ปลัด มท. เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จังหวัดอ่างทอง เน้นย้ำ ขยายผลไปยังทุกจังหวัด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้พระราชพิธีสำคัญของประเทศให้กับเด็ก เยาวชน และพี่น้องประชาชน อย่างยั่งยืน

วันที่ 21 ก.ค. 65 เวลา 09.09 น. ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง (หลังเก่า) ถ.เทศบาล 1 ต.บางแก้ว อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมี นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทองและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอ่างทอง นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง อาจารย์เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2563 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมในพิธี โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสุทธิกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดอ่างทอง วรวิหาร รองเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง  นำคณะสงฆ์ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ประกอบพิธีทางศาสนา เสร็จแล้ว เป็นประธานเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น เป็นประธานกล่าวเปิด และกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย “พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” แล้วเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษกร่วมกับผู้ร่วมพิธี

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้เห็นสถานที่แห่งความจงรักภักดีอยู่ใจกลางเมืองอ่างทอง ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง (หลังเก่า) แห่งนี้ ซึ่งเกิดจากใจและความมุ่งมั่นของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง 3 ท่าน คือ ท่านผู้ว่าฯ เรวัต ประสงค์ ท่านผู้ว่าฯ ขจรเกียรติ รักพานิชมณี และท่านผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ที่ได้ช่วยกันสานต่อสิ่งที่มีคุณค่าและคุณประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์อันสำคัญขิ่งของประเทศชาติ ด้วยการปรับปรุงสร้างสรรค์จนกระทั่งกลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความจงรักภักดีที่สวยงาม เพื่อที่จะรับใช้พี่น้องคนไทยและชาวอ่างทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และพี่น้องประชาชน ได้มีโอกาสมาศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์ของชาติไทย ผ่านพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งทุกพระองค์ล้วนแต่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวอ่างทองและพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ และในทางประวัติศาสตร์การปกครองไทย จังหวัดอ่างทอง เป็นหนึ่งในไม่กี่จังหวัดที่ได้รับพระราชทานพระราชศัสตราวุธ และมีหลักฐานภาพถ่ายแสดงถึงพระราชกรณียกิจขององค์พระมหากษัตริย์หลายรัชกาลเริ่มตั้งแต่ล้นเกล้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรและทรงงานต่าง ๆ มากมาย รวมถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในหลายโอกาส

“การปรับปรุงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง (หลังเก่า) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในครั้งนี้ นับเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่มีความคิดริเริ่มในการสืบสาน รักษา ต่อยอด และขยายผลองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์สถาบันหลักของชาติ ซึ่งจะได้ขยายผลแนวความคิดนี้ไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพราะทุกจังหวัดยังมีอาคารสำคัญที่สามารถปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์อันทรงคุณค่าและสำคัญยิ่งเช่นนี้ และทุกจังหวัดต่างได้เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของการทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ที่ควรค่าแห่งการบันทึก ถ่ายทอด ส่งต่อองค์ความรู้ไปยังประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าของความเป็รไทย เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น ความรัก ความหวงแหนในความเป็นชาติ และความเป็นคนไทยร่วมกัน เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ ศูนย์รวมให้พวกเราเกิดความรู้รักความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และสถานที่แห่งนี้จะเป็นสถานที่รับใช้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะลูก ๆ หลาน ๆ ที่จะได้นำผลงานจากการศึกษาเล่าเรียนมาจัดแสดง เช่น ภาพวาด ภาพเขียน งานศิลปะ ในพื้นที่แห่งนี้ เพื่อทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของลูกหลาน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของกระทรวงมหาดไทยขอขอบคุณจังหวัดอ่างทอง ที่ช่วยทำให้พี่น้องประชาชน ทั้งชาวอ่างทอง พี่น้องคนไทย และนักท่องเที่ยว จะได้มีโอกาสในการรับรู้ถึงความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นสิริมงคลกับชีวิตอย่างยิ่ง และประการสำคัญที่สุด ที่จังหวัดอ่างทองมีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญ 1 ใน 5 สายของประเทศ หรือ “เบญจสุทธคงคา” เพื่อนำไปปลุกเสก “น้ำสรงพระมุรธาภิเษก” ซึ่งเป็นหัวใจของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมแรกเริ่ม เพราะจังหวัดอ่างทองเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้ร่มพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ มีสถาบันศาสนา คือ พระพุทธศาสนา เป็นที่ค้ำจุนจิตใจ และคนอ่างทองมีประวัติศาสตร์การปกป้องรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติมาตั้งแต่บรรพชน ซึ่งขอให้ทุกท่านได้ช่วยกันรักษาสิ่งที่ดีงามและขยายผลสร้างการรับรู้ถ่ายทอดสู่ลูกหลานเพื่อให้คงอยู่กับจังหวัดอ่างทองอย่างยั่งยืนตลอดไป

  นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จังหวัดอ่างทองได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการปรับปรุงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง (หลังเก่า) เป็นพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นพระราชพิธีสำคัญสู่การรับรู้ของประชาชนชาวไทย รวมทั้งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนเกิดความรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันจะมีผลต่อความเป็นปึกแผ่นของประชาชนและประเทศชาติ โดยภายในพิพิธภัณฑ์นำเสนอเนื้อหาประกอบภาพถ่าย แบ่งเป็น 4 โซน คือ โซนที่ 1 “อ่างทอง 1 ใน 5 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธ์ “เบญจสุทธคงคา”” บอกเล่าถึงความสำคัญของจังหวัดอ่างทองในฐานะ 1 ใน 5 สถานที่ตักน้ำสำหรับทำน้ำสรงพระมุรธาภิเษก เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และยังสามารถชมห้องทรงงานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดอ่างทองอีกด้วย โซนที่ 2 “อ่างทองภายใต้ร่มพระบารมี” จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดอ่างทอง ในโอกาสต่าง ๆ โซนที่ 3 “พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์และพระราชประวัติ ตั้งแต่พระราชสมภพ ทรงศึกษา การสถาปนาพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระผนวช จนถึงขึ้นทรงราชย์ และโซนที่ 4 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จัดแสดงการบอกเล่าความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีตโดยสังเขป และภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบันตามลำดับ

Leave a Reply