พิชิต 4,088 โค้ง : ตามไปดู “โคก หนอง นา” ท่ามกลางขุนเขา “เมืองสามหมอก” กระแสของ “โคก หนอง นา” ในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้กลายเป็น “โมเดล” จุดประกายความคิดใหม่ ของสังคมไทย เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป ในทุกระดับชั้น เป็นอย่างมาก ทั้งในระดับตัวบุคคลและหน่วยงาน เนื่องจากเป็นการพัฒนาที่ดินในรูปแบบใหม่ตามหลักของเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือและให้การสนับสนุนอย่างบูรณาการทำให้ประชาชนรู้สึกมีความรู้และความมั่นใจที่จะนำที่ดินของตนเองมาทำแปลง “โคก หนอง นา” “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เล่าว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดทฤษฎีใหม่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเอง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ “คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 จึงเห็นชอบอนุมัติงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา ” จำนวน 4,700 ล้านบาท เพื่อกระจายไปยังจังหวัดทั้ง 73 จังหวัดทั่วประเทศ 571 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน พร้อมกับจ้างน้อง ๆ นักศึกษาจบใหม่เพื่อให้มีงานอีกประมาณ 1 หมื่นตำแหน่ง” ตั้งแต่บัดนั้น จนบัดนี้ กระแสของ “โคก หนอง นา” แม้จะแผ่วเบาลงบ้าง แต่กระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของปลัดเก่ง “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ผู้จุดประกาย โคก หนอง นา บูมและจุดกระแสกระจายไปทั่วประเทศ ในยุคที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ทุกวันนี้หลายครัวเรือนก็ยังบอกว่าโคก หนอง นา คือ ทางรอด..มิใช่ทางเลือก “โคก หนอง นา” คือการจัดการพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ ตามภูมิสังคม ประยุกต์จากพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพิ่มพื้นที่ป่า สร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเอง เน้นการพึ่งพาตนเอง ด้าน น้ำ อาหาร และพลังงานอย่างเป็นระบบ สามารถนำผลผลิตที่ได้มาต่อยอด แปรรูปในขั้นก้าวหน้าเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความสามัคคีในชุมชนได้ ซึ่งโคก หนอง นา มีองค์ประกอบหลักที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ โคก หรือ “พื้นที่สูง”เป็นดินที่ถูกมนุษย์ขุดขึ้นมาจากการทำหนองน้ำ แล้วนำดินนั้นมาทำเป็นโคก บนโคกจะปลูกป่าโดยทำเป็นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สามารถปลูกพืช ผัก ผักสวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือเลี้ยงปลา โดยจะทำให้การเป็นอยู่ดีขึ้น หนอง หรือ “หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ” หนอง ที่จะพูดถึงนี้ คือ การขุดหนองเอาไว้เพื่อกักเก็บน้ำที่มีความจำเป็นช่วงหน้าแล้ง ช่วงที่มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม หรือเป็นหลุมที่เอาไว้รับน้ำที่จะมาท่วมขัง (หลุมขนมครก) โดยการขุดปกติแล้วจะเรียกว่าคลองไส้ไก่ หรือคลองที่ใช้ระบายน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ตามภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน การขุดจะมีลักษณะคดเคี้ยวออกไปตามพื้นที่ เพื่อเป็นการกระจายน้ำให้เต็ม ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานไม่ต้องไปรดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้ ยังมีการทำเป็นฝายเอาไว้ทดน้ำ เพื่อให้สามารถเอาไปกักเก็บน้ำไว้ภายในพื้นที่นั้น ๆ ให้ได้มากที่สุดเมื่อพื้นที่ที่อยู่โดยรอบไม่ได้มีการกักเก็บน้ำ น้ำก็จะไหลหลากลงมาภายในหนองน้ำ รวมถึงคลองไส้ไก่ ช่วยให้สามารถใช้ฝายกักเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้ ทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่ อย่างการขุดลอกหนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และระบายออกเมื่อน้ำไหลหลาก นา ถือเป็นพื้นที่ให้ปลูกข้าวอินทรีย์ตามแบบฉบับพื้นบ้าน ซึ่งจะมีการเริ่มต้นมาจากการพัฒนาฟื้นฟูที่ดิน อย่างการเลือกทำการเกษตรแบบอินทรีย์ยั่งยืน เพื่อคืนสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เรียกว่าจุลินทรีย์กลับไปยังผืนดิน ช่วยควบคุมปริมาณน้ำที่มีอยู่ภายในนาให้สมบูรณ์ คุมหญ้าโตกำลังดี ปลอดสารเคมี ไม่เป็นอันตรายทั้งคนที่ปลูก รวมถึงคนที่กินด้วย นอกจากนี้ ยังมีการยกคันนา ให้มีความสูงและกว้าง เป็นการเปิดพื้นที่รับน้ำได้ ไม่เป็นภัยเมื่อมีน้ำไหลหลากมาท่วม สามารถปลูกพืชได้ตามคันนา สุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การทำโคก หนอง นา นี้ สอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาว่าด้วยความพอเพียง พื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ ความต้องการปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งหุ่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค เศรษฐกิจพอเพียงสอนให้มนุษย์รู้จักพึ่งพาตนเอง เป็นไปตามทฤษฎีบันได 9 ขั้น พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ทำบุญและทาน เก็บรักษา จำหน่าย และจบด้วยการสร้างเครือข่าย ..” “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้รับมอบหมายจาก “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ลงพื้นที่เพื่อไปดูความสำเร็จของการทำการแปลง โคก หนอง นา อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา “ทีมข่าว” ลงไปแล้วไม่ต่ำกว่า 7 รอบ ๆ ละไม่ต่ำกว่า 10 จังหวัด เพื่อไปร่วมพูดคุยกับเจ้าของแปลงโคก หนอง นา ที่ดำเนินการโดย กระทรวงมหาดไทย พร้อมกันนั้นหากมีโอกาส “ปลัดเก่ง” ในฐานะผู้ริ่เริ่มผลักดันมาตั้งแต่ต้นจะร่วมพูดคุยกับเจ้าของแปลงโคก หนอง นา ในพื้นที่ ๆ ทีมข่าวลงไปด้วยเช่นกัน “จังหวัดแม่ฮ่องสอน” เป็นจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย มีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และความหลากหลายของประชากรจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ นับเป็นจังหวัดที่มีสถิติน่าสนใจหลายอย่าง เช่น มีประชากรเบาบางที่สุดในประเทศ และมีประชากรน้อยมากเป็นอันดับ 5 ในขณะที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 8 ของประเทศ แม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสามหมอก” เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพอากาศมีหมอกปกคลุมตลอดเวลาส่วนใหญ่ของปี ประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้นชื่อว่ามีความหลากหลาย โดยมากเป็นชาวไทใหญ่ นอกนั้นเป็นชาวไทยวน กะเหรี่ยง มูเซอ ลีซอ ลัวะ ม้ง ฮ่อ ปะโอ และอื่น ๆ โดยต่างรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็อยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมที่ต่างกันได้โดยไม่เคยปรากฏความแตกต่างระหว่างภาษาและวัฒนธรรมแต่อย่างใด “แม่ฮ่องสอน” เป็นเมืองท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ท่ามกลางป่าเขา เส้นทางคดเคี้ยว มีธารน้ำไหลระหว่างขุนเขา ป่าไม้ยังคงอุดมสมบูรณ์ ซึ่งการจะไปยังตัวเมืองแม่ฮ่องสอน นอกจาก “เครื่องบิน” แล้ว มีทางเลือก 2 เส้นทาง คือ การขับรถ ผ่าน เชียงใหม่ อำเภอฮอด อำเภอแม่สะเรียง อำเภอขุนยวม แม่ฮ่องสอน เป็นเส้นทางที่มีโค้งทั้งหมด 1,864 โค้ง หรือ จะผ่านจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม พอใกล้ถึง อำเภอแม่แตง ขับยาวไปเรื่อย ๆ ผ่าน อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า จนถึงแม่ฮ่องสอนทางโค้งถึง 2224 โค้ง ถ้ารวมทางโค้งกับเส้นทางวนรอบสู่แม่ฮ่องสอนทั้งหมด จะมีถึง 4088โค้งเลยทีเดียว! “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” เลือกลงจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจาก 7 รอบที่ผ่านมาไม่เคยลงมาก่อน และเลือกที่จะไปทางรถเพื่อไปดูวิถีชีวิตชาวบ้าน 2 ข้างทาง โดยขับรถตั้งแต่กรุงเทพมหานคร พักค้างแรมจังหวัดลำปาง ต่อด้วยผ่านจังหวัดเชียงใหม่ เลือกเส้นทางอำเภอแม่ริม อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า และเข้าสู่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับการอำนวยความสะดวก การประสานงานในพื้นที่จาก “นางสาวมนทิรา เข็มทอง” ผอ.สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน และคณะ เนื่องจาก “พี่มน” เคยร่วมงานกันมาก่อนตั้งแต่เป็น “ทีมงาน” คิดโปรเจคโครงการ “โคก หนอง นา” ยุค “ปลัดเก่ง” เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เส้นทางจากอำเภอแม่ริมไปแม่ฮ่องสอนในท่ามกลาง “ฤดูฝน” แบบนี้ เดินทางค่อนข้างลำบาก ยิ่งคนไม่ชำนาญทางแบบ “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ยิ่งเสี่ยง วันที่เดินทางไปฝนตกตลอดทาง ผ่านหนทางที่คดเคี้ยวและหักศอกหลายสิบแห่ง มีรถ “ขนผัก” ขับผ่านไปมาเป็นระยะ เห็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกขับรถ “มอเตอร์ไซต์” ผ่านไปมาหลายคัน บางช่วงทางเปลี่ยวน่ากลัว ก่อนถึงจุด “ชมวิวกิ่วลม” ถนนลื่นผนวกกับจังหวะเร่งรถหักศอก ทำให้รถลื่นและเซไปชน “พงหญ้า” หน้าผา สุดท้าย..ก็รอดไปถึงจุดชมวิวกิ่วลม สอบถาม “รถขนผัก” บอกว่าข้างหน้าก่อนถึงอำเภอปางมะผ้าหนักกว่านี้ และจากอำเภอปางมะผ้าไปถึงแม่ฮ่องสอน ถนนแคบ คดเคี้ยวหักศอก “อย่าเสี่ยง” ให้นอนพักที่อำเภอปางมะผ้าดีกว่า เพราะฝนตกแบบนี้ถนนลื่นเสี่ยงรถตกเหวได้ “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” บอกว่าขอไปต่อ เพราะ “นัดแขก” ไว้แล้ว คือ นัดกับเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน แม่ฮ่องสอน และ “เจ้าของแปลง” โคก หนอง นา ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การเดินทางจาก “จุดชมวิวกิ่วลม” เป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากถนนคดเคี้ยว ลาดชัน หักศอก ถนนแคบ บางแห่งผ่านได้เลนเดียว ขวาเป็นเหว ซ้ายเป็นหน้าผา สลับกันตลอดเส้นทางแบบนี้ บางช่วงเชิงเขามีร่องรอยดินสไลด์ตลอดทาง มีรถขนผักและมอเตอร์ไซต์ฝรั่งผ่านมาเป็นระยะ ๆ ท่ามกลางฝนตกพรำ ๆ กว่าจะถึง “จุดหมาย” คือ ใกล้ค่ำ “โจ้” สุรวิทย์ ดอกพรมลา เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนแม่ฮ่องสอนที่ดูแล “โคก หนอง นา” แจ้ง “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ว่าหาแปลงโคก หนอง นา ไว้จำนวน 2 แปลง ซึ่งอยู่ใกล้กัน พร้อมกับส่ง “พิกัด” มาให้ และก็ทำตามคำขอของเรา คือ ไม่ต้องมาที่แปลง พร้อมกับบอกว่า “โคก หนอง นา “ จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีทั้งหมด จำนวน 76 แปลง และศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” ตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อีกจำนวน 104 แปลง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมดจำนวน 180 แปลง ในพื้นที่ครอบคลุม 7 อำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน “พี่เวช” สุขเกษม คำสม เจ้าของแปลง โคก หนอง นา ตากะยาย ต. ห้วยผา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน พร้อมกับคู่ชีวิตคือ “อาภาศิริ คำสม” รอต้อนรับอยู่แล้วเมื่อทีมงานเราไปถึง หลังจากเดินพาชมแปลงที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแปลงแบบ “ผสมผสาน” มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีการเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ และไก่พื้นเมือง “พี่เวช” เล่าว่า เริ่มทำโคก หนอง นา มา 15 ปีแล้ว เมื่อก่อนเป็นพนักงานขับรถที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้น ทางกำนันเรียกให้มาช่วยงานเป็นผู้ช่วยกำนันเป็นแพทย์ประจำตำบลหลังจากกลับมาอยู่บ้านปี 2559 เริ่มมาทำเกษตรผสมผสาน เวลาผลผลิตออกมาเราก็จะให้ลูกหลานได้ทานก่อน แบ่งปันญาติพี่น้อง ถ้าเหลือทานแล้วถึงนำไปขาย เราอยู่แบบพอเพียง เเรงงานที่ใช้ในทุกวันนี้ก็มาจากครอบครัว “สวนนี้ก็มีการทำเกษตรมาก่อนแล้ว เรามารับช่วงต่อ ที่ดินเป็นมรดกของภรรยา น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ น้ำมีตลอดทั้งปี เมื่อก่อนจะมีบ่อขนาดเล็กเก็บน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร เเละได้เข้าร่วมโครงการกลุ่มผู้ใช้น้ำมาขุดบ่อให้ฟรี และทำเป็นบ่อใหญ่เก็บน้ำได้ตลอดทั้งปี แล้วหันมาปลูกกระเทียม เราทำแบบผสมผสานในพื้นที่10ไร่ มีกระเทียม เงาะ แก้วมังกร รายได้หลักมาจากกระเทียมGAP คือกระเทียมที่ปลอดภัยขายในชุมชน เป็นกระเทียมที่ใช้สารเคมีไม่เยอะ ซึ่งกระเทียมเกษตรอินทรีย์ส่วนมากที่ผมทำไว้คือจะทำไว้เพื่อบริโภค เวลาขายนี้จะราคาแพงกว่ากระเทียมGAP นิดหน่อยแต่เรื่องน้ำหนักและผลผลิตจะได้น้อยกว่ากระเทียม GAP เพราะเราไม่ได้ใส่สารเคมี เราใช้แต่น้ำหมักและปุ๋ยหมักเองเราทำยาพ่นกันเเมลงส่วนผสมจากพวกยาสูบ ยาเส้น เหล้าขาว คือเราจะทำแบบให้กระทบกับตัวเราน้อยที่สุด..” “พี่เวช” หรือ สุขเกษม คำสม เล่าต่อว่า ได้เข้าร่วมโครงการทำ โคก หนอง นา กับกรมการพัฒนาชุมชนเมื่อปี 2563 พื้นที่ขนาด 3 ไร่ การออกแบบออกแบบเอง ตามภูมิสังคม เป็นเลข 8 มีคลองใส้ไก่ มีตะพักเป็นชั้น ๆ ส่วนมากภรรยาจะเป็นคนออกแบบว่าพื้นที่ของเราขนาดนี้จะต้องทำอย่างไร มีการเอามื้อสามัคคีตลอด ที่เป็นศูนย์เรียนรู้จริง ๆ แปลงโคก หนอง นา ตรงนี้จะเน้นเรื่องการเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะ แกะ ไก่พื้นเมืองและปลา “ทุกวันนี้ที่ผมประสบความสำเร็จคิดว่าเป็นเรื่องของการไม่ต้องซื้อของที่อื่นมากิน ผมเคยเอาของไปขายในตลาดสดแม่ฮ่องสอนเท่าที่ดูส่วนใหญ่ไม่มีของแม่ฮ่องสอนเลยแต่จะมาจากเชียงใหม่ทั้งนั้นซึ่งเราไม่รู้ว่าของที่เขานำมาขายนั้นจะมีสารเคมีอะไรอยู่บ้าง จึงแนะนำให้ชาวบ้านปลูกเองกินเองเลย ส่วนใหญ่ชาวบ้านแถวนี้จะปลูกเองหมด ที่เหลือก็ขาย จึงทำให้ไม่ค่อยมีตลาดเนื่องจากสมัยนี้มีการขายออนไลน์..” เมื่อ “ทีมงาน” ถามว่า มีอะไรอยากจะแนะนำคนอยากทำแบบนี้บ้าง “พี่เวช” บอกว่าการทำโคก หนอง นา หัวใจ และน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่สุด “สำหรับคนที่อยากทำเกษตร อันดับแรกเราต้องมีใจก่อนถ้าใจเรารักเราก็ทำได้ และอีกเรื่องคือเรื่องน้ำก็สำคัญมากเพราะที่ผ่านมาหลายแปลงขุดแล้วไม่เจอน้ำเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ถ้าคนที่สนใจทำก็ต้องมีแหล่งน้ำก่อน อีกเรื่องคือเพื่อนสมาชิกก็มีส่วนถ้าเราไม่ขยายก็ไม่กระจาย ถ้าเราขยายไปสู่ชุมชนได้ก็เป็นโอกาสที่ดี ทางพช.กระทรวงมหาดไทยก็ให้ความสำคัญและเป็นพี่เลี้ยงให้เราได้เป็นอย่างดี..” ห่างจากแปลงโคก หนอง นา ตากะยาย ไม่ไกลนัก “พี่เวช” พาไปดูอีกแปลง ซึ่งบอกว่าเป็นเครือญาติกัน แปลงแห่งนี้เลี้ยงปลาพื้นเมืองด้วยชื่อ “ปลาพวงหิน” หรือ “ปลาบุง” ตลาดมีความต้องการมาก “พี่เทพ” เกษม แสนฤทธิ์เจริญ ในขณะที่ “ทีมงาน” ไปถึงกำลังอยู่ในแปลง เพื่อเตรียมทำนาข้าวอยู่ บอกว่า เริ่มทำ โคกหนองนามา 2 ปีกว่า ก่อนหน้านี้ทำสวนกระเทียม ช่วงฤดูฝนก็ปลูกข้าว หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะลงกระเทียม หลังจากเข้า โครงการโคกหนองนาแล้ว ก็มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะจากที่เรามีที่ดินเยอะ ๆ เราปลูกข้าวก็พอแค่พอกิน แต่มีต้นทุนที่สูง แต่เมื่อเข้าโครงการแล้วจึงปลูกพืชแบบผสมผสาน ทำให้มีรายได้จาก กล้วย เลี้ยงปลา ปลูกผักกูด นอกจากนี้ยังมีรายได้หลักมาจากกระเทียม “การมาทำเกษตรนี้ถ้าคนที่คิดอยากรวย ผมคิดว่าอย่ามาทำเลย เราแค่พออยู่ พอกิน มีกินทุกวัน มีเงินเก็บนิดหน่อย คนที่อยากมีความสุข แบบเราจึงควรมาทำ ตอนนี้รายได้โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 15,000 บาท อยู่ในสวนแบบนี้สบาย มีผัก มีปลาท้องถิ่นชื่อปลาพวงหิน ตลาดต้องการมาก เพราะเนื้ออร่อย ราคาดีกิโลกรัมละประมาณ 200 บาท ไม่พอขาย พ่อค้ามาจองกันเลย สำหรับคนของพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก็มาเยี่ยมเยียนบ่อย เขาก็แนะนำ และหาเครือข่ายให้ ซึ่งหากเป็นไปได้ อยากให้ทางหน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือด้านการตลาดที่มั่นคง อุปกรณ์การเกษตรและเมล็ดพันธุ์..” ขณะที่พูดคุยกับ พี่เทพ อยู่ฝนตกหนัก “ทีมงาน” เห็นว่าใกล้พลบค่ำแล้ว ต้องเดินทางเข้าไปยังตัวจังหวัดอีกหลายสิบกิโลเมตร จึงร่ำลาและรับปากว่าวันหน้าจะมาอีกครั้ง เนื่องจากทั้งแปลงโคกหนองนาของ “พี่เวชและพี่เทพ” บรรยากาศสวยงาม ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา มีร่องน้ำผ่านซึ่งทั้งสองท่านเชิญชวนให้มาฤดูหนาวบอกว่า..สวยงามดังสวรรค์บันดาล เลยทีเดียว.. “ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน” ยามต้นฤดูฝนแบบนี้ไม่คึกคักเท่าไร โรงแรมหลายแห่งปิดเงียบ กว่าจะหาที่พักได้แวะเวียนไปหลายแห่ง ร้านอาหารส่วนใหญ่ก็ปิดกิจการลง “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ยังผวาอยู่กับถนนลื่นและชนหน้าผา จึงคิดหลายตลบว่าจะกลับทางเดิมดีหรือมีเส้นทางอื่นอีกหรือไม่ เพราะฝนทำท่าว่าจะตกทั้งวัน จึงสอบถามจากเจ้าหน้าที่โรงแรมและชาวบ้านในตลาด ว่า มีทางกลับอีกทางแต่จะอ้อมเยอะหน่อย คือ เส้นทางอำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง เข้าอำเภอฮอด แต่ให้ระวังน้ำป่าตรงเลียบแม่น้ำแม่แจ่มหากไม่มีปัญหาทางนี้สะดวกและไม่อันตรายเหมือนเส้นทางเดิมที่ทีมงานมายังแม่ฮ่องสอน สุดท้าย..เลือกกลับทางที่เจ้าหน้าที่โรงแรมและชาวบ้านบอก ถึงตัวเมืองเชียงใหม่โดยปลอดภัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีทิวทัศน์สวยงาม ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พลเมืองหลากหลายเชื้อชาติ มีเสน่ห์ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขตามวิถีแห่งความพอเพียง พออยู่ พอกิน เรียบง่าย แต่สำหรับ “ทีมงานข่าวเฉพาะกิจ” ประสบการณ์การเดินทางครัั้งนี้ จำไม่รู้ลืม!! จำนวนผู้ชม : 982 Leave a ReplyFacebook Comments More Articles By the same author ปลัดมหาดไทยยกโมเดลวัดถ้ำกระบอกสระบุรี ขยายผลบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดทั่วประเทศ อุทัย มณี ธ.ค. 11, 2022 ปลัดมหาดไทยเอาจริง หารือเเนวทางสร้างสถานบำบัดฟื้นฟู ยกโมเดลวัดถ้ำกระบอก… ชาวพุทธสุดปลื้ม! “อ.บรรจบ” เผยจีนให้รัฐบาลตาลีบันฟื้นฟูพุทธศาสนสถาน อุทัย มณี ก.ค. 30, 2022 วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 เฟซบุ๊ก Banjob Bannaruji - บ้านบรรณรุจิ ของ ศ.ดร.รท.บรรจบ… พระภาสกร ภาวิไล นักการศาสนาชื่อดัง”มรณภาพกะทันหัน” อุทัย มณี มี.ค. 15, 2021 ค่ำวานนี้ (14 มี.ค.64) เวลา 19.58 น. พระภาสกร ภูริวัฑฒโน (ภาวิไล)… คติธรรม “สมเด็จพระสังฆราช” เนื่องในวันวิสาขบูชา อุทัย มณี พ.ค. 22, 2024 วันที่ 22 พ.ค. 67 สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้เผยแผ่คติธรรมของ… เปิดฉายา..พระสงฆ์ประจำปี’66 อุทัย มณี ธ.ค. 26, 2023 การตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี หรือ การตั้งฉายานักการเมืองประจำรัฐสภาหรือแม้กระทั้งวงการ… “เพชรวรรต” สายตรง” ประธานพระธรรมทูตยุโรป รับลูกปมพาสปอร์ต 10 ปีพระไทยในต่างแดน อุทัย มณี ก.ย. 25, 2022 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 เวลา 17.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่กรุงบรัสเซลส์… “ราชกิจจาฯ”ประกาศ ม.44 ปลดล็อกพรรคการเมือง อุทัย มณี ธ.ค. 11, 2018 วันที่ 10 ธ.ค.61 เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่… ‘พงศ์พร’เกษียณสิ้น ก.ย.นี้แล้ว! ‘เทวัญ’ไม่รีบหา ผอ.พศ. คนใหม่ อุทัย มณี ส.ค. 28, 2019 วันที่ 28 สิงหาคม 256 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี… ประธานพระธรรมทูตยุโรป “ธรรมสัญจร” เยี่ยม 7 วัดในสแกนดิเนเวีย ชื่นชมบทบาท “ธรรมทูตคฤหัสถ์” อุทัย มณี ก.ค. 16, 2024 วันที่ 16 ก.ค. 67 ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2567 ตามมติที่ประชุม ส.ธ.ย.… Related Articles From the same category เสนออริยสัจโมเดลเป็นสันติวิธี ละลายภูเขาน้ำแข็ง ทหารกราดยิงกลางเมืองโคราช เสนออริยสัจโมเดลเป็นสันติวิธี ละลายภูเขาน้ำแข็ง ทหารกราดยิงกลางเมืองโคราช… มาแล้ว!! กษัตริย์ซาอุดีฯ มอบคำภีร์อัลกุรอ่านฉบับแปลไทย 50,000 เล่ม เพื่อพี่น้องมุสลิมไทยและผู้ที่สนใจ วันที่ 29 ม.ค. 65 วันนี้เพจ "แอดชายชายแดนใต้" ได้โพสต์ข้อความว่า … ปลัดมหาดไทยลงพื้นที่จังหวัดระนอง ตรวจเยี่ยมการปรับภูมิทัศน์หาดส้มแป้น เน้นย้ำ ผู้ว่าฯ ต้องเป็นผู้นำบูรณาการ 7 ภาคีเครือข่ายแบบต่อเนื่อง วันที่ 21 ก.ย. 66 เวลา 09.00 น. ที่ลานอนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี… คณะพูดคุยสันติสุขใต้รับฟัง ไทยพุทธ- มุสลิม วันนี้ (9 มกราคม 2562) เวลา 10.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์… “พระเสียดายแดด”ถวายความรู้โซลาร์เซลล์กับคณะสงฆ์ธรรมยุตทั่วประเทศ วันที่ 19 ธ.ค.2563 เฟซบุ๊กพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า…
Leave a Reply