รำลึกถึง “สมเด็จเด็จเกี่ยว” ครบรอบ 8 ปีแห่งวัน “มรณกาล”

           วันนี้ในอดีตย้อนกลับไป 8 ปีที่แล้ว เป็นวันที่คณะสงฆ์ไทยต้องสูญเสียพระมหาเถระผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติและพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งรูปหนึ่ง นั่นคือ การมรณภาพของ สมเด็จพระพุฒาจารย์” หรือ “สมเด็จเกี่ยว” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ วรมหาวิหาร และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในวัย 85 ปี  6  เดือน เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ณ โรงพยาบาลสมิติเวช  กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2556

        ผู้เขียนตั้งใจเขียนถึงสมเด็จเกี่ยว เนื่องจาก ประการแรก ท่านเป็นผู้มีคุณูปการสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญและก้าวหน้าพระพุทธศาสนาในประเทศไทยและต่างประเทศ ยากที่ใครจะเทียบชั้นได้

       ประการที่สอง สมเด็จเกี่ยว เป็นกัลยาณมิตรที่ไปมาหาสู่กันเนือง ๆ  กับพระอุปัชฌาย์ของผู้เขียนคือ พระมงคลสิทธิคุณ” หรือ หลวงพ่อลำใย ปิยวณฺโณ วัดทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี ซ้ำพระอุปัชฌาย์ของผู้เขียนยามมีชีวิตอยู่เล่าให้ฟังอยู่เสมอถึง “อุปนิสัย” ที่ดีระหว่างท่านกับพระอุปัชฌาย์ของผู้เขียน แม้จะเป็นสมเด็จเกี่ยว มีสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสมเด็จ ท่านก็ไม่ถือตัวที่จะเดินเข้ามาจับมือทักทายหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ของผู้เขียนก่อนทุกครั้งที่ร่วมงาน เขียนถึงสมเด็จเกี่ยวก็เสมือนได้ตอบแทน “พระคุณ” ของพระอุปัชฌาย์

    ประการที่สาม เขียนเพื่อให้คณะสงฆ์และชาวพุทธ ได้รำลึกถึง “พระภิกษุสงฆ์” ที่ทรงคุณค่าคู่ควรแก่ ความรำลึกถึง

       “สมเด็จเกี่ยว” ได้รับการยกย่องว่า เป็นพระนักการศึกษาตัวยง ตื่นรู้ที่จะแสวงหาสิ่งของใหม่ ๆ ให้คณะสงฆ์ไทย “รู้ทันโลก” อยู่เสมอ ๆ  ยากที่จะมีพระสงฆ์รูปใดจะเทียบเท่าได้ เป็นผู้วางรากฐานการเผยแผ่พุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาและยุโรป สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ” นี้ก็คือ หนึ่งมรดกธรรมชิ้นเอกที่เกิดในยุคของท่าน ส่องให้เห็นอัจฉริยภาพและวิสัยทัศน์ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน

       หากไม่เชื่อผู้เขียนเชิญชวนให้ผู้อ่านลองอ่านหนังสือ  “เย็นหิมะในรอยธรรม”  จำได้คร่าว ๆบางตอนในหนังสือเล่มนี้ที่ สมเด็จเกี่ยว บอกให้พระธรรมทูตฟังว่า เวลาไปต่างประเทศ “อย่านอนวัด” ให้นอนโรงแรม เพราะจะได้รู้ว่า โลกเขาทันสมัยอย่างไร เวลานั่งรถอย่านั่งหลับหรืออ่านหนังสือให้หมั่นสังเกตดูสองข้างทาง ดูความเจริญ ความงามของบ้านเมืองของเขา เป็นต้น

       ยุค “สมเด็จเกี่ยวเป็นครั้งแรกที่ทำให้เกิดพระอุปัชฌาย์จากต่างประเทศ เจ้าคุณสายต่างประเทศ และพระครูจากต่างประเทศ

       ยุค “สมเด็จเกี่ยว” เป็นยุคเฟื่องฟูของการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ  วัดใหญ่ ๆ ในประเทศไทย วัดไหนที่ไม่มีวัดสาขาในต่างประเทศ วัดนั่น ๆ  ถือว่า “เชยมาก”

      วัดสระเกศยุคนั้นจึงเป็นตัวแทนของ ความเจริญและความก้าวหน้า” ของคณะสงฆ์ไทยไปโดยปริยาย

        “สมเด็จเกี่ยว” เป็นผู้วางรากฐานสำคัญให้กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยยุคหลัง พระพิมลธรรม” หรือหลวงพ่ออาจ อาสภเถระ ถูกจับติดคุก หากไม่มีสมเด็จเกี่ยวมาค้ำจูน มาประคับประคอง มหาจุฬา ฯ พังสลาย ตามความต้องการของ “คนบางกลุ่ม” ไปแล้ว

         ยุคสมเด็จเกี่ยว “เป็นยุคที่มหาจุฬาฯ รุ่งเรือง มหานิกายเฟื่องฟู”  สมเด็จเกี่ยว คือ ผู้วางรากฐานสำคัญให้ มหาจุฬา ฯ กลายเป็นเบอร์หนึ่งในมหาวิทยาลัยสงฆ์โลกอยู่ในทุกวันนี้ ดังคำพูดของท่านว่า

     “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งนี้ ต้องทำให้เป็นหลักเข้าไว้ ต้องเป็นหลักในการให้การศึกษาแก่พระเณร หาไม่แล้วพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ก็จะไม่ต่างอะไรกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็เห็นกันอยู่แล้ว”

       หากอ่านหนังสือ “มหาจุฬาฯงามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม”  ที่บันทึกงานทำงานอย่างละเอียดเอาไว้ของ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” หรือ ป.อ.ปยุตโต ก็จะเข้าใจและเห็นภาพชัด

      งานชิ้นโบว์แดงในยุคของท่านมีหลายหลายประการ เช่น ท่านผลักดันให้เกิด สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด จนจังหวัดต่าง ๆ เกิดสำนักปฏิบัติธรรมไปทุกจังหวัด หรือแม้แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมเด็จเกี่ยวก็มีส่วนไม่น้อยที่ผลักดันให้เกิดขึ้น

     ยุคของ “สมเด็จเกี่ยว” พระตามหัวเมืองอบอุ่นใจ เพราะท่านใส่ใจกับความรู้สึกพระเล็กพระน้อย พระผู้เฒ่าตามหัวเมือง จะเห็นได้จากงานศพท่าน มีพระทั่วประเทศมาเป็นเจ้าภาพไม่ขาด วันหนึ่งประมาณ 6 รอบ ตั้งแต่วันมรณภาพจนถึงวันเผา รวมแล้ว 200 กว่าวัน  ตลอดเส้นทางเคลื่อนศพจากวัดสระเกศไปยังวัดเทพศิรินทร์ มีพระสงฆ์สามเณรร่วมขบวนเคลื่อนศพจรดหัวถึงท้ายขบวน

        ในหนังสือ “ชีวิตและความคิด” สมเด็จพระพุฒาจารย์ ตอนหนึ่งเอาไว้อย่างน่าคิดว่า

       “ตอนนี้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยยังอยู่ จึงทำให้พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ยังเปลี่ยนแปลงช้ากว่าสิ่งอื่น แต่ต่อไปจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ต่อไปสังคมจะหมุนเร็ว พระศาสนาก็จะเปลี่ยนแปลงเร็วตามไปด้วย จะไม่ใช่อย่างทุกวันนี้แล้ว ให้จำคำหลวงพ่อไว้ ไม่เกิน พ.ศ. 2594 บ้านเมืองจะไม่ใช่อย่างนี้แล้ว พระเณรต้องมีการศึกษา จึงจะนำพาพระพุทธศาสนาให้อยู่รอดได้

      ประเทศไทยหากไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่มีสถาบันพระพุทธศาสนา จึงขอให้ทุกคนพระศาสนาได้ตั้งมั่นอยู่ในประเทศไทยคู่กับสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์.. ”

     ยุคนี้มอง “วัดสระเกศ” แล้วคิดถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ คิดถึงมรดกผลงานและความดีมากมายที่ท่านทำเอาไว้กับคณะสงฆ์ ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา ??

 

 

 

Leave a Reply