พระรามัญมุนี (มะลิ ปณฺฑิโต) “องค์ปฐมอาจารย์ฝ่ายรามัญแห่งลุ่มน้ำปทุมธานี”

 

ขอกราบสวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่กระผมผู้เขียนจะได้มานำ “เสนอชีวประวัติเกียรติคุณของพระเถราจารย์รามัญ” รูปต่างๆให้ทุกท่านได้รับรู้รับทราบและศึกษาไปพร้อม ๆ กับพวกเราครับ เนื่องจากครั้งนี้เป็นการนำเสนอครั้งปฐมฤกษ์ วันนี้ขอเสนออัตถชีวะประวัติของพระเถราจารย์รามัญเมืองปทุมธานี พระมหาเถระฝ่ายรามัญผู้มีศีลาจริยวัตรงดงามตามแบบฉบับพระสงฆ์มอญ ผู้สร้างตำนานพระเครื่องเมืองปทุมธานีอันลือลั้น พระเถระมอญรูปนี้ก็คือ…

“พระรามัญมุนี  (มะลิ ปณฺฑิโต) เปรียญ ๔ รามัญ”    อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองปทุมธานี

อดีตเจ้าอาวาสวัดบางหลวง ตำบลบางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี”

   พระรามัญมุนี หรือ หลวงปู่มะลิ ปัณฑิโต ท่านมีนามเดิมว่า มะลิ นามสกุล วันทา  เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๙ ณ บ้านน้ำวน แขวงเมืองประทุมธานี (เรียกชื่อตามสมัยนั้น ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองของ ต.บางเดื่อ อ.เมือง จ.ปทุมธานี) โดยท่านเป็นบุตรของ โยมพ่อโด๊ด วันทา และโยมแม่มั่ง วันทา ท่านถือกำเนิดในครอบครัวชาวมอญบ้านน้ำวน บิดามารดาของท่านเป็นชาวมอญที่ฝักใฝ่ในการทำบุญเป็นอย่างมาก วิถีชีวิตของท่านจึงคลุกคลีอยู่กับวัด ประเพณีวิถีชีวิตแบบมอญมาตั้งแต่เด็ก

เมื่อท่านอายุได้ ๙ ปี บิดาได้พาท่านไปฝากเรียนหนังสือรามัญที่สำนักวัดน้ำวนรามสิทธิ์ แขวงเมืองประทุมธานี ได้ ๑ ปี ต่อมาบิดาจึงนำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์กับเจ้าอธิการหะเร่ทอ(พระอาจารย์สร้อยทอง) เจ้าอาวาสวัดบางหลวงใน ในขณะนั้น ท่านได้ศึกษาหนังสือมอญและหนังสือไทยที่วัดบางหลวงใน แขวงเมืองประทุมธานี จนอ่านออกเขียนคล่อง กระทั่งเมื่อท่านอายุได้ ๑๓ ขวบปี ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมฝ่ายรามัญ จนสอบไล่นักธรรม ชั้นตรี-โท-เอก ได้ตามลำดับ กระทั่งเมื่ออายุท่านได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๙ ณ พัทธสีมาวัดบางหลวงใน โดยมีเจ้าอธิการหะเร่ทอ(พระอาจารย์สร้อยทอง) เจ้าอาวาสวัดบางหลวง ในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ มี พระอาจารย์เบี้ย วัดบางหลวงนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมี พระอาจารย์กรุด วัดบางหลวงใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์  โดยท่านได้รับฉายาทางธรรมว่า “ปัณฑิโต” 

เมื่อท่านบวชเป็นพระแล้วนั้น ในพรรษที่ ๑-๓ ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมสายบาลีรามัญ จากสำนักพระธรรมสาธร ในพรรษาที่ ๔-๕ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำ สำนักวัดฉาง แขวงเมืองประทุมธานี และท่านยังได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมบาลีรามัญใน สำนักพระคุณวงศ์ (จู สิงโฆ) วัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรี เป็นเวลา ๓ เดือน จนท่านได้รับยกย่องจากพระผู้ใหญ่ และแต่งตั้งให้ท่านเป็น พระกรรมวาจาจารย์ ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักวัดบางหลวงใน กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น พระสมุห์ ฐานานุกรมใน พระธรรมไตรโลกาจารย์(อ่อน) วัดราชบพิตรฯ พระนคร เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เจ้าคณะมณฑลกรุงเทพ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ ท่านก็จึงได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดบางหลวงใน และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระปลัด ฐานานุกรมใน พระรามัญมุนี(สุด ญาณรังสี) เจ้าอาวาสวัดบางหลวงใน ในขณะนั้น ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๕  พระรามัญมุนี(สุทธิ์ ญาณรังษี) ได้ถึงกาลมรณะภาพลง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหลวงในสืบแทน 

 เมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางหลวง ในแล้วนั้น ท่านก็ยังฝักใฝ่ในการศึกษาเป็นอย่างมาก กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖ ท่านจึงได้เข้าสอบแปลบาลีธรรมสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระนคร จนสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๑ และ ๒ ประโยครามัญ และเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๘ ท่านก็ได้เข้าสอบแปลธรรมบาลีธรรมสนามหลวง ครั้งที่ ๒ จนสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ และ ๔ ประโยครามัญ  ซึ่งเป็นเปรียญขั้นสูงสุดของฝ่ายรามัญในขณะนั้น และท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนาธุระ อาคมเวทย์รามัญ จากพระอาจารย์รูปต่างๆที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นจนมีความชำนาญแตกฉานเป็นอย่างดี กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๔ ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ “พระครูนันทมุนี” ตลอดจนได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะแขวงอำเภอเมือง-ลาดหลุมแก้ว ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๕ ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระอุปัชฌาย์

ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางหลวงใน อยู่นั้น ท่านได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ ไว้ในวัดและสร้างให้กับสาธารณกุศลไว้เป็นอันมาก อาทิเช่น ได้ริเริ่มสร้างพระเจดีย์ทรงมอญ ๒ องค์ของวัดบางหลวง ปฏิสังขรโรงอุโบสถ ศาลาการเปรียญ สร้างสะพานข้ามคลองด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก และกุฏิสงฆ์ของวัดบางหลวง  ท่านยังได้ดำเนินการสร้าง พระเจดีย์ ณ วัดน้ำวน จ.ปทุมธานี และ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ท่านได้ชักชวนชาวบ้านร่วมกันสร้างวัดขึ้นทางทุ่งตะตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  โดยให้วัดนี้มีชื่อว่า วัดบ่อทอง  อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้ย้ายโรงเรียนประชาบาลวัดบางหลวง มาตั้งในพื้นที่ของวัดบางหลวงนอก แทน โดยให้นามโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนปทุมธานีนันทมุนีบำรุง เป็นต้น

หลวงปู่มะลิ ปัณฑิโต ท่านเป็นพระมหาเถระเชื้อสายรามัญ ที่ภูมิจิตอภิญญาขั้นสูง มีความรู้ทางด้านวิปัสสนาและพระวินัยอย่างแตกฉาน ว่ากันว่า…“เวลาท่านเดิน พื้นกระดานวัดท่านยังไม่สะเทือนเลย…” บ่งบอกได้ว่า ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดและสำรวมในอินทรีย์เป็นอย่างยิ่ง ในยุคของท่านจึงมีพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงจากวัดต่างๆมาเรียนวิชากับท่านเป็นจำนวนมาก ท่านจึงได้รับขนานนามให้เป็น “องค์ปฐมอาจารย์ฝ่ายรามัญแห่งลุ่มน้ำปทุมธานี” 

หลวงปู่มะลิ ปัณฑิโต ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระรามัญมุนี” เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ และท่านยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี อีกด้วย กระทั่งเมื่อมีประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองปทุมธานี

และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านได้มีอายุครบ ๘๐ ปี ทางคณะศิษยานุศิษย์ได้ขออนุญาตจัดงานทำบุญฉลองอายุให้กับท่าน พร้อมทั้งได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น นั่นคือ เหรียญรูปไข่รุ่นแรก (เหรียญ ๘๐ ล่าง) และในปลายปีเดียวกันก็ได้จัดสร้างเหรียญรูปไข่ขึ้นอีกครั้ง (เหรียญ ๘๐ บน)  เพื่อแจกแก่ลูกศิษย์ที่มาร่วมงาน

              พระรามัญมุนี(มะลิ ปัณฑิโต) ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้รักใคร่ในการศึกษาเป็นอย่างมาก ท่านจะชอบสงเคราะห์สนับสนุนศิษยานุศิษย์ให้ได้รับการศึกษา ทั้งฝ่ายทางโลกและทางธรรมโดยทั่วถึงกัน โดยท่านนั้นยังได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำสำนักวัดบางหลวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ โดยท่านได้นิมนต์ พระมหามังกร กัสสโป ป.ธ.๖ จากวัดชนะสงคราม(วัดตองปุ) กรุงเทพฯ ให้มาเป็นครูสอนประจำ  (พระมหามังกร รูปนี้ ในกาลต่อมาท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางหลวง สืบมา และได้รับสมณศักดิ์เป็น พระราชสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี)

พระรามัญมุนี หรือ หลวงปู่มะลิ ปัณฑิโต ท่านได้อาพาธลงด้วยโรคชรา โดยมีอาการไอกระเสาะกระแสะ บรรดาลูกศิษย์จึงได้เชิญแพทย์ทั้งแผนโบราณและแผนปัจจุบันมาทำการรักษาอยู่หลายเดือน แต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น กลับทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลา ๑๓.๐๕ น. พระรามัญมุนี หรือ หลวงปู่มะลิ ปัญฑิโต ท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ สิริรวมอายุได้ ๘๗ ปี พรรษา ๖๗ 

 

……………………..

 

คอลัมน์ :  แวดวงพระเครื่อง

ผู้เขียน  : ขุนแผน แดนรามัญ

 

ขอขอบพระคุณแหล่งข้อมูล

   -ทำเนียบพระราชาคณะจังหวัดปทุมธานี , สมุดบันทึกรายงานคณะสงฆ์อำเภอเมืองปทุมธานี 

  – ข้อมูลภาพโดย ขุนแผน แดนรามัญ , คุณเป้ ปทุม 

 –  ข้อมูลภาพวัตถุมงคลโดย ขุนแผน แดนรามัญ , คุณเก่ง รามัญ

Leave a Reply