“ผอ.สันติศึกษา มจร” เล็งตั้งธนาคาร “เมล็ดพันธุ์-ที่ดินทำกิน” สู้ภัยโควิด

เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2564 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้เปิดเผยผ่านHansa Dhammahaso ความว่า

ธนาคารเมล็ดพันธุ์ และธนาคารที่ดินทำกินเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอปรางค์กู่ ศรีสะเกษ

พิษภัยจากโรคโควิด 19 นอกจากจะเป็นภัยคุกคามร่างกายที่นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บจนถึงตายแล้ว ยังคุกคามเรื่องเศรษฐกิจสร้างความอดอยากหิวโหย อันเป็นผลจากการที่คนจำนวนมากตกงาน จนไม่สามารถเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัว

แม่แรมซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบอีกท่านที่หันมาทำพืชสวนนาป่าคันนาทองคำที่มีชื่อเสียงของอำเภอปรางค์กู่ได้เผยความในใจว่า ลูกทั้งสามคนต้องตกงาน และออกจากงานเพราะบาดแผลจากโควิด แต่โชคดีที่แม่แรมมีพื้นที่ 12 ไร่ ให้ลูกๆ ได้กลับมาเพราะปลูกพืชผักต่างๆ เพื่อขายเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

แต่ปัญหาก็คือ ต้นทุนอันเกิดจากการที่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากนายทุนที่ผูกขาดมรดกของเมล็ดพันธุ์ไว้ ยิ่งกว่านั้น เมื่อเก็บพืชผลได้แล้วเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจะเป็นหมันและฝ่อไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ ชาวเกษตรกรจึงต้องหันกลับไปซื้อเมล็ดพันธุ์จากนายทุนที่ผูกขาดมาปลูกอีกเช่นนี้เรื่อยไป ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

จึงไม่แปลกที่โจน จันไดจะออกมาประกาศก้องว่า “การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ คือการส่งต่อมรดกชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” การรักษาเมล็ดพันธุ์จึงหมายถึงการพึ่งตนเองในระยะยาว ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายจนถึงลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จึงหมายถึงการทำให้เกษตรกรต้องเอาชีวิตไปฝากไว้กับชนชั้นนายทุน

นอกจากนี้ ลูกหลานที่ตกงานที่กำลังกลับมาบ้าน บางคนขาดพื้นที่ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตนเอง และขายส่วนเกินเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยเลี้ยงชีพในเรื่องอื่นๆ จึงมีความจำเป็นต้องหาพื้นที่เพื่อรองรับกลุ่มคนดังกล่าว ให้สามารถอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้

ในขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากทำนาปีละครั้ง จึงปล่อยที่นารกร้างว่างเปล่าร่วม 4 เดือน กว่าจะเข้าสู่หน้าฝนเพื่อร่วมต้นทำนา ฉะนั้น พื้นที่ดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาและปรับปรุงเพื่อปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อยังชีพได้เช่นกัน จึงเป็นโอกาสที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาเข้าร่วมโครงการธนาคารที่ดินเพื่อทำกินในยุคโควิด

จากตัวแปรทั้ง 2 เรื่องนั้น จึงเป็นที่มาของการริเริ่มทำโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ และโครงการธนาคารที่ดินทำงานกิน อันจะช่วยสร้างโอกาสและรองรับวิกฤตการณ์ด้านอาหาร และความอยู่รอดของเพื่อนมนุษย์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก และหาทางออกให้แก่ตัวเองและครอบครับให้สามารถลืมตาอ้าปากและผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

Leave a Reply