วันที่ 8 พ.ย. 2566 วานนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงอุตสาหกรรมฮาลาลว่า เรื่องของอาหารฮาลาลซึ่งเป็นอาหารของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ตรงนี้เป็นหน่วยงานหนึ่งในกรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถือว่าเล็ก รัฐบาลนี้ตระหนักดีถึงความสำคัญของอาหารฮาลาลว่า อาหารเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมสูง อย่างแอฟริกา ตะวันออกกลาง ก็อยากจะยกระดับความสำคัญหน่วยงานนี้ให้เป็นกรม จึงได้มีการสั่งการและมีการพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ยกระดับหน่วยงานนี้ให้เป็นกรม จะได้ให้ความสำคัญและพัฒนาต่อไปได้
ด้าน น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เชิญตนเข้าร่วมหารือมีประเด็นข้อหารือสำคัญคือ การเร่งยกระดับอุตสาหกรรม “ฮาลาล” จะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดเพื่อความรวดเร็ว และเห็นผลการปฏิบัติว่าจะต้องมีหน่วยงานหลักระดับ “กรม” โดยจะต้องเป็นอีกกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรมทำงานรองรับอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะจากความละเอียดอ่อนในแง่มุมต่าง ๆ และการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักการฮาลาลสากล
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มองเห็นโอกาศการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในระดับโลก เพราะมีผู้บริโภคที่กว้างขวางมากในประเทศกลุ่มมุสลิมหลายภูมิภาคของโลก ทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียเอง
“มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับความสำคัญของกลุ่มงานอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นรูปธรรม และมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในรูปของกรม ตามแนวบัญชาการของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มีการสั่งการไปแล้ว และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้เร่งดูขั้นตอนของกฎหมายเพื่อยกระดับหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นหน่วยงานระดับกรมที่สังกัดอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
อาหารฮาลาล คืออะไร
ข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ระบุถึงอาหารฮาลาล (Halal) ว่า หมายถึง อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้
ฮาลาล เป็นคำมาจากภาษาอารบิก หมายความว่า “การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา” จึงกล่าวได้ว่า อาหารฮาลาล คืออาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัตินั่นเอง เพื่อรับประกันว่า ชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้โดยสนิทใจ
ที่มา..ไทยรัฐออนไลน์
Leave a Reply