“วันดินโลก” คึกคัก ปลัด มท.เผย จัดกิจกรรมแล้วกว่า 1,200 พื้นที่ ภายใต้แนวคิด “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน” เพื่อโลกของเรา

วันที่ 6 ม.ค. 67  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึง ความคืบหน้าจากการดำเนินกิจกรรมวันดินโลกของกระทรวงมหาดไทย ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน” หรือ “Sustainable Soil and Water for better life” ภายหลังจากการจัดกิจกรรม Kick off เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ อำเภอแม่เเจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผลการจัดกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 พบว่า รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,778 กิจกรรม ใน 1,200 พื้นที่ พร้อมปรากฏใน FAO World Map จำนวน 485 พื้นที่ (ข้อมูลจาก FAO website: https://www.fao.org/world-soil-day/worldwide-events/en/ ) มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 239,268 คน โดยมีกลุ่มผู้เข้าร่วมสูงสุด 3 กลุ่มตามลำดับ คือ กลุ่มประชาชนทั่วไป 79,988 คน กลุ่มเกษตรกร 27,413 คน และกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา 21,795 คน

“ การจัดกิจกรรมวันดินโลก ประจำปี 2566 ของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด Sustainable Soil and Water for better life หรือ ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน พบว่า แต่ละพื้นที่ร่วมกันจัดกิจกรรมครบทั้ง 18 ประเภทกิจกรรมตามที่ FAO ได้กำหนด รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,778 กิจกรรม ใน 1,200 พื้นที่ ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก FAO World Map จำนวน 485 พื้นที่ ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2567 โดยพบว่า มากสุด 3 ลำดับแรกคือ 1) ภาคสนาม/เฉลิมฉลอง (Field work/celebration) 461 กิจกรรม 2) นิทรรศการเกี่ยวกับดิน (Exhibition on soil) 249 กิจกรรม และ 3) กิจกรรมร่วมกับเกษตรกร (Activities with farmers) 241 กิจกรรม ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 239,268 คน ประกอบด้วย กลุ่มประชาชนทั่วไป 79,988 คน กลุ่มเกษตรกร 27,413 คน กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา 21,795 คน กลุ่มองค์การมหาชน 7,492 คน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 5,005 คน กลุ่มนักสื่อสารมวลชน 1,753 คน กลุ่มภาคประชาสังคม 1,607 คน กลุ่มพระและผู้นำทางด้านศาสนา 1,339 คน และกลุ่มอื่น ๆ 92,876 คน (ข้อมูลจากระบบ MOI WAR ROOM https://moiwarroom.dopa.go.th/soil/ )และมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์กิจกรรมวันดินโลก ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน มากถึง 2,313 ครั้ง ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย ทั้งสื่อมวลชน หอกระจายข่าว ระบบ MOI WAR ROOM และสื่อสังคมออนไลน์ จึงขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลกของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคนเพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงทางอาหาร และรู้จักช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมกลุ่มกัน Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดี ๆ เกิดความรักใคร่กลมเกลียวสามัคคีกันในชุมชน สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้เองจะนำมาซึ่งการบรรลุเป้าหมายของกระทรวงมหาดไทย คือ การขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงภายในทุกมิติ เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันดินโลกของกระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ภายใต้ธีม “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน” หรือ “Sustainable Soil and Water for better life ในทุกพื้นที่ที่ได้มีการจัดกิจกรรมได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำแบบประเมินเพื่อวัดความพึงพอใจ พบว่าจำนวนผู้เข้าร่วมทำแบบประเมินการสร้างการรับรู้และความตระหนักในเรื่องดินและน้ำ “MOI World Soil Day” จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 9,322 คน มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมเป็นอย่างมากที่สุด 6,508 คน คิดเป็นร้อยละ 69.81 พึงพอใจมาก 2,421 คน คิดเป็นร้อยละ 25.97 และอื่น ๆ รวม 403 คน คิดเป็นร้อยละ 4.32 จึงขอชื่นชมทุกพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมและสามารถนำไปสู่การมีส่วนร่วมที่แท้จริง และขอให้ทุกพื้นที่มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความหลากหลาย และปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่กลุ่มเป้าหมายและผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้มีความตระหนักถึงทรัพยากรดิน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างแท้จริง เพื่อทำให้คนและธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ทำให้โลกใบเดียวนี้ของเราใบนี้เป็นที่อยู่และแหล่งผลิตอาหาร น้ำ อากาศที่บริสุทธิ์ มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกได้อาศัยอยู่ร่วมกันไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถรับชมคลิปเปิดตัวกิจกรรมของกระทรวงมหาดไทยที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของคนต้นน้ำได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/QQ35JpxbHSaFenuP/?mibextid=MC4RXT

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เป้าหมายของการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลกของกระทรวงมหาดไทยในปีนี้ ตนได้กล่าวเน้นย้ำไปยังผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ว่าเป้าหมายที่แท้จริง คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความยั่งยืนในทุกมิติ บนพื้นฐานการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของดินเเละน้ำ ด้วยเเนวคิด “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างรากฐานของการพัฒนาคน ให้คนไปพัฒนาพื้นที่ เกิดความมั่นคงทางอาหาร พืชสมุนไพร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม เเละที่อยู่อาศัย อันเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญ ต้องทำงานเชิงรุก เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ถ้า “เข้าใจ เข้าถึง” พี่น้องประชาชนแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนความต้องการของพี่น้องประชาชนในทุกเรื่องก็จะสามารถพัฒนาและดำเนินการได้ทันที อะไรที่ยังแก้ไขไม่ได้ก็ต้องมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน ต่อสาธารณชน สอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่คนมหาดไทยได้รับการบ่มเพาะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอดว่า “รอบรู้ รวดเร็ว ริเริ่ม และเร่งรัด” ดังที่ท่านวิญญู อังคณารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เคยกล่าวไว้

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภารกิจในปี พ.ศ. 2566 – 2570 ว่า “ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน บนฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะกลาง และระยะยาว โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถสร้างรายได้ และมีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงมหาดไทยนั้นมีภาระหน้าที่อันหนักหน่วง นั่นคือทุกปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือ หน้าที่ของคนมหาดไทย งานของทุกกระทรวง ทบวง กรมที่ลงสู่พื้นที่ ก็คืองานของคนมหาดไทย ดังนั้น พวกเราในฐานะข้าราชการประจำจะต้องมุ่งมั่นทุ่มเททำงานแบบรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด มีใจ มี Passion ในการทำงานโดยไม่ยึดถือเรื่องเวลาเป็นข้อจำกัดของการทำงาน เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี คือ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำเสนอสิ่งที่ดี เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้เห็นชอบตามที่เราได้คิด ได้เสนอ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การนำนโยบายที่กล่าวมานี้ไปขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ต้องเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ตั้งเเต่ในระดับชุมชน จังหวัด เเละต่อมาคือในระดับประเทศ โดยต้องยึดหลัก “ผู้นำต้องทำก่อน” ต้องรู้ลึก รู้กว้าง ถึงเรื่องที่จะขับเคลื่อน เพื่อนำไปสื่อสารกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในฐานะผู้นำของพื้นที่ ซึ่งมีนัยว่า “ผู้นำทำงานต่าง ๆ ลำพังคนเดียวไม่ได้” ต้องมีทีมงานจาก 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ช่วยขับเคลื่อนงาน และที่สำคัญ “ต้องเร่งรัด ติดตามการขับเคลื่อนงาน” เพื่อให้มั่นใจว่าทุกภาคส่วนได้ช่วยกันทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนได้อย่างถูกต้องตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมรับประโยชน์ ทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า ท้ายนี้ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยมาร่วมจัดกิจกรรมและเป็นส่วนหนึ่งของวันดินโลก ภายใต้แนวคิด “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน” ด้วยการอนุรักษ์ดิน อนุรักษ์น้ำ ร่วมกันทำความดี เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง การบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมักธรรมชาติหรือถังขยะเปียกลดโลกร้อน และการทิ้งขยะให้ลงถังพร้อมคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดมลพิษที่เกิดต่อเเหล่งน้ำ และกลิ่นเน่าเหม็นในชุมชน เพื่อช่วยกันทำให้ทุกชุมชนของเรายั่งยืนไปด้วยกัน

Leave a Reply