ไม่พลิก!! พระธรรมวัชรบัณฑิต เป็น “อธิการบดี มจร”  ต่ออีกวาระหนึ่ง

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 หลังจากเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา  สภามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปใหม่แทน “พระธรรมวัชรบัณฑิต”  ที่หมดวาระลงภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งประกอบด้วย 1.พระพรหมบัณฑิต เป็นประธานกรรมการ 2.พระสุวรรณเมธาภรณ์ กรรมการ 3.พระโสภณวชิราภรณ์ กรรมการ 4.พระพรหมโมลี  กรรมการ 5.ศ.(พิเศษ)ดร.จำนงค์ ทองประเสริฐ กรรมการ 6.พระเมธีธรรมาจารย์ กรรมการ  และ 7. รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม กรรมการ

ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสรรหา ได้คัดสรรรายชื่อผู้สมควรเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปรูปใหม่ 3 รูป ประกอบ คือ 1.พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี มจร  2. พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร และ 3. พระเทพเวที รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร

ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ มีการการประชุมคณะกรรมการสรรรหาซึ่งใช้เวลาประชุมกันประมาณ 1 ชั่วโมง หลังเสร็จสิ้นการประชุม มีข่าวสะพัดว่า พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี มจร รูปปัจจุบันได้ถูกคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มจร อีกวาระหนึ่ง

ทีมข่าว “Thebudh” ได้ติดต่อประสานไปยัง “แหล่งข่าว”  ซึ่งเป็นหนึ่งในณะกรรมการสรรหาอธิการบดีท่านหนึ่ง ได้เปิดเผยกับว่า  “ท่านประธานคณะกรรมการสรรหา (พระพรหมบัณฑิต) ขอยังไม่ให้ข่าวใด ๆ ทั้งสิ้นจนกว่าสภามหาวิทยาลัยจะอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าก่อนสิ้นเดือนนี้ก็จะจบเรียบร้อย..”

ในขณะที่ “แหล่งข่าว” ระดับผู้บริหารระดับสูงอีกท่านหนึ่งระบุว่า  “เท่าที่ทราบวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาเลือก พระธรรมวัชรบัณฑิต เป็นอธิการบดี มจร ต่ออีกวาระหนึ่ง ซึ่งผลคะแนนสูสีมาก คือ 4 ต่อ 3 ซึ่งหากท่านได้เป็นจริง คงต้องปรับทัพการบริหารภายใน มจร อย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะต้องดึงผู้บริหารที่เป็นพระภิกษุระดับ ผอ.สำนัก ผอ.สถานบันต่าง ๆ หรือคณาจารย์คนรุ่นใหม่ขึ้นมา บริหาร  มิใช่ปล่อยให้คนบางกลุ่ม หรือบางคนเข้ามามีอำนาจจนทำให้ภาพลักษณ์ มจร ถูกมองว่ามิใช่มหาวิทยาลัยสงฆ์ และต้องแก้เรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินงบประมาณ และจัดซื้อจัดจ้างด้วย  ที่ผ่านมาถูกมองว่าปล่อยให้มีคนบางกลุ่มใช้อำนาจโดยมิชอบ เห็นชัดก็คือผลสุ่มตรวจของ สตง.ล่าสุดนี้..”

พระธรรมวัชรบัณฑิต นามเดิม สมจินต์ วันจันทร์ ฉายา สมฺมาปญฺโญ เกิดเมื่อ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2503 ณ ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง และอธิการบดีรูปที่ 6 ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

การขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดี มจร ของ พระธรรมวัชรบัณฑิต วาระแรกถูกมองว่า แค่ “ขัดตาทัพ” ระหว่าง 2 ขั้วอำนาจภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และตลอดระยะ 4 ปีที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมีคนไปเปรียบเทียบผลงานกับ “พระพรหมบัณฑิต” ทำให้พระธรรมวัชรบัณฑิต  ถูกตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับผลงานตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง เนื่องจากบุคลิกภาพเป็น “นักวิชาการ” มิใช่นักบริหาร

ล่าสุดสตง. หรือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าไปสุ่มตรวจการจัดการงบประมาณแผ่นดินและการบริหารทรัพย์สินในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พบว่า มีข้อพิรุธผิดสังเกตประมาณ 23 จุด บางหน่วยงานพบพิรุธการใช้จ่ายงบประมาณสูงถึง 34 ล้านบาท..

Leave a Reply