้ ๆ แต่ไม่ทรงใช้อำนาจของพระองค์แทรกแซงอาวาส (ดูกรณีความขัดแย้งของพระภิกษุชาวโกสัมพีประกอบนะครับ)

   (5) พระวินัยของพุทธศาสนาใช้หลักการให้บุคคลที่ถูกกล่าวหายืนยันตนเองในกรณีที่เรื่องนั้นมีปัญหาว่าเจ้าตัวมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาที่เลวร้าย เจตนาในใจใครมีแต่เจ้าตัวเท่านั้นที่ทราบ และ  “เจตนาตามที่พระพุทธองค์ทรงวางหลักไว้ อาจเป็นคนละอย่างกับเจตนาที่กระบวนการกฏหมายทางโลกสรุป “  ต่อให้ศาลพิพากษาว่าพระภิกษุนั้นมีเจตนาโกง คำวินิจฉัยของศาลก็ไม่มีผลต่อเรื่องธรรมวินัย พระภิกษุนั้นอาจติดคุกอยู่หลายปี หากพ้นคุกมาแล้วเจ้าตัวเชื่อว่าตนเองไม่มีเจตนาที่เลวร้าย ประสงค์จะต้องมาครองเพศพระภิกษุต่อ หากอาวาสนั้นยินดี ก็เป็นเรื่องของอาวาศนั้นๆ หากพระภิกษุนั้นเป็นคนเลว รู้ทั้งรู้ว่าตนผิดแต่แสร้งหลอกลวงพุทธบริษัทในอาวาสนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าก็เป็นความชั่วของเขา คนที่ถูกเขาหลอกไม่แปดเปื้อนด้วยบาปส่วนตัวของเขาเลย พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้เสรีภาพแก่บุคคลที่จะยืนยันตน และเราเชื่อว่าคนเลวที่ยืนยันตนว่าดี ลึก ๆ เขาย่อมตกนรกอยู่ชั่วชีวิต

    (6) เมื่อภิกษุนั้นกลับมาสู่อาวาส ท่านก็เป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง ยศ (สมณศักดิ์) ตำแหน่ง (เช่นเจ้าอาวาส) เป็นเรื่องทางโลก อาวาสไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ อำนาจทางโลกจะจัดการเรื่องนี้อย่างไรก็ปล่อยให้เป็นอำนาจทางโลกไป พุทธบริษัทในอาวาสหากเห็นว่าท่านที่ถูกถอดยศและตำแหน่งไปยังเป็นผู้ที่เราเคารพนับถือเช่นเดิมได้ เราก็ปฏิบัติกันตามธรรมวินัยไป นี่คือ “ความงดงามของธรรมวินัย”

    (7) จากที่กล่าวมา ผมคิดว่าเรื่องนี้มหาเถรสมาคมอาจไม่ต้องแสดงบทบาทในทำนองล้วงลูกได้ เพราะพระธรรมวินัยที่เราปฏิบัติกันสืบทอดมายาวนานได้ให้ช่องทางที่ง่ายและงดงามเอาไว้แล้ว หากอาวาส นั้น ๆ เขาพร้อมใจกันรับพระภิกษุที่ต้องคดีและเชื่อว่าตนพ้นคดีในทางโลกมาแล้ว กลับมาอยู่อารามในฐานะ=สมาชิกคนหนึ่ง มหาเถรสมาคมก็ต้องยอมรับมติของอาวาสนั้น หลักปฏิบัตินี้หากเราใช้กับกรณีอื่นๆ ก็จะช่วยให้ชุมชนพุทธไทยเรารู้ว่าอะไรคือ “เส้นแบ่งระหว่างทางโลกกับทางธรรม” การมีหลักในการอยู่ร่วมกันจะช่วยสนับสนุนให้พุทธศาสนาในบ้านเราเจริญรุ่งเรืองครับ

Leave a Reply