“ดราม่า” พระคติธรรมพระสังฆราชเนื่องใน “วันเยาวชนแห่งชาติ”

 

             วันที่ 28 กันยายน 2564   เมื่อวันที่ 20 ก.ย.64 ที่ผ่านมาเป็นวันวันเยาวชนแห่งชาติ ทุกปี ๆ    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะประทานพระคติธรรมเป็นประจำทุกปี

           สำหรับปีนี้เนื่องจากมีสถานการณ์การเมืองที่มีเด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งออกไปชุมนุมประท้วงรัฐบาลตามวาระต่าง ๆ  จึงมีสื่อบางฉบับเขียนทำนองว่าสมเด็จพระสังฆราชตรัสว่า  “ประเทศวิกฤติเยาวชนต้องมีเหตุผล ไม่หลงทาง”  ซึ่งข้อความที่มาลงไว้ได้ตัดเอาบางช่วงบางตอน ทำให้บริบทข้อมูลไม่ต่อเนื่อง จึงมีชาวพุทธบางคนนำไปวิพากษ์วิจารณ์พระคติธรรม จึงอาจก่อให้เกิดความเสื่อยเสียต่อพระเกียรติของสมเด็จพระสังฆราชในฐานะ “สังฆบิดร” 

          เว๊บไซต์ข่าว “thebuddh” ในฐานะสื่อกลางของชาวพุทธ จึงขอนำพระคติธรรมแบบครบถ้วยสมบูรณ์จากเพจ.สำนักงานเลขานุการพระสังฆราช มาลงไว้อย่างครบถ้วน เพื่อพิจารณา โดยมีรายละเอียดดังนี้

          เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๔ ความว่า

เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๔

         “ท่ามกลางวิกฤตการณ์ของโลกและของบ้านเมือง บุคคลผู้มีปัญญาย่อมพยายามปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีสวัสดิภาพและคุณภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชนผู้กำลังเติบโตใหญ่ในภาวะอันผันผวนและได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างด้วยกันทุกคน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลง ควรต้องมีทิศทางที่ชัดเจน มีเหตุผล รู้จักตัวตนอย่างรอบคอบและรอบด้าน จึงจะสามารถเป็นคุณแก่ตน ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติได้ การปรับตัวหรือการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย จึงสามารถอาศัยหลักธรรมมาช่วยชี้แนะมิให้ผิดพลาดหรือหลงทาง

          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอบรมสั่งสอนคุณธรรมสำคัญประการหนึ่งซึ่งจะสนับสนุนให้บังเกิดความดีงามขึ้นในชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือผู้ใหญ่ กล่าวคือ “อัตตัญญุตา” หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักตน ฐานะ บทบาท หน้าที่ ภาวะ กำลังความรู้ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรมของตนให้เห็นกระจ่างก่อนว่าเป็นเช่นไร ความรู้ความเข้าใจตนอย่างถูกต้องย่อมนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับตน ทำให้เกิดผลดีขึ้นได้ และเมื่อรู้จักพิจารณาตนด้วยใจตนเองอย่างยุติธรรมปราศจากอคติแล้ว ก็จะสามารถมองเห็นส่วนที่ต้องพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลง และส่วนดีเด่นที่ต้องพยายามเพิ่มพูน เป็นเหตุนำไปสู่การพัฒนาตนเองให้บรรลุเป้าหมายอันดีงามที่กำหนดไว้ ด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ กระทั่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นชีวิตที่ประสบสวัสดิภาพและมีคุณภาพได้ดังที่ปรารถนา

          ขออนุโมทนาในความดีที่เด็กและเยาวชนรวมทั้งของผู้ทำประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนได้ประพฤติปฏิบัติ ขออานุภาพแห่งกุศลจริยาและปณิธานในการดำรงตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โปรดอภิบาลรักษาให้ท่านประสบความสำเร็จในการประกอบกรณียกิจ สามารถพัฒนาชีวิตให้เพียบพร้อมด้วยสุจริตธรรม เป็นกำลังของประเทศชาติสืบไป เทอญ.”

Leave a Reply