“มจร” จับมือ “มหาลัยสงฆ์ภูฏาน”  พร้อมมอบทุนแลกเปลี่ยนฝ่ายละ 6 ทุน ตั้งแต่ปริญญาตรี-เอก

วันที่ 30 มิ.ย. 67 เมื่อวันที่ 28 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาตังโก เมืองทิมพู ประเทศภูฏาน พระเมธีวัชรบัณฑิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และคณะ เดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์กับ  มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาตังโก นำโดย พระ ซูลัง โลเปน ซัมเทม ดอร์จิ (H.E. Tsulang Lopen Samtem Dorji) รองพระสังฆราชประเทศภูฏาน และพระกินเซน กินลัง ทินเลย์  (Khenchen Kinzang Thinley) อธิการบดี ถวายการต้อนรับ  ช่วงภาคเช้าได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันถึงรายละเอียดการทำงานร่วมกันภายใต้ MOU  และภาคบ่ายได้มีการจัดสัมมนานานาชาติ เรื่องพุทธศิลป์แห่งความสุข เพื่อผสานพลังการทำงานระหว่างพุทธเถรวามกับพุทธวัชรยาน

พระเมธีวัชรบัณฑิต กล่าวว่า บทสรุปการหารือในช่วงเช้าทั้ง 2  สถาบัน ตกลงจะมีการให้ทุนการศึกษา (Full Scholarship) ฝ่ายละ 6 ทุน โดย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก ในขณะที่ IBSC  จะให้ทุนการศึกษาแก่สถาบันภิกษุณีเพิ่มอีก 2 ทุน นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2568 โครงการนำร่อง  ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนนิสิตฝ่ายละ 5 ท่าน และแลกเปลี่ยนคณาจารย์ร่วมกัน พร้อมทั้งพัฒนาโครงการวิจัยร่วม 1 โครงการของอาจารย์ทั้งสองสถาบันเกี่ยวกับพุทธศิลป์แห่งความสุข

“ความร่วมมือเร่งด่วนในครั้งนี้ คือ การเปิดหลักสูตรร่วม หรือ Co-Certificate Degree แบบ Non-Degree หลักสูตรพุทธศิลป์แห่งความสุข ในเดือนกันยายน 2567 ทั้งนี้ ทั้งสองสถาบันได้ตั้งคณะทำงาน (Working Group) ขึ้นมา เพื่อดำเนินการทำงานเชิงรุกเกี่ยวกับรายละเอียดของหลักสูตร ทั้งเนื้อหาในแต่ละโมดูล (Modules) ระยะเวลาศึกษาร่วมกัน ใน 2 ประเทศ ผู้สอน และข้อปลีกย่อยอื่น ๆ

ในขณะที่ช่วงบ่ายนั้น ได้ดำเนินการจัดสัมมนานานาชาติร่วมกันในหัวข้อ “Buddhist Art of Happiness” หรือ พุทธศิลป์แห่งความสุข โดยทั้งสองสถาบันได้หมายหมายให้นักวิชาการและนักปฏิบัติการได้ร่วมกันนำเสนอผลการศึกษาและการปฏิบัติ ทั้งนี้ คณะทำงานจะได้นำเสนอผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาพัฒนาหลักสูตรวุฒิบัตรร่วมกัน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้เรียนที่มาจากทั่วโลก ที่สนใจกระบวนเสริมสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในชีวิตและการทำงายต่อไป…”

“สำหรับรายละเอียดเนื้อหาใน MOU วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร และ มหาวิทยาลัยตังโก ประเทศภูฏาน จึงได้จับมือกันในการศึกษาเรียน วิจัย และออกแบบแนวทางของการปฏิบัติที่เหมาะกับวิถีชีวิต และพฤติกรรมของผู้คน ชุมชน และสังคมโลก เพื่อจะได้ส่งมอบสติ สมาธิ ปัญญา ในวิถีทางที่สอดคล้องกับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ดังที่พุทธองค์ได้ตรัสว่า เธอทั้งหลาย จึงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูน เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก” กล่าวในตอนท้าย

Leave a Reply