มส.ออกระเบียบ “คุมเข้ม” สำนักปฎิบัติธรรม ต้องมี “พระวิปัสสนาจารย์ – แนวมหาสติปัฎฐาน”

วันที่ 9 ก.ค. 67 มีการประกาศระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรมแห่งคณะสงฆ์ พ.ศ.2567 ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้ลงพระนามในระเบียบมหาเถรสมาคม ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรมแห่งคณะสงฆ์ พ.ศ.2567 ประกอบด้วย 2 หมวด คือ หมวดว่าด้วยคณะกรรมการทั้งระดับส่วนกลางและภูมิภาค และหมวดว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฎิบัติธรรม ระดับจังหวัด และสำนักปฎิบัติธรรมของวัด รวมทั้งหมด 30 ข้อบังคับ

มีสาระสำคัญของระเบียบนี้ คือ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรมแห่งคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมหาเถรสมาคม (มส.) แต่งตั้งโดยการเสนอของคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกอบด้วย 1.ประธานกรรมการรูปหนึ่ง 2.กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง ประธานกรรมการการศึกษาปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 3.พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน จำนวนไม่เกิน 4 รูป 4.กรรมการผู้ทรงคณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 5 รูป หรือคน ให้ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จำนวนไม่เกิน 5 รูป หรือคน

พร้อมทั้งให้มีคณะกรรมการส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ซึ่งมส.แต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ประกอบด้วย 1.เจ้าคณะจังหวัด เป็นประธานกรรมการ 2.รองเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอ เป็นกรรมการ 3.เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด หรือพระวิปัสสนาจารย์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าคณะจังหวัด จำนวนไม่เกิน 5 รูป เป็นกรรมการ 4.ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ 5.เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้มีศูนย์ส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดในเขตการปกครองของคณะสงฆ์แต่ละฝ่าย ตั้งอยู่ที่วัดต้นสังกัดของประธานกรรมการ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ

โดยระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรมแห่งคณะสงฆ์ พ.ศ.2567 ยังระบุด้วยว่า สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอาจงดการดำเนินงานชั่วคราว ในกรณีดังต่อไปนี้ 1.ไม่มีการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม 2.ขาดพระวิปสสนาจารย์สอนประจำ 3.แนวทางการปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตร หรือหลักสูตรที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ 4.ไม่มีการดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติธรรมติดต่อกันเกิน 2 ปี หรือไม่มีการรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ 2 ปี ติดต่อกัน

ขณะที่สำนักปฏิบัติธรรมของวัด ที่มีความพร้อมในด้านอาคาร สถานที่ และพระวิปัสสนาจารย์ ประสงค์จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมของวัด ให้แจ้งเจ้าคณะจังหวัดเพื่อทราบ ในกรณีที่ปรากฏว่สำนักปฏิบัติธรรมของวัดแห่งใดมีแนวทางปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตรหรือหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ หรือมีแนวทางปฏิบัติที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เจ้าคณะจังหวัดอาจเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด มีมติให้งดการดำเนินงานชั่วคราวสำนักปฏิบัติธรรมของวัดนั้นได้

 

Leave a Reply