ยุคทองของการศึกษาคณะสงฆ์ไทยเกิดขึ้นแล้ว??

โดย  พระเทพเวที (พล อาภากโร ป.ธ.๙, Ph.D.)

 รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เลขานุการคณะกรรมการด้านศาสนศึกษา มหาเถรสมาคม

                ***********************

         การศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคง เพราะตราบใดยังมีคนศึกษาเล่าเรียนอยู่ก็แสดงว่าคำสอนของพระพุทธศาสนาก็ยังมีความหมาย    มีคนศึกษา ค้นคว้า แต่ถ้าสมัยใดคนไม่ใส่ใจไม่สนใจศึกษาค้นคว้าคำสอนที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกก็จะกลายเป็นเพียงกระดาษที่ไร้ค่า เป็นคัมภีร์ที่เปล่าประโยชน์

          คณะสงฆ์ไทยโดยมหาเถรสมาคมซึ่งมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานสนองงานมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่มั่นคง เพราะเล็งเห็นว่าเมื่อพระพุทธศาสนามีความมั่นคง ประชาชนพลเมืองก็จะมีศีลธรรม เมื่อประชาชนพลเมืองมั่งคั่งด้วยศีลธรรม ย่อมเป็นปัจจัยส่งผลให้สังคมประเทศชาติเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน แต่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สามสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการบริหารจัดการภายในที่มีคุณภาพ ทั้งนี้การบริหารจัดการภายในที่ดี มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีกฎหมายเป็นตัวบทนำทาง

          ทันทีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ “(ร่าง) พระราชบัญญัติพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒” ผ่านสภา เมื่อเวลา ๑๐.๔๕ น. ของวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ คณะสงฆ์ที่ประชุมกันในการสรุปผลงานการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ กว่ารูป ณ วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และคณะสงฆ์ที่ทราบข่าวทั่วประเทศ ได้ร่วมกันสวด “ชะยันโต” ให้พรแก่คณะรัฐบาลซึ่งมี ฯพณฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

          พระราชบัญญัติพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ด้วยการดำริริเริ่มของเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต และท่านตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทันทีที่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ขึ้น ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๘ โดยมี พระพรหมมุนี (ปัจจุบัน “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์”) เป็นประธานกรรมการ และพระพรหมมุนี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ….ขึ้น โดยมี  พระพรหมโมลี เป็นประธานกรรมการ จากนั้น พระพรหมมุนี ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ยกร่างกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ประกอบร่างพระราชบัญญัติขึ้นอีกคณะ โดยมีพระราชวรมุนี (ปัจจุบัน “พระเทพเวที”) เป็นประธาน คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งได้ดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้น ตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นมา การดำเนินงาน ได้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมาย คณะกรรมการได้มีวิริยะในการดำเนินงาน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยลำดับ

          ลุถึงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒  คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. ฉบับนี้ จากนั้นได้นำเข้าพิจารณากลั่นกรองในคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ได้นำไปสู่การพิจารณาของวิป ครม. และ วิป สนช. เมื่อผ่านทั้ง ๒ วิปนี้แล้ว ได้นำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.  ในวาระที่ ๑ ที่ประชุมมีมติให้ผ่านด้วยคะแนนอย่างท้วมท้น เมื่อผ่านวาระแรกของ สนช. แล้ว ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา เมื่อพิจารณาครบถ้วนกระบวนการแล้วได้นำสู่การพิจารณาในวาระที่ ๒ และ วาระที่ ๓ ของ สนช. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ๑๕๒ เสียง งดออกเสียง ๖ เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง ๒ เสียง จากสมาชิก สนช. เข้าประชุม ๑๖๐ ท่าน เมื่อผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติแห่งชาติแล้วทางฝ่ายบริหารก็ได้นำขึ้นทูลเกล้าเพื่อมีพระราชโองการ พระราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๕๐ ก ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๒ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๒ เป็นต้นมา

     พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์อย่างแท้จริง จำเดิมมาการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยจัดโดยคณะสงฆ์เอง โดยได้รับการอุดหนุนงบประมาณผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามสมควรแก่ฐานานุรูป โดยหลักแล้วการบริหารจัดการจะตกเป็นภาระของเจ้าสำนักเรียน, เจ้าสำนักศาสนศึกษานั้นก็คือ “เจ้าอาวาส” นั่นเอง การบริหารจัดการขึ้นอยู่กับการเสียสละและบารมีของผู้ดำเนินการ คราใดเจ้าอาวาส,     เจ้าสำนักเรียน, เจ้าสำนักศาสนศึกษา เอาใจใส่และมีบารมีในการหาทรัพยากรมาอุดหนุนดำเนินการก็ทำสำนักเรียน  สำนักศาสนศึกษานั้นๆ เจริญรุ่งเรือง เมื่อเจ้าสำนักได้ทอดธุระ       พ้นตำแหน่ง หรือถึงแก่มรณกาล ก็จะทำให้สำนักนั้นๆ พลอยได้ผลกระทบไปด้วย บางทีถึงขั้นยุบเลิกการดำเนินการไปก็มี

        นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เมื่อมี พ.ร.บ. การศึกษาพระปริยัติธรรมเกิดขึ้น การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์จะมีความเสถียรมั่นคง ทั้งนี้โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า พ.ร.บ. มีบทบัญญัติว่าด้วยงบประมาณมาดำเนินการ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๗ วรรคสอง ว่า ให้รัฐอุดหนุนงบประมาณสำหรับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมตามความเหมาะสมและจำเป็น

         เป็นอันว่า นับแต่บัดนี้ไปการจัดการศึกษาของสงฆ์จะมีงบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุนในการบริหารจัดการ โดยจัดเป็นงบ บุคลากร, งบก่อสร้าง,  งบวัสดุครุภัณฑ์,  งบอุดหนุน เป็นต้น นอกจากมีงบประมาณมาดำเนินการแล้ว ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีการบัญญัติถึงคณะกรรมการ ไว้ในมาตรา ๘ ประกอบด้วย …

          (๑)  ประธานกรรมการรูปหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

          (๒)  รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ

          (๓)  กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง ประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการ ก.พ.  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา  ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการ ก.ค.ศ.

          (๔)  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกรูปหรือคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

          ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนศึกษา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๑๒ ดังต่อไปนี้…

           (๑)  กำหนดนโยบาย แผนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมและมาตรฐานสถานศึกษาพระปริยัติธรรม ควบคุมดูแลและกำกับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕

          (๒)  กำหนดมาตรฐานการศึกษาพระปริยัติธรรมและการประกันคุณภาพการศึกษา

          (๓)  อนุมัติหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีสนามหลวง และการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมสนามหลวง ต้องเป็นไปโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม สำหรับการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้เป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการและตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด

          (๔)  กำหนดพื้นความรู้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์การเข้าศึกษา และเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษา

          (๕)  อนุมัติให้ปริญญาและประกาศนียบัตร

          (๖)  กำหนดหน้าที่และอำนาจและหลักเกณฑ์การบริหารงานของแม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง และประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

          (๗)  กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา ๑๘ เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง อัตรากำลัง เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ             เงินค่าตอบแทน ค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น การสรรหา การบรรจุ การแต่งตั้ง     การพัฒนา การพ้นจากตำแหน่ง การรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การร้องทุกข์ การอุทธรณ์ และการลงโทษ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะเงินค่าตอบแทน ค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

          (๘)  ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการจัดตั้งสถานศึกษาพระปริยัติธรรม โครงสร้างการบริหารงาน การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมและสถานศึกษาพระปริยัติธรรม

          (๙)  ออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของสถานศึกษาพระปริยัติธรรม รวมทั้งการบัญชีและการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ

          (๑๐)  ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน

          (๑๑)  ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

          (๑๒)  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมาย

          (๑๓)  จัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อทราบ

          (๑๔)  กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย

 

        เป็นอันว่า การดำเนินการเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้ง ๓ ประเภท คือ กองธรรมสนามหลวง  กองบาลีสนามหลวง  และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ นอกจากจะมีแม่กองและประธานเป็นผู้บริหารกำกับดูแลแล้ว ยังมีคณะกรรมการใหญ่ (Exclusive  Board) มากำกับนโยบายอีกชั้น ก่อนจะถึงกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การศึกษาคณะสงฆ์มีความเป็นธรรมาภิบาลและมั่นคงยิ่งขึ้น ในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน (มาตรา ๑๘) ก็จะมีความมั่นคงในวิชาชีพการงานยิ่งขึ้น เพราะทุกอย่างจะดำเนินการไปตามกฎหมาย ตามข้อ ๑๒ (๗) ที่บัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง อัตรากำลัง เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ   เงินค่าตอบแทน ค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น การสรรหา การบรรจุ การแต่งตั้ง       การพัฒนา การพ้นจากตำแหน่ง การรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การร้องทุกข์ การอุทธรณ์ และการลงโทษไว้ชัดเจน

         ในส่วนของวุฒิหรือสิทธิ์ที่จะพึงมีพึงได้ก็ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๑ ที่บัญญัติว่า… “ ให้การศึกษาพระปริยัติธรรมที่ได้จัดให้แก่สามเณรซึ่งเป็นเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับและมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษาปีที่หกหรือเทียบเท่า ซึ่งได้ศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนดโดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังต่อไปนี้

          (๑)  แผนกธรรมสนามหลวง ชั้นนักธรรมเอก เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

          (๒) แผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรมสามประโยค เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ”

          และมาตรา ๒๒ ที่บัญญัติไว้ว่า… “ให้ผู้เรียนที่พ้นการศึกษาภาคบังคับซึ่งได้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมสนามหลวง และแผนกบาลีสนามหลวง มีวิทยฐานะ ดังต่อไปนี้

          (๑)  แผนกธรรมสนามหลวง  ชั้นนักธรรมเอก มีวิทยฐานะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

          (๒)  แผนกบาลีสนามหลวง  ชั้นเปรียญธรรมสามประโยค มีวิทยฐานะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ”

            โดยเฉพาะมาตรา ๒๒ ศาสนทายาทจบนักธรรมเอกก็จะได้วุฒิ ม.๓ เพิ่ม และได้วุฒิ ป.ธ.๓ จะได้วุฒิ ม.๖ เพิ่มอีกด้วย และในมาตรา ๒๔ ยังได้กำหนดให้ ป.ธ.๙ มีวิทยฐานะ เป็นปริญญาตรีถ้าผู้เรียนมีความประสงค์จะได้วุฒิสูงกว่าปริญญาตรีก็สามารถศึกษาองค์ความรู้เพิ่มเติม และทางกระทรวงศึกษาธิการก็จะกำหนดวุฒิเพิ่มเติมให้ นับเป็นปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านศาสนศึกษาอย่างแท้จริง

         ขณะนี้ มหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบคณะกรรมการตามมาตรา ๘ เป็นที่เรียบร้อยแล้วและเตรียมเสนอสมเด็จพระสังฆราชลงพระนามแต่งตั้ง เมื่อดำเนินการแล้วจะได้ประชุมเพื่อกำหนดนโยบายร่างอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ. ต่อไป

จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ

Leave a Reply