โดย..ดร.อธิเทพ ผาทา
ในราวต้นปี พ.ศ.๒๕๑๒ คณะสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง ๑๕ จังหวัด ได้มีการประชุมกันอยู่บ่อยครั้งและครั้งหนึ่งในคราวที่มีกรณีของการมีการจับสึกพระพิมลธรรม(อาจ อาสภเถระ)เมื่อเดิดมีการชุมนุมประท้วงกันของพระนิสิตฯมหาจุฬาฯที่ลานอโศกวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ นำโดยกลุ่มพิราบเหลือง ซึ่งพระนิสิตสายภาคอีสานได้แสดงพลัง เพื่อเรียกร้องให้คืนสมณศักดิ์ให้กับพระพิมลธรรม(อาจ อาสภมหาเถระ)ที่พึ่งพ้นโทษออกกมาจากการไปจำพรรษาที่ “สันติปาลาราม”ที่ลานอโศกวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ซึ่งก็เป็นข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หลายผฉบับ
ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้น เจ้าคณะจังหวัดในภาคอีสานทั้ง ๑๕ จังหวัดก็ได้มีส่วนในการกดดันให้ทาง มส.คืนสมณศักดิ์ให้กับพระพิมลธรรมด้วย ด้วยการส่งหนังสือที่ลงนามโดยเจ้าคณะจังหวัดทั้ง ๑๕ จังหวัดของภาคอีสานในขณะนั้นว่าขอให้ทาง มส.และรัฐบาลคืนสมณศักดิ์ให้กับพระพิมลธรรมโดยด่วน หาไม่แล้วเจ้าคณะฯทั้งภาคอีสานจะลาออกจากมหาเถรสมาคม(จากคำบอกเล่าของคนอดีตเจ้าณะจังหวัดหนองคาย)
ซึ่งในสมัยนั้นเจ้าคณะจังหวัดในภาคอีสานถือว่ามีบทบาทในการดำเนินการเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดกับคณะสงฆ์และพระนิสิตฯมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในโซนภาคอีสานเป็นอย่างมาก เพราะตอนนั้นพระนิสิตฯเริ่มมีการ “อดข้าวประท้วง”แล้วด้วย
ในส่วนของบทบาทด้านการศึกษานั้นเจะพบว่าในยุคนั้นเจ้าคณะจังหวัดในภาคอีสานผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดประเภทมวยไฟท์เตอร์เป็นผู้นำกลุ่ม/คณะก็คือ “เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย”คือพระราชปรีชาญาณมุนี (นวน เขมจารี ป.ธ.๖)ที่หลายๆเรื่องท่านเป็นคนริเริ่มและนำพาคณะสงฆ์ภาคอีสานทำ โดยมีพระเทพรัตนโมลี(แก้ว โอภาโส ป.ธ.๖) เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เป็นผู้ให้การสนับสนุนในฐานะที่เป็นคนนครพนมด้วยกันและเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันคือ”ศิษย์วัดพระธาตุพนม”ทั้งสิงรูปจึงมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ในบทบาททั้งทางด้านการปกครองและด้านการศึกษานั้น เจ้าคณะจังหวัดในภาคอีสานทั้ง ๑๕ จังหวัดได้มีการประชุมและตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินการพัฒนาคณะสงฆ์ภาคอีสานอยู่หลายครั้ง ได้แก่ ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ได้เป็นโต้โผในการจัดการจัดตั้งศูนย์ประสานงานพระพุทธศาสนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ศ.ป.ศ ขึ้นและได้ดำเนินการจัดประชุมเจ้าคณะจังหวัดในภาคอีสานทั้ง ๑๕ จังหวัดที่วัดกลาง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เพื่อเสนอให้มีการจัดตั้งหรือควรให้มีวิทยาลัยสงฆ์ประจำภาค ส่วนจะเป็นจังหวัดไหนก็ค่อยหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๓ พระราชาปรีชาญาณมุนี(นวน เขมจารี ป.ธ.๖)ก็ได้จัดประชุมคณะกรรมการ ศ.ป.ศ.ขึ้นอีกที่วัดศรีษะเกษ อ.เมือง จ.หนองคาย และท่านได้มอบหมายให้ พระมหาประทัย วชิรญาโณ (ปัจจุบันคือเจ้าอาวาสวัดศรีษะเกษ)พระมหาหนุ่มไฟแรงที่จบจากม.มหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.)ได้เสนอในที่ประชุม ศ.ป.ศ.ให้มีการเสนอให้มีการตั้งวิทยาลัยสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ว.ส.อ.)ขึ้นที่วัดศรีษะเกษ อ.เมือง จ.หนองคาย
ย้อนกลับไปถึงตอนประชุม ศ.ป.ศ.ครั้งแรกที่วัดกลาง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งในการประชุมครั้งนั้นมีการเสนอให้ตั้งวิทยาลัยสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ “จังหวัดสุรินทร์” แต่เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ปฏิเสธ ที่ประชุมจึงถามไปเรื่อยๆทุกจังหวัดที่ถูกเสนอก็ปฏิเสธเกือบทั้งหมดที่สุดก็มาเหลืออยู่ ๒ จังหวัดคือ นครพนม กับหนองคาย
ในที่ประชุมนั้นได้มองมาที่เจ้าคณะจังหวัดทั้งสองจังหวัด ในขณะนั้น พระเทพรัตนโมลี (แก้ว กันตภาโส ป.ธ.๖) เจ้าคณะจังหวัดนครพนม จึงพูดขึ้นมาในท่ามกลางที่ประชุมว่าในที่นี้จังหวัดที่เหมาะสมจะเป็นที่ตั้งของ “วิทยาลัยสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”มากที่สุดก็คือ “จังหวัดหนองคาย”
ซึ่งคำตอบนั้นทำเอาพระราชปรีชาญาณมุนี (นวน เขมจารี ป.ธ.๖) เจ้าคณะจังหวัดหนองคายถึงกับสะอึก เพราะตอนนั้นจังหวัดหนองคายก็ใช่ว่าจะมีความพร้อมอะไรมากมาย แต่เมื่อมันเป็นข้อสรุปสุดท้ายประหนึ่งว่ามันคือภาระที่ถูกมอบหมาย ประกอบกับความต้องการที่จะให้มี “วิทยาลัยสงฆ์”เกิดขึ้นในภาคอีสาน ท่านเจ้าคุณฯเจ้าคณะจังหวัดหนองคายจึงตัดสินใจ(กล้ำกลืน)รับเป็นเจ้าภาพจากที่ประชุมในคราวครั้งนั้น
ที่ผมใช้คำว่า “จำใจรับ” ก็เพราะเรื่องนี้มันไปปรากฏในคำในใจของพระราชาปรีชาญาณมุนี(นวน เขมจารี ป.ธ.๖)ในคราวที่ท่านรับสมณศักดิ์ชั้นเทพที่ “พระเทพปริยัติมุนี” ที่ท่านเขียนบรรยายเอาไว้อย่างน่าฟังว่า
“ที่ประชุมในการหาสถานที่ตั้งวิทยาลัยสงฆ์ก็แปลก แรกเริ่มเดิมทีพรรคพวกก็ล้วนมีความยินดีปรีดามีแต่คนอยากได้อยากมีอยากให้ตั้งพูดกันในที่ประชุมออกรสออกชาดแล้วแต่ว่าใครจะคิดได้ประหนึ่งว่าตนเองจะสามารถทำได้ แต่พอจะให้เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นเจ้าภาพก็เงียบและปฏิเสธกันทั้งหมด ที่สุดภาระก็ต้องมาตกที่เราในฐานะเป็นผู้ดำเนินการให้ข้อเสนอแนะ และท้ายสุดท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดนครพนมก็มอบหมายมาที่เรา เราจึงได้กลายมาเป็นผู้รับผิดชอบแทนพรรคแทนพวกไปโดยปริยาย”
ผมพอจะเข้าใจหลวงพ่อพระราชปรีชาญาณมุนี(นวน เขมจารี ป.ธ.๖)เจ้าคณะจังหวัดหนองคายตอนนั้นว่าในการประชุมของคณะสงฆ์มันมีวัฒนธรรมที่ชัดเจนอยู่อย่างหนึ่งก็คือ “ให้โอกาสพูดในที่ประชุมเมื่อไหร่ พระจะพูดแบบน้ำไหลไฟดับ แต่พอให้ทำตามที่พูดก็คือเงียบอย่างเดียว อีกอย่างมันมีสิ่งที่ที่ประชุมคณะสงฆ์ควรทราบคือ “ใครเป็นคนเสนอคนนั้นต้องทำ”วัฒนธรรมแบบนี้มันลากมาถึงที่ประชุมในมหาวิทยาลัยของสงฆ์ ผู้เข้าร่วมประชุมจะชอบพูดอย่างเอาเป็นเอาตายแย่งกันพูด แทบจะตีกันตาย แต่พอที่ประชุมขอให้เป็นผู้ทำหรือรับผิดชอบ ก็จะเงียบทันที และบางคนเมื่อที่ประชุมขอให้ทำก็จะบอกว่า”ผมไม่ใช่คนทำผมมันเป็นเพียงแค่คนให้คำอธิบายเท่านั้น”อืม ..ดีแท้
ในเรื่องนี้ผมรู้สึกเข้าใจพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปรีชาญาณมุนี (นวน เขมจารี ป.ธ.๖)อดีตเจ้าคณะจังหวัดหนองคายมากๆที่หลวงพ่อได้ตัดสินใจรับภาระของพระศาสนาด้วยการนำเอาวิทยาลัยสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาสร้างไว้ที่วัดศรีษะเกษด้วยจิตใจที่เข้มแข็งและอดทน ในบันทึกของท่านท่านได้พูดถึงวันที่ประชุมกันที่จ.สุรินทร์ว่าในท้ายการประชุมท่านได้ขอให้คณะกรรมการที่เข้าประชุมในวันนั้นว่าขอให้เจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้รับภาระการสร้างวิทยาลัยสงฆ์ร่วมกัน โดยให้ถือว่าการทำงานนั้นทุกจังหวัดต้องให้ความร่วมมือกันห้ามทิ้งภาระอันนี้โดยเด็ดขาด ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วยและรับภาระนี้ร่วมกัน
โดยที่มติที่ประชุม ศ.ป.ศ.ครั้งแรกนั้นมีผลทำให้เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย(ในตอนนั้น)จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการ ศ.ป.ศ อีกครั้งที่วัดศรีษะเกษอ.เมือง จ.หนองคายอีกครั้งและครั้งนั้นก็มีการเสนอให้มีการรับรองการเสนอขอตั้งวิทยาลัยสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ว.ส.อ.)อย่างเป็นทางการขึ้นมาและขอการสนับสนุนจากคณะกรรมการสงฆ์ทั้ง ๑๕ จังหวัดในการดำเนินการตั้งวิทยาลัยสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเป็นทางการ
@ วัดศรีษะเกษ หรือวัดนาค : ที่ตั้งและประวัติความเป็นมา ?
ผมว่าหากจะพูดถึงเรื่องของที่ตั้งของวิทยาลัยสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั้นจะต้องพูดถึงวัดหนึ่งที่คนทั่วไปอาจจะพอหาประวัติได้ แต่ประวัติที่คนทั่วไปรู้นั้นผมว่ามันอาจจะเป็นประวัติเพียงผิวเผินที่ผมเองในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าของ
ม.มจร.วข.หนองคาย มาซึ่งปีที่ผมเข้าไปเรียนปีแรกก็คือ ปีพ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”ผมจำได้ดีเพราะทางการถ่ายทอดสดทางทีวีมันเป็นเรื่องทิฏฐิของจำลองกับพล.อ.สุจินดา คราประยูร(คนหนองคาย)เหตุการณ์นั้นทำให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
ผมในฐานะศิษย์เก่าก็รู้จักวัดศรีษะเกษในฐานะที่เป็นที่ตั้งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เท่านั้น ไม่ได้รู้เรื่องประวัติความเป็นมาของวัดแห่งนี้เลยเดินเข้าไปเรียนและเดินทางกลับวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวงซึ่งเป็นวัดที่พักอาศัยเป็นเวลา ๔ ปี ผมก็รู้เพียงแค่ชื่อของวัดว่าชื่อวัดศรีษะเกษเท่านั้น เรื่องอื่นไปที่เกี่ยวข้องกับวัดผมไม่รู้เลย
จนกระทั่งผมเริ่มมาทำประวัติของหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง เท่านั้นแหละ องค์ความรู้เรื่องของวัดศรีษะเกษได้พรั่งพรูออกมามากมายจนที่สุดผมก็รู้ว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีความสำคัญกับเมืองหนองคายมากในยุคเปลี่ยนผ่านอำนาจในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนมาถึงยุคปัจจุบัน
@ กำเนิดของวัด ?
ย้อนกลับไปถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าอนุวงศ์ ในฐานะกษัตริย์ประเทศราชของสยามได้ก่อกบฏ ในคราวนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๓ ได้มีรับสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ เป็นแม่ทัพคุมทัพหลวงเสด็จไปปราบเจ้าอนุวงศ์ โดยมีพระราชสุภาวดี(สิงห์ สิงหเสนี) เป็นรองแม่ทัพคุมทหารไปยึดจำปาศักดิ์และรวบรวมกำลังนำกองทัพย้อนขึ้นมาตามลำแม่น้ำโขงเพื่อยึดเมืองรายทางเพื่อสะสมกำลังโดยกองทัพของพระยาราชสุภาวดี ยึดมาตั้งแต่จำปาศักดิ์-เขมราช -ยโสธร-นครพนม ขึ้นมาจนถึงเมืองหนองคายเพื่อมารวมกับทัพหลวงที่เวียงจันทน์
โดยเมื่อตอนเข้ายึดเมืองยโสธรนั้นพระยาราชสุภาวดี(สิงห์ สิงหเสนี)ก็ได้ลูกน้องคนสำคัญก็คือ “ท้าวสุวอ”ซึ่งเป็นลูกหลานของพระวอพระตาเจ้าเมืองอุบลราชธานีมาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งท้าวสุวอนี้เป็นคนฉลาด และมีฝีมือในการรบและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเจรจากับผู้คนในท้องถิ่นมากจนหลายเมืองที่เป็นทางผ่านของกองทัพนั้นไม่ต้องมีการเสียเลือดเนื้ออะไรเลย ทำให้พระยาราชสุภาวดีพอใจและรักใคร่ลูกน้องคนนี้มาก
ท้าวสุวอนั้นไดร่วมรบกับพระราชสุภาวดี(สิงห์ สิงหเสนี)จนสามารถปราบเจ้าอนุวงศ์ได้สำเร็จ คือ สามารถทำลายเมืองเวียงจันทน์และจับพระเจ้าอนุวงศ์ส่งราชสำนักได้ เมื่อเสร็จสิ้นสงครามแล้วทางราชสำนักสยามได้ตั้งเมืองหนองคายขึ้นแทนเมืองเวียงจันทน์เพื่อนต้องการลดอำนาจของเวียงจันทน์ลงในปี พ.ศ.๒๓๗๑ โดยทางราชสำนักสยามได้ปูนบำเหน็จและแต่งตั้งให้ท้าวสุวอขึ้นเป็น “พระยาปทุมเทวาภิบาล (บุญมา=ชื่อเดิมของท่าน)”เป็นเจ้าเมืองหนองคายคนแรก โดยปกครองในระบบอาญาสี่ ตามกรอบการปกครองของล้านช้างแต่เดิมมา
เมื่อเจ้าสุวอหรือบุญมาหรือพระยาปทุมเทวาภิบาล(บุญมา)ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองหนองคายแล้ว ก็ได้ไปสู่ขอ “ลูกสาวเจ้าน้อย เมืองพวน”หรือเมืองเชียงขวางในปัจจุบันมาเป็นภรรยา และได้ทำการอพยพคนจากเมืองพวนและเมืองอื่นๆในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงลงมาอาศัยอยู่ที่เมืองหนองคายจำนวนมาก นอกจากนั้นก็ยังคิดถึงบ้านของปู่ย่าของท่าน คือบ้านเดิมของพระวอพระตาสมัยย้ายหนีไปจากบ้านหินโงม ริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตเมืองหนองคายไปตั้งค่ายสู้กับพระเจ้าสิริบุญสารที่เมืองนครเขื่อนขันกาบแก้วบัวลาน หรือจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบันนี้
ดังนั้น ท่านพระยาปทุมเทศาภิบาล(บุญมา)จึงได้เดินทางไปหนองบัวลำภูเพื่อไปรวบรวมชาวเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองสิบสองปันนาให้ย้ายมาอยู่ที่เมืองหนองคายด้วย นอกจากเมืองหนองบัวลำภูแล้วก็ยังไปชักชวนชาวเมืองยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานีให้อพยพย้ายมาอยู่ที่เมืองหนองคายนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยท่านพระยาปทุมเทวภิบาล(บุญมา)นั้นตั้งบ้านเรือนอยู่ทางใต้วัดศรีษะเกษในปัจจุบันนี้ไปสักราว ครึ่งกิโลเมตร เรียกสถานที่อยู่ของท่านว่า “คุ้มเจ้าเมือง”โดยบริเวณวัดศรีษะเกษในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นสวนทำการเกษตรของท่านเจ้าเมืองเพราะเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้ทางลงแม่น้ำโขง โดยปลายสวนของท่านนั้นมีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง
ในยุคต้นของการสร้างเมืองหนองคายนั้น ท่านพระยาปทุมเวาภิบาล(บุญมา)ได้ริเริ่มการสร้างบ้านแปงเมืองมาจนถึง พศ.๒๓๙๕ ท่านก็ได้มรณภาพลง ต่อมาทางราขการก็ได้ตั้งให้ท้าวราชบุตร หรือท้าวหน้า เป็นพระยาปทุมเทวาภิบาลแทนในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นเจ้าเมืองหนองคายคนที่ ๒ โดยท้าวหน้าได้นั่งเมืองมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๐๐ ท่านก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมลง (เดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ)
หลังจากที่พระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร) ถึงแก่อนิจกรรมลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระอุปฮาด (เคน) ดำรงตำแหน่งเป็น พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายคนที่ ๓ ต่อมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนบรรดาศักดาศักดิ์ พระประทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคาย เป็น พระยาประทุมเทวาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองหนองคาย
โดยในสมัยที่ พระยาประทุมเทวาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองหนองคาย นั้น วันหนึ่ง ลูกชายคนโตของท่านพระยาปทุมเทวาภิบาล(เคน)ก็ฝันไปว่า มีพญานาคกลุ่มหนึ่งที่นุ่งห่มเสื้อผ้าด้วยหนังวัวได้มาบอกว่าจะขอมาปฏิบัติธรรมที่นี่คือตรงบริเวณต้นโพธิ์ปลายสวนและพญานาคก็ขอให้สร้างวัดขึ้นตรงนี้ให้ด้วย พอตื่นขึ้นมาลูกชายของท่านก็ได้ไปเล่าให้ท่านฟัง เมื่อท่านได้ฟังเช่นนั้นแล้วก็เกิดความดีใจมากประกอบกับความรักที่มีต่อลูกชายจึงได้ปรึกษากับกรมการเมืองและพระเถระในเมืองตอนนั้น ที่สุดก็มีมติว่าควรสร้างวัดขึ้น ณ สถานที่ที่ลูกชายของท่านฝันนั้น เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วก็ได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดนาค”ตามความฝันของลูกชายของท่าน และนับตั้งแต่นั้นมาชาวเมืองจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดนาค”ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ที่มา : เฟชบุ๊ค Naga King
Leave a Reply