วันที่ 25 มีนาคม 2566 พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ผศ.ดร. อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง โคก หนองนา :การจัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พร้อมคณะ ลงพื้นที่วิจัย ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่สวนจ่าเจน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พร้อมเปิดเผยว่า “สวนจ่าเจนโฮมสเตย์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นทาทางการเกษตรแบบครบวงจร เกษตรกรสามารถนำไปเป็นต้นแบบได้ เนื่องจาก เริ่มต้นด้วยฉันทะความพึงพอใจที่จะนำวิถีชีวิตสู่วิถีการทำเกษตร เมื่อนำไปปฏิบัติจะเข้าใจวิถีธรรมการอยู่ร่วมกันสิ่งมีชีวิต นิเวศวิทยา ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เป็นวิถีไทยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ใช้ต้นทุนทางการเกษตรทำให้นานาประเทศได้รู้จักความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหารของโลก”
สำหรับสวนเกษตรอินทรีย์จ๋าเจน เป็นการบริหารจัดการพื้นที่ และการสร้างประโยชน์จากสิ่งรอบตัวเราได้อย่างลงตัว สร้างที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อความเป็นอยู่เน้นการเป็นอยู่ที่เรียบง่ายตามวิถีเกษตร ใช้ธรรมชาติบำบัดรักษาจิตใจและบำรุงสุขภาพกาย เห็นการเจริญเติบโตของสิ่งเพาะปลูกอันเกิดจากการเตรียมดิน คุณภาพของดิน น้ำ ลม ไฟ ก่อกำเนิดเป็นความเติมโตของสิ่งมีชีวิต การขุดสระเพื่อเลี้ยงปลา เลี้ยงหอย ใช้ระบบนิเวศเป็นเครื่องมือในการปรับสมดุลให้กับธรรมชาติ เช่น อาหารก็มาจากหญ้าที่ตัด ๆ หรือเศษข้าวที่กินเหลือ รวมถึงใบไม้ ที่ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยการปลูกต้นไม้ผลเป็นธนาคารเพื่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตหรือภาวะวิกฤตทางเศรฐกิจและโรคระบาด
จ๋าเจน กล่าวว่า เบื้องต้นการปลูกพืชต้องปลูกสิ่งที่เราชอบกินก่อน เช่น มะพร้าว ขนุน กระท้อน มะม่วง มะขาม มะไฟ ฝรั่ง ฯ ขณะเดียวกันการ จัดสรรสวนให้ดีต้อง เรียนรู้เรื่องฤดูกาลว่าธรรมชาติเขาผลผลิตออกช่วงไหน ต้องระวังอะไรบ้าง ปลูกแล้วจะไปขายใครอันนี้สำคัญ ปลูกให้ได้ตามความต้องการของแม่ค้า พ่อค้า ไม่ต้องมากจนทำไม่ไหว การปลูกพืชหมุนเวียน จะเป็นรายได้รายวันของเรา เพราะให้ผลเร็ว โดยเฉพาะการรักษามาตรฐานของผลผลิตเป็นเรื่องสำคัญ
“สำหรับการลงพื้นที่วิจัยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปออกแบบรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยครอบครัว(Home schooling) โดยใช้แนวคิดโคกหนองนาหรือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานการเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาต่อไป ” พระปลัดสรวิชญ์ กล่าว
Leave a Reply