“องคมนตรี” ประชุมติดตามคืบหน้า “พุทธสถานเฉลิมพระเกียรติ” วัด “หลวงปู่ทุย” ในพระบรมราชูปถัมภ์

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2567  นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและบริหารโครงการพุทธสถานทรัพยากรเฉลิมพระเกียรติ วัดป่าดานวิเวก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโครงการที่พระอธิการปรีดา ฉนฺทกโร เจ้าอาวาสวัดป่าดานวิเวก ได้ขอพระราชทานถวายเพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ให้คงสภาพความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติและเป็นที่สัปปายะสำหรับพระสงฆ์ปฏิบัติกรรมฐานอย่างยั่งยืน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566  ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ ดังนี้

1.การดำเนินการ เรื่อง ขอบเขตพื้นที่ดำเนินโครงการ 3,173ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา และพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม และขอใช้ประโยชน์เพิ่มเติมจากทางราชการ รวมพื้นที่โครงการทั้งสิ้น 3,541 ไร่ 1 งาน 76.84 ตารางวา

2. การสำรวจภูมินิเวศและจัดทำบัญชีพันธุ์ไม้เดิม พันธุ์ไม้เพิ่มเติม และสัตว์ป่า

3. การศึกษาพันธุ์ไม้สมุนไพร โดยเฉพาะ จันทร์แดง และถอดเสี้ยน ซึ่งพบว่ามีสรรพคุณทางยา และได้ดำเนินการจัดทำสรรพคุณทางยาเรียบร้อยแล้ว

4. การบริหารการอยู่ร่วมกันให้เกิดความยั่งยืน ตามหลัก บ้าน วัด โรงเรียน และการปลูกฝังให้เยาวชนในพื้นที่มีความรักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ

      ในการนี้ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดบึงกาฬ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย

สำหรับ พระอาจารย์ปรีดา ฉนฺทกโร หรือ “หลวงปู่ทุย”  เจ้าสำนักวัดป่าดานวิเวก หรือวัดดงศรีชมภู ซึ่งตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านแสงอรุณ ต.ศรีชมภู อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ

“หลวงปู่ทุย” เป็นพระธรรมยุตสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นศิษย์รุ่นน้องหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ในด้านปฏิปทาท่านเป็นพระสมถะ สันโดษ มีความเป็นอยู่เรียบง่าย น่าเลื่อมใส และเจริญรอยตามคำสอนแห่งองค์พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ศิษย์ใกล้ชิดเล่า บุคลิกของหลวงปู่ที่ศิษยานุศิษย์รู้จักดี คือ ความดุ เจ้าระเบียบ และความเคร่งครัด แต่จิตใจท่านมีความเมตตาต่อบรรดาลูกศิษย์ เวลาทำอะไรจะยึดถือปฏิบัติตามแบบโบราณตามที่ครูบาอาจารย์สอน ไม่ใช้เทคโนโลยี เพราะท่านเห็นว่าเทคโนโลยีเข้ามาจะเป็นผลเสีย ซึ่งเห็นได้ว่าคนสมัยนี้วิ่งเร็วเกินตัวเองไปมาก ถือเป็นเรื่องอันตราย

พื้นเพท่านเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด แต่ไปเติบโตที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย สมัยบวชเรียนเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เป็นรุ่นน้องของหลวงตามหาบัว ซึ่งหลวงตามหาบัวเป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นที่มีปฏิปทาของพระป่าสมัยก่อนที่ถือธุดงควัตร 13 ข้อ แน่นแฟ้นและปกปักรักษาป่าอย่างถวายชีวิต หลวงปู่ทุยเองก็ได้เจริญรอยตาม หลังจากที่หลวงตามหาบัวสร้างวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ท่านก็มาจำพรรษาอยู่ที่นี่ช่วงหนึ่ง

อุปนิสัยหลวงปู่ทุย เป็นคนรักธรรมชาติ จึงชอบสงวนที่ป่าเขาลำเนาไพร มีมากมีน้อยท่านไม่เคยทำลาย หลังจากฝึกกรรมฐานจนสำเร็จ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกองเพล จ.อุดรธานี (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.หนองบัวลำภู) ได้แนะนำให้ท่านธุดงควัตรมาที่ดงสีชมภูนี้เมื่อปี 2509 ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สีแดงที่คอมมิวนิสต์ยึดครองอยู่

 

หลวงปู่ทุยอยู่ที่นี่ได้ 2 ปี ก็ได้ตั้งวัดป่าดานวิเวกขึ้น ในปี 2511 ชื่อของวัดมาจากพื้นที่แห่งนี้เดิมเป็นดานหินทราย ภายในบริเวณวัดประกอบด้วยพื้นที่ป่าหลายส่วน รวมกัน 2,500 ไร่ เฉพาะพื้นที่ของวัดเองประมาณ 14 ไร่ เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เช่าโดยถูกต้องตามกฎหมาย รวมกับพื้นที่ของกรมป่าไม้ที่ให้วัดดูแลอีก 700 ไร่ และพื้นที่ ส.ป.ก.อีก 1,400 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกมันสำปะหลังแล้วกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมเลยยกให้หลวงดูแล

ท่านจึงชวนชาวบ้านใน 3 ตำบล ของ อ.โซ่พิสัย ปลูกป่าใหม่ขึ้นมา ทั้งไม้ประดู่ ชิงชัง เต็ง รัง จนไม้เติบใหญ่ขึ้นเป็นป่าใหม่ แล้วพื้นที่ทั้งหมดนี้ท่านถวายเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านทุกคนจะได้ช่วยกันดูแล ทั้งยังหาแหล่งน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ในการเกษตรอีกด้วย

หากใครได้เข้าไปในบริเวณวัดป่าดานวิเวก จะเห็นว่า วัดสงัดเงียบมาก ร่มรื่น เพราะเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยมากมาย แต่ถึงต้นไม้จะเยอะ ใบไม้จะร่วงหล่นลงมามากแค่ไหน ก็หาได้สู้ความขยันของพระเณรในวัดไม่ เพราะพระเณรจะช่วยเก็บกวาดและทำความสะอาดเสนาสนะทุกวัน

ขณะที่เสนาสนะหรือสิ่งปลูกสร้างในวัดมีเพียงกุฏิสงฆ์ ศาลาอเนกประสงค์ที่สร้างด้วยไม้ และเรือนปฏิบัติธรรมของฆราวาสเท่านั้น ภายในวัดไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา พระสงฆ์และเณรใช้แสงไฟจากตะเกียงและน้ำบาดาลเท่านั้น ดังนั้นวัดของหลวงปู่จึงไม่มีการบอกบุญ เรี่ยไร หรือตั้งตู้รับบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น และข้อที่ควรรู้อย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่ คือ ท่านไม่ชอบให้ใครมาถ่ายรูปท่าน รวมถึงภายในวัด เพราะไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อันใด

ว่าด้วยสมณศักดิ์ก็เป็นสิ่งที่ท่านไม่เคยปรารถนาอยากได้ ได้ยินว่าทางหลวงปู่ทุยเคยแจ้งไปทางหน่วยงานราชการว่าไม่ต้องให้ยศให้ตำแหน่งหรือสมณศักดิ์แก่ท่าน ท่านบอกว่า ขอเป็นพระธรรมดา อยู่เฉยๆ ก็พอแล้ว และทางวัดจะไม่รับกฐิน เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายจึงไม่ต้องใช้เงิน

ธรรมะที่หลวงปู่สอนเทศน์ชาวบ้านญาติโยม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องง่ายๆ แต่แสดงให้เห็นข้อวัตรปฏิบัติและปฏิปทาอันงดงามของท่านอย่างชัดเจน เช่น “โยมไม่ต้องมาบริจาคเงินให้วัด โยมเอาเงินไปให้พ่อแม่ได้บุญมากกว่าเอามาให้วัด เรื่องเงินไม่สำคัญ ฆราวาสมีศีล 5 ก็พอ” เป็นปรัชญาสั้นๆ ที่คมลึกซึ้ง

นอกจากนี้ ท่านมักจะเทศน์สอนบอกชาวบ้านว่า “โยมอย่าเอาไฟฟ้าเข้าวัด เพราะจะทำให้พระต้องมีค่าใช้จ่าย พระไม่มีรายได้ อยู่โดยไม่มีไฟฟ้าดีกว่า” หรือ “โยมมาที่วัด ขออย่าอึกทึกเสียงดัง มาอยู่วัดให้ทำสมาธิ ฝึกจิต ได้บุญกว่ามานั่งกราบพระ” เป็นต้น

ยุคสมัยที่เงินทองครอบงำทุกชนชั้นวรรณะจนหลายคนหลงลืมแก่นแท้ของชีวิตว่า ความสุขแท้จริงมันเกิดขึ้นได้อย่างไร แม้แต่วงการศาสนาไม่วายที่หลายวัดต้องกลายเป็นพุทธพาณิชย์ บางวัดมุ่งเทศนาชวนเชื่อแต่เรื่องการบริจาคเงิน จนลืมแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา แต่สำหรับหลวงปู่ทุยแล้วยังคงเป็นพระธรรมดา สมถะ สันโดษ ตั้งมั่นในศีลาจารวัตร เป็นที่เลื่อมใสของชาวพุทธอยู่เสมอ

Leave a Reply