เมื่อ “วัดและพุทธศาสนพิธีกรรม” โดนรุกราน??

กรณีวัดบางสะแกนอก แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร กับผู้อาศัยอยู่ที่คอนโดใกล้วัด กำลังเป็น ‘ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์’ เพราะวัดนี้สร้างมาก่อนที่คอนโดจะเกิดขึ้นยาวนานมาก และ ‘ไม่เคยมีปัญหา’ เกี่ยวกับการประกอบพุทธศาสนพิธีกรรมสวดศพของชุมชนที่เกิดขึ้นพร้อมกับวัดเลย

ยิ่งเป็นปัญหา ‘ทับซ้อน’ ขึ้นมาอีก เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีหนังสือ ‘สั่งการ’ ให้วัดและชุมชนวัด ‘ปรับเปลี่ยน’ พุทธศาสนพิธีกรรม ‘ไม่ให้ระคายเคือง’ ต่อผู้ร้องเรียนที่อาศัยอยู่คอนโดติดกับวัด

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. เป็นหน่วยงานราชการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ ‘ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา’ อันประกอบด้วยพุทธศาสนธรรม พุทธศาสนพิธี พุทธศาสนบุคคล พุทธศาสนสถาน พุทธศาสนวัตถุ เป็นต้น

การที่ ผอ. พศ. มีหนังสือสั่งการไปให้วัดบางสะแกนอก ‘ระมัดระวัง’ การประกอบพิธีกรรมการบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ผู้วายชนม์ไม่ให้ ‘กระทบ’ผู้ร้องเรียน ยิ่งทำให้พุทธบริษัท ‘สงสัย’ ในบทบาทของ ผอ.พศ. เพิ่มมากขึ้น!

คำว่า ระมัดระวัง ที่ปรากฏในหนังสือของ ผอ. พศ. นั้น ทำให้ ‘เจ้าอาวาสและพระสงฆ์’ ในวัดบางสะแกนอกต้องให้ญาติโยมที่นำศพบุพการีมาประกอบพิธีกรรมบำเพ็ญกุศลที่วัด ‘ต้องปรับเปลี่ยน’ พิธีกรรมตาม ‘ความต้องการ’ ของผู้อาศัยอยู่ในคอนโด ‘เพียงคนเดียว’ ที่ร้องเรียน

นอกจาก ผอ. พศ. แล้ว ยังมี ‘ผู้อำนวยการเขต’ ที่เข้ามาพบเจ้าอาวาสเพื่อเจรจาตามคำร้องเรียน

กรณีเช่นนี้ ‘เคยเกิดขึ้น’ กับพระวัดไทร เขตบางคอแหลม ในปี 2561 ที่ ‘ต้องยุติ’ การตีระฆังเพื่อให้สัญญานในการทำ ‘สังฆกรรม’ ตามพระวินัยของพระสงฆ์มาแล้ว!

ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่มี ‘รัฐบาลจากการรัฐประหาร 2557’  เป็นต้นมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมี ‘อำนาจและอิทธิพล’ ต่อวัดวาอารามและคณะสงฆ์อย่าง ‘เบ็ดเสร็จ!!’

พระสังฆาธิการ รวมทั้งมหาเถรสมาคมด้วย เป็นเสมือน ‘ลูกไล่’ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติใน ‘ทุกกรณี

การกระทำของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยเฉพาะ ‘อดีต ผอ.’ ภายใต้รัฐบาลจากรัฐประหาร เป็นภาพจำที่ทำให้คณะสงฆ์ไทย ‘กลัวแบบหัวหด’ แม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่ออกมาจากสำนักพุทธฯ!

ต้องยอมรับ! ระหว่างมหาเถรสมาคมกับผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระสงฆ์องค์เณรในปัจจุบัน ‘กลัว’ผอ.สำนักงานพุทธฯ มากกว่า

มิเช่นนั้น เจ้าอาวาสและวัดอาจจะตกที่นั่งลำบาก!

ระหว่างพุทธศาสนพิธีกรรมที่ชาวพุทธในชุมชนวัดบางสะแกนอกทำกันมาอย่าง ‘ยาวนาน’ กับ ‘คนอาศัยอยู่’ ในคอนโดที่ ‘เข้ามาใหม่’ เพียง 1 คนที่ร้องเรียน สำนักงานพุทธกลับให้ ‘ความสำคัญ’ กับรายหลังมากกว่า ถึงกลับมีหนังสือสั่งการ ‘ให้วัดและคนในชุมชนต้องปรับเปลี่ยนพิธีกรรม’ ไม่ให้รบกวนคนเพียงคนเดียวที่อาศัยอยู่ในคอนโดที่เกิดใหม่

ภาพเช่นนี้น่าจะไม่จบลงเพียงเท่านี้! เพราะกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่มี ‘วัดวาอารามมากมาย’ สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนกระทั่งรัตนโกสินทร์ จำนวนมาก และมีที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ ‘คอนโดขนาดใหญ่จำนวนมากสร้างขึ้นรายล้อม

การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวพุทธในชุมชนรอบวัดก็ ‘หลีกเลี่ยงไม่ได้’ เช่นกัน เพราะนี้เป็น ‘พิธีกรรมตามคำสอนของพระพุทธศาสนา’ ตามหลักทาน ศีล ภาวนา บุญกิริยาวัตถุที่ชาวพุทธพึ่งบำเพ็ญ

ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ต้องประกอบพิธีกรรมโดยใช้เสียง แม้แต่ศาสนาอื่น เช่น ศาสนาอิสลามก็ใช้เสียงในการระมาด หรือกิจกรรมทางศาสนา เช่นกัน

ยิ่งถ้าปริมาณของคนที่ร่วมพิธีกรรมมีจำนวนมาก ความจำเป็นที่จะต้องใช้เสียงดังให้เหมาะสมกับปริมาณของคน ก็เลี่ยงไม่ได้!

ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะการสวดศพ ‘ใช้เวลาไม่นานนัก’ ไม่น่าจะเกิน ‘1-2 ชั่วโมง’ เท่านั้น และทุกวัดทั่วกรุงเทพฯ ‘พิธีสวดศพจะจบไม่เกิน 20.30 น.!

ญาติผู้วายชนม์ทุกคนทุกแห่งทุกวัดย่อมปรารถนาที่จะจัดพิธีทำบุญอุทิศให้แก่คนที่รักที่จากไปแบบไม่มีวันกลับ ‘ให้ดีที่สุด’ ตามคำสอนของศาสนา ที่จะ ‘ทำให้ผู้วายชนม์ได้รับผลบุญ’ ที่ทำอุทิศให้

แต่จากนี้ไป เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ 5 ประการในนามชาวพุทธ ให้  ‘ความสำคัญกับคนร้องเรียน’ มากกว่าพุทธศาสนพิธีกรรมและชาวพุทธในชุมชนวัด อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทำให้ชุมชนวัดแต่ละแห่งต้อง ‘เฝ้าระวัง’ ไม่ให้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยรายล้อมวัดในอนาคต!

ดูบทบาทของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้ว นับวันวัดวาอาราม พระสังฆาธิการ พระสงฆ์องค์เณร และชุมชนชาวพุทธ ยิ่งจะอยู่ยากลำบาก’ มากขึ้น!!!

หมายเหตุ..เว๊ปไซต์ข่าว “thebuddh” ทำหน้าที่เป็นเวทีสาธารณะ เนื้อหาและท่าที อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ ผู้เขียนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

Leave a Reply