เรื่องน่าเศร้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาในจุฬาฯ

หลายคนไม่รู้ว่าประเทศไทยมี “หอพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทนิกาย” ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่เร็วๆนี้เกิดประเด็นที่น่าสนใจ มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องที่ตั้งหอพระไตรปิฏกนานาชาติ จุฬาฯ

เมื่อปี 2564 ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้น ได้ทำการปรับปรุงทั้งตึกอยู่ หอพระไตรปิฏกนานาชาติ ผ่านมาหลายปี หอพระไตรปิฎกนานาชาติถูกย้ายออกไปอยู่อีกฝั่งของอาคาร ห้องที่เก็บรักษามีขนาดเล็กมาก นั่งได้อย่างมาแค่คนเดียว และไม่มีความพยายามจัดแสดงพระไตรปิฎกที่ล้ำค่าเหล่านี้

เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ระบุว่า ได้เกิดเรื่องน่าเศร้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาในจุฬาฯ

เขาเล่าว่า “ในช่วง 10 เดือนที่ไปบวชเรียนที่วัดญาณเวศกวัน นครปฐม ได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนตามแนวทางหลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) และได้ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าต่อชีวิตมากมาย ระหว่างอยู่ที่นั่น มีหลายครั้งที่ได้ยินจากกัลยาณมิตร (ทั้งพระและฆราวาส) เล่าถึงสถานการณ์ของหอพระไตรปิฏกนานาชาติ จุฬาฯ อย่างเป็นห่วง ซึ่งในตอนนั้นปี พ.ศ. 2564 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ที่อยู่ใต้การดูแลของส่วนกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังทำการปรับปรุงทั้งตึกอยู่ หอพระไตรปิฏกนานาชาติ ซึ่งตั้งเด่นสง่าอยู่ที่นั่น ตั้งแต่ปี 2543 จึงต้องขนย้ายของออก เข้าใจว่าพระไตรปิฎกต่างๆก็ถูกเก็บยัดใส่กล่องลังไว้ ทั้งพระและฆราวาสที่รู้จักต่างกังวลว่าศูนย์จะไม่ได้กลับไปที่เดิมอีกแล้ว โดยที่ส่วนกลางจุฬาฯน่าจะเอาห้องไปทำ co-working space หรือห้องรับแขก ส่วนหอพระไตรปิฎกก็ให้เป็นเรื่องของทางคณะอักษรศาสตร์หาทางมาจัดการดูแลต่อไป ผมรับฟังแต่ก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะต้องรอตอนปรับปรุงเสร็จก่อนถึงจะพูดได้ว่าจริงหรือไม่”

กล่าวถึงความทรงจำกับหอพระไตรปิฎกนี้ ตั้งแต่ผมอยู่ปี 1 ก็เคยไปที่นี่ เพื่อร่วมฟังเสวนาหรือค้นหาข้อมูล มีกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นอยู่ตลอด ไม่เพียงนิสิตมาใช้เรียนรู้เกี่ยวกับพุทธธรรม อาจารย์นักวิชาการจากทั่วโลกหลายๆท่านเมื่อมาจุฬาฯ ก็จะมาที่นี่ เพราะถือว่าจะได้รู้จักพุทธศาสนาได้ดีขึ้น

ความพิเศษของหอไตรนี้คือ มีพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทนิกายที่สมบูรณ์ที่สุด ทุกภาษาในโลก ยิ่งหายากเป็นพิเศษคือ พระไตรปิฎกชุด พ.ศ.2436 (จำนวน 39 เล่ม สมัยรัชกาลที่5 ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกที่พิมพ์ครบเซ็ตครั้งแรกของโลก) ฉบับชุดสยามรัฐ พ.ศ.2473 (45 เล่ม สมัยร.7) และ ชุดแปลไทยสำเร็จครั้งแรก สมัยจอมพล ป. พ.ศ.2500 (ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จำนวน 80 เล่มชุด) นอกจากนี้ยังมีพระไตรปิฏกภาษาต่างๆ เช่น ฉบับไทโช จำนวน 100 เล่ม

เรียกว่า แทบไม่มีที่ไหนหรือก็มีน้อยแห่งที่จะรวบรวมรักษาพระไตรปิฎกได้มากเท่าที่นี่ เป็นแหล่งข้อมูลที่น่าอัศจรรย์ของจุฬาฯ และของประเทศไทย

ดังนั้นหลายๆคนที่เมื่อเห็นการปรับปรุงอาคารมหาจุฬาฯ โดยไม่มีห้องรองรับให้เก็บพระไตรปิฎกฉบับต่างๆอย่างให้คุณค่า จึงต้องถูกยัดลงกล่องลังอยู่อย่างนั้นเป็นเรื่องที่น่าใจหายและน่าผิดหวังอย่างยิ่ง

บัดนี้ ผ่านมาหลายปีจากวันนั้น อาคารมหาจุฬาฯก็ได้ปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว เดิมทีผมก็คิดว่าคำพยากรณ์ของกัลยาณมิตรเหล่านั้นคงไม่เป็นจริง แต่ก็อย่างที่เห็นในภาพล่าสุดซึ่งผมไปถ่ายรูปมาเอง หอพระไตรปิฎกนานาชาติถูกย้ายออกไปอยู่อีกฝั่งคืออาคารมหาวชิราวุธ ชั้นบนที่คณะอักษรดูแล โดยเป็นห้องเล็กๆ นั่งได้อย่างมากก็คนเดียว ไม่มีทางที่จะจัดแสดงพระไตรปิฎกที่ล้ำค่าเหล่านี้ได้ ไม่ต้องพูดถึงไว้ให้แขกผู้มีเกียรติทั้งหลายของจุฬาฯได้มาเยือน

ต้องสารภาพว่าตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าตนต้องเขียนเรื่องนี้ เพราะมีคนในจุฬาฯไม่น้อยไม่ชอบผม หากมีพระคุณเจ้าหลายรูปขอร้องให้ทำอะไรสักอย่าง ในฐานะที่ผมก็ผลักดันเรื่องต่างๆในจุฬาฯตลอด และสำนึกได้ว่า ตนก็เคยบวชเรียนจนเรียกได้ว่าเป็นทิดคนหนึ่ง เป็นพุทธบริษัทคนหนึ่ง ดังนั้น กิจการความเป็นไปของหอพระไตรปิฎกก็เป็นเรื่องที่พุทธบริษัทและนิสิตอย่าง ผมควรใส่ใจ เช่นเดียวกับเป็นเรื่องที่สมาชิกท่านอื่นๆในประชาคมจุฬาฯควรจะมาช่วยกันไม่ให้หอไตรนี้สิ้นสภาพไปอย่างน่าเสียดาย

แม้คนนับถือศาสนาอื่นๆหรือไม่นับถือศาสนาเลย ก็สามารถมองได้ว่านี่คือสมบัติของชาติ ของวัฒนธรรมไทยแต่เดิม เป็นความรู้ภูมิปัญญาอย่างเป็นระบบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ

การมีอยู่ของหอพระไตรปิฎกนานาชาติ ในสถานที่อย่างอาคารมหาจุฬาฯ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ใช้จัดงานสัมมนานานาชาติและไว้ให้แขกบ้านเมืองมาเยี่ยมชมนั้นถือว่าเหมาะสม และควรได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่ง

ดังนั้นผม จึงขอร้องไปยังผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการย้ายหอพระไตรปิฎกนานาชาตินี้ (เรื่องนีมาจากผู้บริหารชุดที่แล้ว) และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ในเมื่อปรับปรุงตึกมหาจุฬาฯเสร็จออกมาอย่างงดงามแล้ว หอพระไตรปิฏกนานาชาติก็ควรได้กลับไปในห้องที่เคยอยู่ ไม่ใช่อยู่ในห้องที่เล็กอย่างกับรังหนู เพื่อเป็นสถานที่ให้นิสิตมาศึกษา พุทธบริษัทได้มาเรียนรู้ และคนอื่นๆทั้งไทยและเทศได้เห็นภูมิปัญญาสำคัญของโลก ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเก็บรักษาอย่างดี

นั่นคือความเห็นที่มีเหตุผลที่น่ารับฟังจาก เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

หวังว่าผู้บริหารจุฬาฯ รุ่นใหม่ จะพยายามทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้

สำหรับหอพระไตรปิฎกนานาชาติ ประวัติ ก่อตั้งขึ้นจากกองทุนสนทนาธรรมนำสุข ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ได้มอบเป็นธรรมบรรณาการแก่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สำหรับจัดตั้งเป็นหอพระไตรปิฎกนานาชาติ เป็นแหล่งรวบรวมพระคัมภีร์พระไตรปิฎกที่บันทึกด้วยอักษรของชาติต่างๆ พร้อมด้วยพระคัมภีร์บริวารครบชุด และคัมภีร์หายากที่ทรงคุณค่า รวมทั้งหมดมากกว่า 2,000 เล่ม นับเป็นศูนย์กลางการค้นคว้าวิจัยด้านพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท และจัดกิจกรรมการบรรยายพิเศษ การสนทนา และการอภิปรายในหัวข้อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ.

ที่มา..https://www.matichonweekly.com/

Leave a Reply