เปิด “พระไตรปิฎก” ไขข้อสงสัย พระสงฆ์รับ “เงินทอง” ได้หรือไม่ แล้วถ้ารับจะเกิดอะไรขึ้น?

วันที่ 10 พ.ค. 66  กรณี “อดีตพระคม อภิวโร” ได้ถูกกล่าวหาว่า “ทุจริตเงินวัด -เสพเมถุน” ได้สร้างความเสื่อมทรามให้กับสถาบันสงฆ์และกระทบต่อพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการตั้งคำถามถึง “พระสายวัดป่า” และ “คณะธรรมยุติกนิกาย” ที่ชาวไทยในประเทศไทยเชื่อว่า “ไม่จับเงินและทอง” และคณะสงฆ์กลุ่มนี้ก็มักแสดงตนเองทั้งในที่สาธารณะและในที่ลับว่า เป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระวินัยและไม่จับเงินหรือรับเงินทอง แต่จากการเสนอข่าวของสื่อมวลชน มีการขุดคุ้ยเจอการสะสมเงินจำนวนนับร้อยล้านบาท พร้อมทั้งสะสมทองคำแท่งของ “อดีตพระคม อภิวโร” ที่สังกัดคณะธรรมยุติกนิกายและที่ผ่านมา “อดีตพระคม” เสมือนประกาศตนเองว่าเป็น “สายวัดป่า” เคร่งครัดในพระวินัย สรุปแล้วพระภิกษุสงฆ์ รับเงินทองหรือได้หรือไม่

เวปไซต์ “Thebuddh” ขอนำบทความที่ “กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม” สำนักพิมพ์มติชนได้เผยแพร่ไว้ในวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2566 มาลงไว้เพื่อทำความเข้าใจกับคณะสงฆ์และชาวพุทธอย่างกว้างขวางต่อไป ดังต่อไปนี้

พระสงฆ์ กับเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงเป็นระยะ สรุปแล้ว พระสงฆ์ รับเงินทองได้หรือไม่ เรื่องนี้หนังสือ วินัยพระน่ารู้คู่มือโยม วัดเขาสนามชัย ต. หนองแก อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ อธิบายความไว้น่าสนใจ ซึ่งสรุปความบางส่วนมาเสนอ ดังนี้  

พระรับเงินทองเองไม่ได้ ใช้ให้ผู้อื่น คือ ไวยาวัจกรรับแทนก็ไม่ได้ โดยที่สุดยินดีเงินทองที่คนอื่น คือ ไวยาวัจกรเก็บเอาไว้ให้ หรือที่เขาถวายวางไว้ใกล้ๆ ก็ไม่ได้ หรือยินดีเงินทองที่อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศรัทธา นำเงินทองมาถวายโดยฝากธนาคารไว้ให้ แต่มีชื่อพระผู้เป็นเจ้าของบัญชีอยู่ก็ไม่ได้ เป็นอาบัติ นิสสัคคียปาจิตตีย์ทั้งหมด

พระพุทธองค์ทรงบัญญัติห้ามไว้ว่า “อนึ่ง ภิกษุใดรับเองก็ดี ให้คนอื่นรับไว้ให้ก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ (มหาวิภังค์ 2/940)

ปัจจุบันมีพระจำนวนมากเข้าใจว่า ธนบัตรไม่ใช่เงินเป็นกระดาษ ผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน เพราะฉะนั้น จึงรับได้ ไม่เป็นอาบัติแต่อย่างใด

ในสิกขาบทนี้ ไม่ใช่แร่เงิน แร่ทอง เงินรูปพรรณ ทองรูปพรรณ กหาปณะ [เงินตรา มีพิกัดเท่ากับ 20 มาสก] และมาสก [ชื่อมาตราเงินในครั้งโบราณ 5 มาสก เป็น 1 บาท] เท่านั้น แต่ยังรวมเอาวัตถุต่างๆ ที่ชาวโลกใช้เป็นมาตรา สามารถให้สำเร็จ การซื้อขายได้ จะเป็นโลหะ ดิน ครั่ง ยาง กระดูก เปลือกหอย หนัง เมล็ดผลไม้ ไม้แก่น ข้อไม้ไผ่ ใบตาล

แม้แต่กระดาษที่พิมพ์เป็นธนบัตรใช้กันทุกวันนี้ เงินทอง เป็นต้นทั้งหมด จัดเป็นรูปิยะ [เงินตรา] เป็นอกัปปิยวัตถุ [สิ่งที่ต้องห้ามไม่ให้บริโภคใช้สอย] เป็นวัตถุแห่งนิสสัคคีย์ [ประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท] พระรับวัตถุเหล่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

หลักฐานที่ยกมานี้แน่นอนที่สุด เงินกระดาษที่ใช้กันทุกวันนี้ พระรับไม่ได้ ให้คนอื่นรับแทนก็ไม่ได้ แม้ยินดีที่เขาเก็บไว้ให้ก็ไม่ได้ เป็นอาบัติ นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ทั้งหมด ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมพระตั้งแต่พระผู้ใหญ่จนถึงพระผู้น้อยก็ยังรับเงิน ไม่กลัวผิดวินัยหรือ? 

รับเพราะเกรงใจโยม กลัวโยมจะเสียใจ กลัวศรัทธาโยมตก อุตส่าห์ตั้งใจทำบุญ ก็ควรจะได้ถวายด้วยมือตนเอง เช่น โยมเอาเงินใส่ซอง ใส่บาตร เป็นต้น จำใจรับ เมื่อรับมาแล้วก็ละทิ้งในท่ามกลางสงฆ์

รับเพราะต้องการทำประโยชน์ คือ เอามาทำบุญต่อ ได้เอามาเข้าพกเข้าห่อ เพื่อความร่ำรวย แต่เอามาเพื่อพัฒนาวัด สนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระเณร

รับเพราะความจำเป็น คือ พระบางรูปเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในเมือง แต่ไม่มีญาติ ไม่มีโยมปวารณา แต่มีค่าใช้จ่าย เช่น ของในชีวิตประจำวัน, อุปกรณ์การศึกษา ฯลฯ

รับเพราะอยากได้  คือ มีความต้องการอยากจะได้อยู่แล้ว พระประเภทนี้เข้ากับยุคสมัยนี้มาก ญาติโยมสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อน เพราะต่างคนต่างก็ภาระ ไม่ค่อยมีเวลามาดูแลรับใช้ การถวายเงินใส่ซองให้พระจัดซื้อจัดหาสิ่งของที่ต้องการเอง นับเป็นความสะดวกของพระและโยม

เมื่อพระมีเงินมาก ความคิดแบบสมณะวิสัยก็ค่อยๆ เลือนหมดไป ความคิดแบบโยมก็เข้ามาแทนที่ อยากจะได้อยากมีเหมือนกับโยม เห็นบ้านโยมสวย โยมมีรถเบนซ์, โยมเรียนจบระดับปริญญา, มียศตำแหน่ง ฯลฯ พระก็มีสิ่งนั้นๆ เหมือนกับโยมทุกอย่าง บางอย่างอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะมีเกียรติมีศักดิ์ศรีกว่า ตรงที่ใครๆ ก็ต้องเคารพกราบไหว้บูชา โยมทำงาน, รับราชการถึง 60 ปี เกษียณ ส่วนพระ มรณภาพจึงเกษียณ

พระพุทธองค์ยังทรงตำหนิติเตียนพระภิกษุผู้รับเงินทอง ยินดีในเงินทองอย่างรุนแรง ถึงขั้นกับว่า ไม่ใช่สมณะเชื้อสายศากยะบุตรเลยทีเดียว ดังพระพุทธองค์ตรัสกับนายบ้านชื่อมณีจูฬกะว่า

“ดูก่อนนายบ้าน ทองเงินไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายศากยะบุตร สมณะเชื้อสายศากยะบุตรไม่ยินดีทองเงิน ไม่รับทองและเงิน วางแก้วมณีและทองทิ้งเสียแล้ว เป็นผู้ปราศจากทองและเงิน ทองและเงินสมควรแก่ผู้ใด

แม้กามคุณทั้ง 5 ก็สมควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้ง 5 สมควรแก่ผู้ใด เธอจึงจําผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า ‘มีปกติไม่ใช่เชื้อสายพระศากยบุตร’ เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ต้องการหญ้า จึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้ จึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียน จึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษ จึงแสวงหาบุรุษ’ แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไรๆ ว่า ‘สมณะจึงยินดี ซึ่ง แสวงหาทองและเงินเลย’” (จุลวรรค 2/536)

การมีเงินทองอย่างเดียวก็เหมือนมีทุกอย่าง เพราะสามารถซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ พระยินดีเงินทอง ก็เท่ากับว่ายินดีในกามคุณ 5 เงินทองเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระเศร้าหมองไม่ผ่องใส พระพุทธองค์ตรัสเครื่องเศร้าหมองของพระจันทร์ พระอาทิตย์ และสมณพราหมณ์ไว้

เครื่องเศร้าหมองของพระจันทร์และพระอาทิตย์ 4 อย่าง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง มี 4 อย่าง คือ หมอก 1 น้ำค้าง 1 ละอองควัน 1 อสุรินทราหู 1 (จุลวรรค 2/532)

เครื่องเศร้าหมองของสมณะพราหมณ์ 4 อย่าง ที่ทำให้พระภิกษุ ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาไม่สง่างาม มี 4 อย่าง คือ การดื่มสุราเมรัย 1 การเสพเมถุนธรรม 1 การยินดีเงินทอง 1 การเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ 1 (จุลวรรค 2/533)

พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของเงินและทองไว้มาก พระภิกษุผู้รับเงินทองยินดีในเงินทอง จะไม่สง่างาม ไม่ผ่องใส มีแต่จะเศร้าหมอง เป็นทาสของกิเลสตัณหา ดุจเนื้อถูกความมืด ปกคลุมไว้ฉะนั้น บวชมาแล้วสมควรประพฤติวัตร ปฏิบัติธรรม แต่กลับต้องมาติดข้องอยู่กับเงินทองเหล่านี้ อันเป็นเหตุทำให้ภพ ชาติ ยืดยาวต่อไปอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก พระมหาชูศักดิ์ สทฺธมฺมาลงฺกาโร บรรณาธิการ. “การรับเงินและทอง” ใน, วินัยพระน่ารู้คู่มือโยม. วัดเขาสนามชัย ต. หนองแก อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ จัดพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 8, 2553.

ที่มา https://www.silpa-mag.com

Leave a Reply