และแล้วผู้บริหาร “มจร” ก็ได้ฤกษ์คลอด “ผู้จัดการ” รัฐวิสาหกิจ 3 แห่งของตนประกอบด้วย 1. ผู้จัดการโรงพิมพ์ 2.ผู้จัดการโรงแรม 92 หรือ อาคารรับรองอาคันตุกะหลวงพ่อปัญญานันทะ และ 3. มหาจุฬาบรรณาคาร สำหรับผู้จัดการมหาจุฬาบรรณาการตอนนี้ แม้จะยังไม่ประกาศผล แต่ต้นเดือนหน้าคาดว่ามาแน่
ที่ผ่านมา “การบริหารจัดการ” ทั้งบางแห่ง มีปัญหาสะสมเป็น “ดินพอกหางหมู”
“ผู้เขียน” เรียกร้องความโปร่งใสและการเอาคน “รุ่นใหม่” เข้ามาบริหารแทนมานาน ทั้งโรงพิมพ์ และอาคาร 92
สุดท้าย..ปูชนียบุคคลทั้ง 2 ก็จากไปด้วยดี
เพียงแต่..ทราบว่า “โรงพิมพ์ มจร ” มีคดีฟ้องร้องในศาลเป็นหนี้ก้อนโตหลัก 30 ล้าน คดีเป็นมาอย่างไร ใครจะต้องรับผิดชอบ “ผู้เขียน” จะไม่ลงรายละเอียด
“ผู้เขียน” ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “บอร์ดบริหารตึก 92” มาร่วม 1 ปี บอกตรง ๆ ว่า “อึดอัด” เหมือนถูก “ปิดปาก” อย่างไรไม่ทราบ ทุกครั้งเวลาเจอ “ประธานบอร์ด” หรือ “ทีมงาน” มักบอกเสมอ ๆ ว่า ขอให้เร่งตั้ง “ผู้จัดการ” คนใหม่ เพื่อจะได้ทำงาน
ซึ่งคนใหม่จะเป็น “เด็กใคร” สายตรงผู้ใดไม่ต้องพูดถึง ในฐานะศิษย์เก่า “รัฐศาสตร์” ทราบดีว่า “สังคมไทย” เป็น “สังคมอุปถัมภ์”
หน้าที่การงาน “จำเป็น” ต้องมีพรรคพวก “สนับสนุน” ทั้งนั้น
แต่ขอให้เน้น ความโปร่งใส บริหารตึก 92 ซึ่งเสมือน “หน้าต่างบานแรก” สำหรับคนมาพักซึ่งมีทั้งในประเทศและนานาชาติ ต้องทำ ให้มันสะอาด สบายตา โปร่งใส
เม็ดเงินเข้า มจร ปีละประมาณ 10 ล้านบาท ต้องจัดการให้เป็นระบบมิใช่ “ใช้บิลกระดาษเขียน” หรือ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ซึ่งเป็นร้านสวัสดิการ และเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร 92 สะแกนจ่าย แล้วเป็น “ชื่อบุคคล” แบบนี้ไม่ได้ ผู้จัดการคนใหม่ต้องไปจัดการ ทำให้เป็น “ระบบ” ตามระเบียบกฎเกณฑ์
รวมทั้ง “ผลตอบแทน” สวัสดิการ ขวัญกำลังใจบุคคลคนทำงานอาคาร 92 ด้วย อันนี้จำเป็น “ต้องมี”
วันนี้ทราบว่าผู้จัดการคนใหม่เป็น “ดร.บุญมี พรรษา” ตอนที่ท่านมาแสดงวิสัยทัศน์ดูท่าทางดีมีประสบการณ์เคยบริการ “รีสอร์ต” มาก่อนด้วย และซ้ำบอกกับ “บอร์ดบริหาร” ว่า จะใช้ระบบไอที เข้ามาควบคุมการรับ การจ่ายเงิน ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ข้างในหมด ต้องรอดูว่า “ท่าดี” ทีเลวหรือไม่
ส่วน โรงพิมพ์ ได้ “ดร.รัฐพล เย็นใจมา” ซึ่งโรงพิมพ์มีรายได้ปีละประมาณ 80-90 ล้านบาท แต่นำส่ง “มจร” หากจำไม่ผิดเพียงแค่ 1 ล้านบาท ตรงนี้ “ดร.รัฐพล เย็นใจมา” ต้องไปแก้ ทั้งเรื่องคดีที่ถูกหน่วยงานรัฐฟ้อง ทั้งทำอย่างไรความ เชื่อมั่นคณะสงฆ์ ชาว มจร จึงจะเชื่อมั่นว่าโรงพิมพ์เป็นของ “มจร” จริง ๆ ร่วมทั้งต้องบริหารด้วยความโปร่งใส รับงานแล้ว “ไม่ถ่ายเท” รวมทั้งนำเม็ดเงิน 20% ของรายได้เข้าสู่ มจร
ต้องสนองปณิธาน “หลวงพ่ออาจ อาสภมหาเถระ” ผู้ก่อตั้งให้ได้ ที่วาดฝันไว้ว่าจะเป็นโรงพิมพ์ให้มิใช่แค่ ชาว มจร เท่านัน แต่หลวงพ่ออาจมีปณิธานว่าโรงพิมพ์แห่งนี้จะเป็นของ “คณะสงฆ์มหานิกาย” ทั้งมวลด้วย
ไปตั้งต้น “ศึกษาปัญหา” ดูว่า ที่ผ่านมา ทำไม “ชาวมจร” ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค คณะสงฆ์ รวมทั้งคนนอก ไม่เข้ามาใช้บริการ สาเหตุมาจากอะไร!!
“ผู้เขียน” นอกจากเป็น “บอร์ดบริหารอาคาร 92” แล้ว ที่ประชุมยังมอบหมายให้ร่วมเป็น “คณะกรรมการประเมิน” ผลงานหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งด้วย
ซึ่งขอบอกตรงนี้ว่าหากจะใช้ “ผู้เขียน” ผู้เขียนจะยึดผลประโยชน์ มจร เป็นใหญ่ ไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น “หากไม่ใช้งาน” ก็ถอดออกไป..จบ
เพราะเข้าไปช่วย มีคนขอให้ช่วย พร้อมเบี้ยเลี้ยงติดมือประชุมครั้งละ 1 พันบาท อาหารฟรี 1 มื้อ
ความสัมพันธ์ส่วนตัวทั้งกับ “ผู้จัดการใหม่” หวังว่าพวกท่านในฐานะนักวิชาการ คงแยกออก ผลประโยชน์ส่วนร่วมกับ ความสัมพันธ์ส่วนตน..ใครสำคัญกว่ากัน
ที่ผ่านมา “สังคม มจร” ตั้งข้อสงสัยมาตลอดทั้งเรื่องความโปร่งใส่และเม็ดเงินเข้า “มจร”
ส่วน “มหาจุฬาบรรณาคาร” ตอนนี้ยังไม่ได้แต่งตั้งผู้จัดการคนใหม่ เพราะ “บอร์ดบริหาร” ไม่เคยประชุม เพียงแต่ทราบว่าผู้จัดการคนใหม่ น่าจะเป็น “ดร.ธัชชนันท์ อิศรเดช”
ที่ผ่านมาการบริหารจัดการ “มหาจุฬาบรรณาคาร” เงินเข้า เงินออก รายรับ รายจ่าย ส่งเข้า “มจร” เท่าไร ไม่เคยทราบ เพราะดูแล้ว “ยุคนี้” ไม่รุ่งเรือง เหมือนสมัยก่อน
แต่เมื่ออ่านระเบียบใหม่ “รัฐวิสาหกิจ” 3-4 แห่ง ใน มจร เคยบอกว่าน่าจะนำส่งเข้าส่วนกลาง สัก 35 % มิใช่แค่ 20% แต่คิดไปคิดมา “กำขี้ ดีกว่ากำตด”
ผู้จัดการวิสาหกิจทั้ง 3 ท่านถือว่าเป็น “เลือดใหม่” ของพวกเราชาว “มจร” หวังว่าการบริหารจัดการคง “ยึดเอา” ผลประโยชน์ “มจร” เป็นที่ตั้ง
และทั้ง 3 ท่านล้วนต้นสายมาจาก “คณะสังคมศาสตร์” ซึ่งเป็นที่ “จับตา”
อย่าทำให้สังคม “ชาว มจร “ สังคม “ศิษย์เก่า” รวมทั้ง “บิ๊กบราเธอร์” ผิดหวัง??
Leave a Reply